ASTVผู้จัดการรายวัน - เอกชนท่องเที่ยวโวยเงินกู้ SME ล่าช้าผ่านไปเกือบครึ่งปี ไม่คืบหน้า ผู้ประกอบการรอวันตาย จี้แบงก์เร่งชี้แจง ระบุตัวเลขที่อ้างปล่อยกู้แล้ว 586 ล้าน ยังไม่ได้แม้แต่บาทเดียว ประธานบอร์ด ททท.-ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯนั่งตาปริบ อ้างคงอยู่ระหว่างดำเนินการ พร้อมแจงเหตุสรรหาผู้ว่าการ ททท.คืบสิ้นเดือนเผยชื่อคณะ กก.สรรหา
นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เป็นผู้ปล่อยกู้นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้รับเงินกู้เลยแม้แต่รายเดียว ซึ่งขณะนี้ระยะเวลาล่วงเลยไปกว่า 4 เดือนแล้ว หากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไปเชื่อว่าต้องมีผู้ประกอบการต้องปิดตัวลงอย่างแน่นอน
“ผมอยากถามว่าเกิดอะไรขึ้น วงเงินกู้แค่รายละ 5 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการยังมีปัญหา แม้กระทรวงการท่องเที่ยว และ ททท. จะช่วยผลักดันแล้วก็ตาม แต่ปัญหาก็ยังติดที่ธนาคารยังไม่ปล่อยเงินกู้ออกมา ผมสงสารผู้ประกอบการกลุ่มนี้มาก ซึ่งเมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้ก็คงยากที่จะมองไปถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ขณะนี้ก็ย่ำแย่สุดจะทนแล้ว”
ขณะที่นายจุมพล ชฎาวัฒน์ กรรมการ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า มีข้อมูลจาก เอสเอ็มอี ระบุว่า มีภาคเอกชนท่องเที่ยวยื่นขอเข้าร่วมโครงการเงินกู้ดังกล่าว 705 ราย รวมวงเงินขอกู้ 1,704 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับการอนุมัติแล้ว 275 ราย รวมวงเงิน 586.9 ล้านบาท แต่เมื่อสอบถามไปยังสมาชิก กลับได้รับคำตอบว่ายังไม่มีผู้ใดได้รับเงินกู้ดังกล่าวเลยแม้แต่รายเดียว จึงต้องการถามผ่านกระทรวงการท่องเที่ยวฯว่า จริงๆแล้ว การพิจารณาอนุมัติปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ติดปัญหาใดบ้าง และต้องการเอกสารข้อมูลอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ สมาคมฯยินดีที่จะเป็นผู้ประสานงาน และอำนวยความสะดวกให้ทั้งสิ้น
“ที่ผ่านมา เมื่อสมาคมยื่นเรื่องไปยังเอสเอ็มอีแบงก์แล้ว ธนาคารก็จะติดต่อกับลูกค้าเอง แต่เท่าที่ทราบ ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากธนาคาร จึงอยากทราบปัญหาข้อติดขัด เพราะไม่อยากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปถึงหมดระยะเวลาโครงการคือวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ซึ่งอาจจะสายเกินแก้ไข ทุกวันนี้ผู้ประกอบการต้องไปวิ่งหาเงินกู้นอกระบบมาเสริมสภาพคล่องเพราะรอที่จะได้เงินกู้มาเกือบ 9 เดือนแล้ว ตั้งแต่ปิดสนามบินภูเก็ต”
ด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เข้าใจว่าขณะนี้เอสเอ็มอีแบงก์คงอยู่ระหว่างการดำเนินการปล่อยเงินให้แก่ภาคเอกชนตามที่ระบุในรายงานว่ามีการอนุมัติแล้ว 275 ราย รวมวงเงิน 586.9 ล้านบาท คาดว่าคงใช้ระยะเวลาอีกสักระยะ เงินก็จะทยอยเข้าสู่ระบบ
***สรรหาผู้ว่า ททท.ฯเจอขวากหนาม
นอกจากนั้น ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวยังกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ว่าขณะนี้ได้เลือกกรรมการสรรหาที่จะเข้ามาร่วมทำงานได้แล้ว รวม 4 ท่าน มาจากบอร์ดททท.และจากภาคเอกชน ซึ่งจะเปิดเผยรายชื่อในการประชุมบอร์ดททท.ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยกระบวนการสรรหาจะเร่งให้เร็วที่สุด แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด
