xs
xsm
sm
md
lg

สังเวยหวัด 09 อีกรายแล้ว! เป็นพลทหารสัตหีบ ยอดรวมตาย 3 สธ.ยังฟุ้งยอดตายต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานข่าวแจ้งว่า พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เสียชีวิตแล้วอีก 1 ราย เป็นพลทหารสังกัดกองทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นับเป็นรายที่ 3 โดยกระทรวงจะแถลงให้ทราบต่อไป ส่วนยอดป่วยเพิ่มวันนี้อีก 41 ราย ด้านกระทรวงหมอยัน มาตรฐานการรักษาของไทยอยู่ในระดับสากล เปรียบเทียบอัตราเสียชีวิตแล้ว ไทยยังต่ำกว่าโลก เสียชีวิตพันละ 2 คน ขณะที่โลกเสียชีวิตพันละ 4 คน

วันนี้ (29 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นพลทหารจากกองทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้มีอาการรุนแรง เลือดออกในช่องปอด ซึ่งการเสียชีวิตของพลทหารรายนี้นับเป็นการเสียชีวิตรายที่3 โดยกระทรวงจะแถลงรายละเอียดให้ทราบ ทั้งยังมีคำสั่งให้ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของพลทหารรายนี้ว่า เสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนหรือไม่ อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยอดผู้ป่วยเพิ่มในวันนี้มี 41 ราย รวมทั้งสิ้น 1,330 ราย หายแล้ว 1,309 ราย เหลือนอนโรงพยาบาลอีก 18 ราย

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตอีก 1 ราย เป็นชายอายุ 21 ปี เริ่มป่วยวันที่ 17 มิถุนายน 2552 เสียชีวิตในเช้าวันนี้ จัดเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 3 ของประเทศ ส่วนในรายละเอียดนั้น จะให้กองทัพเรือแถลงต่อสื่อมวลชนต่อไป โดยขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขจะส่งพวงหรีดไปเคารพศพและแสดงความเสียใจกับญาติ และศพวิศวกรที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้ด้วย

นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่เดือนเมษายน - 29 มิถุนายน 2552 ทั้งหมด 1,330 คน หายป่วยแล้ว 1,309 คน ขณะนี้ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 18 คน และในวันนี้ได้รับรายงานผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม 41 คน เป็นนักเรียน 29 ราย ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 คน อยู่ระหว่างติดตามรายละเอียด 8 คน ได้สั่งการกำชับให้กรมการแพทย์จัดประชุมเรื่องมาตรการการรักษาผู้ป่วยในบ่ายวันนี้และจะขอให้คณะแพทย์จากทบวงมหาวิทยาลัย และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต มาร่วมประชุม เพื่อจัดส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปให้การสนับสนุนโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 นอนรักษา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อาการความรุนแรงของป่วยหลังติดเชื้อไข้หวัด2009 ขึ้นอยู่กับความต้านทานของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งไม่เท่ากัน ในเรื่องการรักษานั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ระบบการดูแลตามมาตรฐานสากล ต้องขอชื่นชมและให้กำลังใจทีมแพทย์พยาบาลทุกคนได้ให้การดูแลผู้ป่วยทุกรายอย่างเต็มที่ ซึ่งทุกคนล้วนตั้งใจดูแลให้ผู้ป่วยหายป่วย ไม่มีใครอยากให้เสียชีวิต

ทางด้านรศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่า อัตราผู้เสียชีวิตหลังป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของไทย ขณะนี้มีพันละ 2 คน หมายถึงป่วยทุก 1000 คนจะเสียชีวิต 2 คน ซึ่งยังต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา มีพันละ 4 คน หมายถึงในผู้ป่วยทุก 1,000 คนจะเสียชีวิต 4 คน เมื่อประเมินสถานการณ์ทั่วโลก จากประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 109 ประเทศ จำนวนผู้ป่วย 59,814 คน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 263 คน ใน 13 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโกเสียชีวิต 116 คนจากผู้ป่วย 8,279 คน สหรัฐอเมริกา 87 คนจากผู้ป่วย 21,449 คน แคนาดา 19 คนจากผู้ป่วย 6,732 คน อาร์เจนตินา 21 รายจากผู้ป่วย 1,391 คน ชิลี 7 รายจากผู้ป่วย 5,186 คน ออสเตรเลีย 3 คนจากผู้ป่วย 3,280 คน โคลัมเบีย 2 คนจากผู้ป่วย 72 คน กัวเตมาลา 2 คนจากผู้ป่วย 254 คน อังกฤษ 1 คนจากผู้ป่วย 3597 คน ฮอนดูรัส 1 คนจากผู้ป่วย 118 คน ฟิลิปปินส์ 1 คนจากผู้ป่วย 445 คน คอสตาริกา 1 คนจากผู้ป่วย 222 คน และไทยเสียชีวิต 3 คนจากผู้ป่วย 1,330 คน

นพ.ทวี กล่าวต่อไปว่า โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ยาที่ใช้ขณะนี้คือโอเชลทามีเวียร์ เป็นยาที่จะลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสในร่างกายให้ลดลง อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก มีข้อแนะนำการใช้ยาต้านไวรัสดังกล่าว โดยใช้ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น มีปัญหาปอดอักเสบ ไข้สูง ตลอด 2-3 วัน เหนื่อยหอบ เพลียมาก ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรง เช่น มีไข้ต่ำๆ ไอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาการจะทุเลาได้เอง แต่จะต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ คือไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายสร้างระบบภูมิต้านทานต่อเชื้อ โดยธรรมชาติ ให้งดสูบบุหรี่และงดเที่ยวกลางคืน งดดื่มสุรา แต่หากปฏิบัติแล้วไข้ยังสูง ภายใน 2-3 วันหลังป่วย หรือมีอาการไอมากขึ้น เหนื่อยหอบ เพลียมาก แสดงถึงอาจมีโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะปอดบวม ให้มาพบแพทย์ด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น