xs
xsm
sm
md
lg

ศศิธาราไฟเขียวเขตพื้นที่จัดจ้างทัวร์เอง เอกชนหวั่นเปิดทางฮั้วประมูลเสียงบฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มาแปลก เปิดทาง ให้อำนาจเขตพื้นที่การศึกษาร่วมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ดำเนินการจัดจ้างบริษัทนำเที่ยวในโครงการพาเยาวชนท่องเที่ยวเอง แถมนำร่อง ประเดิมจัดทริปเที่ยวสุพรรณบุรี เอาใจนาย แต่อ้างอยู่ใกล้กรุงเทพฯ
ขณะที่ภาคเอกชนระบุจัดจ้างแบบนี้หวั่นเป็นช่องทางฮั้วประมูล

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการนำเที่ยวสำหรับเยาวชน ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ภายใต้วงเงินงบประมาณ 153 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ล่าสุด สรุปว่าให้เขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละจังหวัดรวม 184 เขตพื้นที่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด และ สำนักงานของการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทนำเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง หรือในจังหวัดใกล้เคียง มาจัดทริปเส้นทางนำเที่ยว โดยในวันที่ 17 ก.ค. 52 นี้จะเริ่มจัดทริปแรกนำเยาวชนไปเที่ยว จ.สุพรรณบุรี เพราะอยู่ใกล้ มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น อุทยานมังกร บึงฉวาง ศาลหลักเมือง และ ตลาดร้อยปี เป็นต้น

***เปิดทางเขตพื้นที่ฯจัดจ้างเอง*****
สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทนำเที่ยว ที่ให้แต่ละพื้นที่ไปกำหนดเกณฑ์การเปิดรับสมัครเอง ได้ตั้งงบประมาณให้เขตพื้นที่ละ 6-9 แสนบาท เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ 800 บาท สำหรับการไปเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ และ 1,200 บาท สำหรับ พักค้าง 1 คืน ส่วนโรงเรียนจะเป็นผู้คัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมโครงการ เริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมต้นขึ้นไป และอาชีวะศึกษา ส่วนผู้สูงอายุ สำนักงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ จะเป็นผู้คัดเลือก โครงการนี้จะคัดเลือกจังหวัดละ 2,000 คน กรุงเทพฯ 3,000 คน รวมตลอดโครงการ ก.ค.-ส.ค. 52 จะมีนักท่องเที่ยวจากโครงการนี้รวม 160,805 คน ส่วนเฟส 2 ปีหน้าขณะนี้อยู่ระหว่าง ยื่นของบประมาณ 200 ล้านบาทจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง

เงื่อนไขโครงการกำหนดไว้ 4 ประเด็น คือให้จัดการเดินทางโดยผ่านบริษัทนำเที่ยว ,ต้องใช้รถโค้ชเช่า ,ต้องนอนโรงแรม และ ต้องใช้บริการมัคคุเทศก์อาชีพ โดยทุกเขตพื้นที่การศึกษาต้องจัดทำคู่มือท่องเที่ยว หมวก กระเป๋า และ ธงนำกลุ่ม ที่ระบุข้อความ “ท่องเที่ยวรอบรู้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย แจกจ่ายให้แก่เยาวชนใช้ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวด้วย เส้นทางท่องเที่ยวให้เน้นตามเส้นทาง 14 คลัสเตอร์ ในรูปแบบทัศนศึกษา เช่น หาดทรายชายทะเล ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อุทยานแห่งชาติ วัด และโครงการพระราชดำหริ เป็นการนำเที่ยวภายในจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียงในกลุ่มคลัสเตอร์ และทุกเส้นทาง ต้องจัดกิจกรรมประกวด เช่น เรียงความ ภาพถ่าย วาดภาพ ร้อยกรอง เป็นต้น ชิงรางวัลเที่ยวฟรี กระทรวงฯยังจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินผลใน 3 ประเด็นหลัก คือ เยาวชนได้ความรู้แค่ไหน เกิดความสนุกสนานหรือไม่ และช่วยกระจายรายได้มาน้อยแค่ไหน คาดว่า 1 เดือนหลังเริ่มโครงการ
จะทราบผล

***หวั่นเปิดช่องทุจริตจัดทัวร์ไม่ได้มาตรฐาน****
น.ส.มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ(สทน.) กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดี แต่ทั้งนี้พฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวเยาวชน ผู้พิการ และผู้สูงอายุ จะแตกต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป อีกทั้งยังต้องการความดูแลระหว่างการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ จึงต้องใช้บริษัทนำเที่ยวที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูง ซึ่งไม่เข้าใจว่า ทำไมกระทรวงฯจึงปล่อยให้เป็นอำนาจของเขตพื้นที่ในการจัดจ้างบริษัทนำเที่ยว ซึ่งการที่มีองค์กรขนาดใหญ่ในระดับสมาคมถึง 4 สมาคม ได้แก่ สทน. และสมาคมนำเที่ยวไทย เป็นต้น เข้ามารับประกัน น่าจะให้ความมั่นใจได้มากกว่ากัน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงการท่องเที่ยวกล่าวว่า เดิมโครงการนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวได้หารือกับ 4 สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ทำทัวร์ภายในประเทศ โดยตกลงถึงขั้นรวบรวมรายชื่อบริษัททัวร์คุณภาพการรันตีโดยสมาคมท่องเที่ยว เพื่อรับงานในโครงการนี้ แต่มาสะดุดตรงที่ได้รับ จดหมายร้องเรียนจากผู้ประกอบการรายหนึ่งจาก จ.ตราด ว่ากระทรวงฯเลือกปฎิบัติ จึงทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาในการจัดจ้างเอง ซึ่งตรงนี้จึงเกิดความกังวลว่าหากไม่มีระบบการตรวจสอบที่รัดกุม จะเปิดช่องทางให้ทุจริตได้ และอาจทำให้คุณภาพของการจัดทัวร์ไม่มีมาตรฐานและไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริงเสียงบประมาณเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น