ทางด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานบอร์ด ททท. กล่าวว่า การประชุมบอร์ดททท.ครั้งล่าสุด ได้มีมติชัดเจนว่า ให้ดำเนินการกระบวนการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการททท.ได้ทันที่ โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยตีความของกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ต้องระบุในร่างทีโออาร์ให้ผู้สมัครได้รับทราบทุกคนว่า หากคำตัดสินของกฤษฎีกาชี้ขาดว่าเป็นเช่นใดต้องยอมรับได้และพร้อมปฎิบัติตาม
ที่ผ่านมา บอร์ดททท.ไม่ได้นิ่งเฉยกับการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการททท.แต่เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้เสนอให้ยื่นกฤษฎีกาช่วยตีความชี้ขาดว่า ททท.เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทใด และ ตำแหน่งผู้ว่าการจะมาจากการสรรหา หรือการแต่งตั้ง
“จากการเช็คข้อมูลไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. พบว่า ททท.จัดอยู่ในหมวดรัฐวิสาหกิจเพื่อการส่งเสริม เช่นเดียวกันกับองค์การสงเคราะห์สวนยาง จึงไม่จำเป็นต้องสรรหาผู้ว่าการ แต่ใช้ระบบแต่งตั้งแทน ดังนั้นคำร้องขอของสหภาพจึงมีน้ำหนักที่น่าจะเป็นไปได้”
อย่างไรก็ตามคงต้องรอว่ากฤษฎีกาจะชี้ขาดเช่นใด ก็ยินดีปฎิบัติตาม เพราะหากตำแหน่งผู้ว่าการ มาจากการแต่งตั้งคนภายในองค์กร ค่าตอบแทนก็จะได้เพิ่มจากพนักงานประจำเพียงขั้นเดียว แต่ในส่วนของผู้ว่าการ ททท. 2 ท่านที่ผ่านมา ที่มาจากการสรรหานั้นก็ต้องมาตีความอีกครั้งว่าจะมีผลย้อนหลังหรือไม่อย่างไร.
นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เป็นผู้ปล่อยกู้นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้รับเงินกู้เลยแม้แต่รายเดียว ซึ่งขณะนี้ระยะเวลาล่วงเลยไปกว่า 4 เดือนแล้ว หากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไปเชื่อว่าต้องมีผู้ประกอบการต้องปิดตัวลงอย่างแน่นอน
“ผมอยากถามว่าเกิดอะไรขึ้น วงเงินกู้แค่รายละ 5 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการยังมีปัญหา แม้กระทรวงการท่องเที่ยว และ ททท. จะช่วยผลักดันแล้วก็ตาม แต่ปัญหาก็ยังติดที่ธนาคารยังไม่ปล่อยเงินกู้ออกมา ผมสงสารผู้ประกอบการกลุ่มนี้มาก ซึ่งเมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้ก็คงยากที่จะมองไปถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ขณะนี้ก็ย่ำแย่สุดจะทนแล้ว”
ขณะที่นายจุมพล ชฎาวัฒน์ กรรมการ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า มีข้อมูลจาก เอสเอ็มอี ระบุว่า มีภาคเอกชนท่องเที่ยวยื่นขอเข้าร่วมโครงการเงินกู้ดังกล่าว 705 ราย รวมวงเงินขอกู้ 1,704 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับการอนุมัติแล้ว 275 ราย รวมวงเงิน 586.9 ล้านบาท แต่เมื่อสอบถามไปยังสมาชิก กลับได้รับคำตอบว่ายังไม่มีผู้ใดได้รับเงินกู้ดังกล่าวเลยแม้แต่รายเดียว จึงต้องการถามผ่านกระทรวงการท่องเที่ยวฯว่า จริงๆแล้ว การพิจารณาอนุมัติปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ติดปัญหาใดบ้าง และต้องการเอกสารข้อมูลอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ สมาคมฯยินดีที่จะเป็นผู้ประสานงาน และอำนวยความสะดวกให้ทั้งสิ้น
