xs
xsm
sm
md
lg

หวัดมรณะ!เอาไม่อยู่ทหารเรือดับแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – พิษหวัดมรณะยังแรงไม่หยุด คร่าชีวิตทหารเรือดับ 1 คน สธ.รับไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่มีปัจจัยเสี่ยงภาวะโรคอ้วน เนื่องจากมีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม ส่งผลทำให้การทำงานของปอดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ปากแข็งยืนยันมาตรฐานการรักษาของไทยอยู่ในระดับสากล ด้านทหารเรือแจงพลทหารป่วยแต่ไม่ยอมไปหาหมอพร้อมจับตาพลทหาร500 กว่าคนน้ำมูกไหล “มาร์ค”จี้เพิ่มประชาสัมพันธ์หลังไข้หวัด 2009 คร่าชีวิต 3 คนไทยเสียชีวิตติดต่อกัน

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีรายงานยืนยันผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย เป็นชาย อายุ 21 ปี สังกัดกรมยุทธศึกษาทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.และรายงานมายังสธ. ว่าเสียชีวิตเมื่อเวลา 08.45 น. ของวันที่ 29 มิ.ย.
สำหรับผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 วานนี้(29 มิ.ย.) พบเพิ่มอีก 41 ราย เป็นนักเรียน 29 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย อยู่ระหว่างติดตาม 8 ราย ยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 18 ราย เป็นผู้ป่วยที่อาการหนัก 1 ราย เป็นชายอายุ 47 ปี ไม่มีโรคประจำตัวแต่มีพฤติกรรมเสี่ยงทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ ล่าสุดมีอาการปอดบวม แต่ไข้ลดลงแล้ว ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจนในเลือดปกติ แต่อาการดีขึ้นแล้ว ขณะนี้มียอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 1,330 ราย หายป่วยแล้ว 1,309 ราย เสียชีวิต 3ราย
“หากที่ไหนมีเชื้อก็มีโอกาสที่จะเกิดได้ ไม่เกี่ยวกับสถานที่ อาการความรุนแรงของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับความต้านทานของผู้ป่วยแต่ละราย จะไม่เท่ากัน ในเรื่องการรักษา สธ.ยืนยันว่าได้ใช้ระบบการรักษาตามมาตรฐานสากล โดยแพทย์ทุกคนทำงานหนักและไม่ต้องการให้ใครเสียชีวิต จึงขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้ป่วยทั้ง 3 ราย”นพ.ปราชญ์ กล่าว

***แจงอ้วนเกินปัจจัยเสี่ยง
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิต รายที่ 3 มีน้ำหนักถึง 105 กิโลกรัม ซึ่งตามหลักการทางการแพทย์ พบว่า โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ภาวะการทำงานของปอดต่ำกว่าปกติ เหมือนคนเป็นโรคปอดเรื้อรัง เพราะคนอ้วนต้องใช้ออกซิเจนเลี้ยงร่างกายมากกว่าคนปกติ ทำให้ปอดทำงานหนัก
ส่วนปัจจัยสำคัญอีกประการคือการออกกำลังกาย หากมีการฝึกในช่วงที่เริ่มป่วยอาจทำให้ร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น ปอดทำงานหนักมากขึ้นทำให้อาการทรุด ซึ่งการรายงานอาการของผู้ป่วยรายดังกล่าวก่อนหน้านี้ว่ามีอาการดีขึ้นนั้น ในผู้ป่วยอาการหนักแพทย์จะต้องติดตามใกล้ชิดต่อเนื่องเป็นรายชั่วโมง ซึ่งอาจเกิดอาการทรุดลงได้ ทั้งนี้ หากรู้สึกไม่สบาย เริ่มมีไข้ ให้พักการออกกำลังกาย และพักผ่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
สำหรับขณะนี้อัตราผู้เสียชีวิตหลังป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของไทย ขณะนี้มีพันละ 2 คน หมายถึงป่วยทุก 1000 คนจะเสียชีวิต 2 คน ซึ่งยังต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา มีพันละ 4 คน หมายถึงในผู้ป่วยทุก 1,000 คนจะเสียชีวิต 4 คน
นพ.ทวี กล่าวต่อว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ยาที่ใช้ขณะนี้คือโอเซลทามิเวียร์ เป็นยาที่จะลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสในร่างกายให้ลดลง อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก มีข้อแนะนำการใช้ยาต้านไวรัสดังกล่าว โดยใช้ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น มีปัญหาปอดอักเสบ ไข้สูง ตลอด 2-3 วัน เหนื่อยหอบ เพลียมาก ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรง เช่น มีไข้ต่ำๆ ไอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาการจะทุเลาได้เอง แต่จะต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ คือไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายสร้างระบบภูมิต้านทานต่อเชื้อ โดยธรรมชาติ ให้งดสูบบุหรี่และงดเที่ยวกลางคืน งดดื่มสุรา แต่หากปฏิบัติแล้วไข้ยังสูง ภายใน 2-3 วันหลังป่วย หรือมีอาการไอมากขึ้น เหนื่อยหอบ เพลียมาก แสดงถึงอาจมีโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะปอดบวม ให้มาพบแพทย์ด่วน