“ที่ผ่านมา เมื่อสมาคมยื่นเรื่องไปยังเอสเอ็มอีแบงก์แล้ว ธนาคารก็จะติดต่อกับลูกค้าเอง แต่เท่าที่ทราบ ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากธนาคาร จึงอยากทราบปัญหาข้อติดขัด เพราะไม่อยากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปถึงหมดระยะเวลาโครงการคือวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ซึ่งอาจจะสายเกินแก้ไข ทุกวันนี้ผู้ประกอบการต้องไปวิ่งหาเงินกู้นอกระบบมาเสริมสภาพคล่องเพราะรอที่จะได้เงินกู้มาเกือบ 9 เดือนแล้ว ตั้งแต่ปิดสนามบินภูเก็ต”
ด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เข้าใจว่าขณะนี้เอสเอ็มอีแบงก์คงอยู่ระหว่างการดำเนินการปล่อยเงินให้แก่ภาคเอกชนตามที่ระบุในรายงานว่ามีการอนุมัติแล้ว 275 ราย รวมวงเงิน 586.9 ล้านบาท คาดว่าคงใช้ระยะเวลาอีกสักระยะ เงินก็จะทยอยเข้าสู่ระบบ
***สรรหาผู้ว่า ททท.ฯเจอขวากหนาม
นอกจากนั้น ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวยังกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ว่าขณะนี้ได้เลือกกรรมการสรรหาที่จะเข้ามาร่วมทำงานได้แล้ว รวม 4 ท่าน มาจากบอร์ดททท.และจากภาคเอกชน ซึ่งจะเปิดเผยรายชื่อในการประชุมบอร์ดททท.ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยกระบวนการสรรหาจะเร่งให้เร็วที่สุด แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด
ทางด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานบอร์ด ททท. กล่าวว่า การประชุมบอร์ดททท.ครั้งล่าสุด ได้มีมติชัดเจนว่า ให้ดำเนินการกระบวนการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการททท.ได้ทันที่ โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยตีความของกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ต้องระบุในร่างทีโออาร์ให้ผู้สมัครได้รับทราบทุกคนว่า หากคำตัดสินของกฤษฎีกาชี้ขาดว่าเป็นเช่นใดต้องยอมรับได้และพร้อมปฎิบัติตาม
ที่ผ่านมา บอร์ดททท.ไม่ได้นิ่งเฉยกับการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการททท.แต่เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้เสนอให้ยื่นกฤษฎีกาช่วยตีความชี้ขาดว่า ททท.เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทใด และ ตำแหน่งผู้ว่าการจะมาจากการสรรหา หรือการแต่งตั้ง
“จากการเช็คข้อมูลไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. พบว่า ททท.จัดอยู่ในหมวดรัฐวิสาหกิจเพื่อการส่งเสริม เช่นเดียวกันกับองค์การสงเคราะห์สวนยาง จึงไม่จำเป็นต้องสรรหาผู้ว่าการ แต่ใช้ระบบแต่งตั้งแทน ดังนั้นคำร้องขอของสหภาพจึงมีน้ำหนักที่น่าจะเป็นไปได้”
อย่างไรก็ตามคงต้องรอว่ากฤษฎีกาจะชี้ขาดเช่นใด ก็ยินดีปฎิบัติตาม เพราะหากตำแหน่งผู้ว่าการ มาจากการแต่งตั้งคนภายในองค์กร ค่าตอบแทนก็จะได้เพิ่มจากพนักงานประจำเพียงขั้นเดียว แต่ในส่วนของผู้ว่าการ ททท. 2 ท่านที่ผ่านมา ที่มาจากการสรรหานั้นก็ต้องมาตีความอีกครั้งว่าจะมีผลย้อนหลังหรือไม่อย่างไร.