**กรมการแพทย์ส่งทีมช่วย 24 ชั่วโมง
นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในการประชุมแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กรมการแพทย์ได้เตรียมความพร้อมในการจัดส่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญเวชบำบัดวิกฤต จากโรงพยาบาลราชวิถีกรมการแพทย์ สมาคมอุรเวชจ์แห่งประเทศไทย สมาคมเวชบำบัดวิกฤต ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญขึ้นบัญชีพร้อมที่จะเดินทางไปให้การสนับสนุนโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 นอนรักษาพยาบาลหาก เมื่อมีการร้องขอ เพื่อดูแลและช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะไม่ให้เกิดความประมาทหรือการผิดพลาดจากการรักษา รวมทั้งจะส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอบรมให้ความรู้กับแพทย์ในพื้นที่ต่างจังหวังด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานอย่างดี ก็ยังมีโอกาสเสียชีวิตได้
“อย่างกรณีของผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นชาย อาชีพวิศวกร มีการประสานมายังกรมการแพทย์ช้า กว่าที่ทีมแพทย์ผู้เชียวชาญจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยก็หยุดหายใจไปแล้วครั้งหนึ่ง แล้วจึงปั้มหัวใจช่วยชีวิต แต่ในที่สุดก็เสียชีวิตลง ขณะที่ผู้ป่วยหญิงวัย 57 ที่ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือเร็ว ขณะนี้อาการปลอดภัยดี และคาดว่าอีกไม่กี่วันจะกลับบ้านได้ ส่วนอาการของผู้ป่วยชายวัย 47 ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ทีมแพทย์ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ใกล้ชิด อาการล่าสุดเมื่อตอนเช้าทราบว่า ดีขึ้นแล้ว”นพ.เรวัติกล่าว
นพ.เรวัติกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความกังวลเนื่องจากผู้เสียชีวิตไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้ง 3 ราย ถือว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงจากที่มีการวิเคราะห์ว่า 70% ของผู้ที่เสียชีวิตเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่อยู่ในกลุ่มคนทั่วไป 30% ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หากติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และดูแลรักษาไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ เนื่องจากเป็นโรคใหม่จึงยังไม่มีองค์ความรู้ ดังนั้น ต้องหาข้อมูลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

**ทหารแจงเหตุเสียชีวิต
น.อ. นพดล ศุภากร ผู้บังคับการศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จ.ชลบุรี เปิดเผยถึง กล่าวถึงกรณีที่พลทหารศูนย์ฝึกทหารใหม่เสียชีวิตด้วยการติดเชื้อจากโรคไข้หวัด 2009 ว่า พลทหารณัฐพงษ์ ใฝ่ใจดี ทหารใหม่ผลัด 1 /52 ได้ป่วยเป็นไข้ตั้งแต่วันที่15 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่พลทหารคนดังกล่าวไม่ยอมไปหาหมอ จากนั้นเขาได้ยิงปืนในวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากยิงปืนเสร็จอาการของพลฯณัฐพงษ์ก็แย่ลง จนต้องมาหาหมอในวันที่19 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นได้นำตัวส่งโรงพยาบาลอาพากร จนเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสิริกิติ์ หลังเข้าตรวจที่ห้องไอซียู พบว่า พลฯณัฐพงษ์ ติดเชื้อในปอด ทางโรงพยาบาลสิริกิตต์จึงติดต่อแพทย์จากโรพยาบาลศิริราชให้มาช่วยรักษา ซึ่งเรื่องนี้ทางผบ.ทร.ได้สั่งการให้ดูแลเป็นพิเศษแต่ปรากฏว่า พลฯณัฐพงษ์ มีอาการติดเชื้อในปอดอย่างรุนแรงจนกระทั่งหัวใจเกิดล้มเหลวและเสียชีวิตเมื่อเวลา 08 .00 น.ของวันที่29 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“ขณะนี้พลทหารจำนวน500 กว่าคนมีอาการน้ำมูกไหล แต่ไม่มีไข้แล้วทางเราได้เฝ้าดูอาการอยู่ โดยได้กักบุคคลที่มีอาการไว้เป็นจำนวน 7 วัน เพราะไม่ต้องการให้ไปแพร่เชื้อ ซึ่งพลทหารทั้งหมดจำนวน 4,200 คน ไม่มีใครเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 เพียง แต่ขณะนี้แยกออกมาเพื่อเฝ้ารอดูอาการคาดว่า อีก 2 วันจะกลับมาฝึกใหม่ได้ ส่วนมาตรการป้องกันทางทีมแพทย์ รพ.สิริกิติ์ส่งแพทย์มาแนะนำวิธีการต่าง ๆ ในการป้องกันไข้หวัดสายพันธ์ใหม่ และแนะนำว่า เมื่อเกิดเป็นไข้ตัวร้อนทำอย่างไร โดยจะบรรยายในวันที่ 29 มิ.ย.2552 เวลา 19.00 น. ที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จ.ชลบุรี อย่างไรก็ตามพลทหารฯไม่ได้กลัวและเข้าใจ เพราะเป็นไข้ธรรมดา เพียงแต่พลฯณัฐพงษ์ ไม่ยอมบอกความจริงแค่บอกแต่เพียงว่า แข็งแรง ซึ่งทางแพทย์บอกว่าเป็น 1 ในหมื่นคนที่จะเสียชีวิต”น.อ.นพดล กล่าว

**“มาร์ค” จี้เพิ่มประชาสัมพันธ์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้กับประชาชนจะต้องทำหนักขึ้น โดยถ้าดูจากสถานการณ์จะเห็นว่า ขณะนี้เฉลี่ยคนที่ติดเพิ่มมากขึ้นประมาณวันละ 80-90 ราย การไล่ตามดูแลอาจจะไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการติดเชื้อที่ไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ หลายประเทศก็จะเจอปัญหาเดียวกัน และบางประเทศก็เลิกติดตามด้วยซ้ำ เพราะถือเป็นโรคธรรมดา อัตราการเสียชีวิตใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ธรรมดา.
กำลังโหลดความคิดเห็น