อดีตกรรมการบริษัท ภัคธรรศ ป้อง “คำนูณ” ไม่รู้เรื่องหนี้สินที่เป็นมีผู้มาร้องเรียนมาก่อน เนื่องจากเป็นหนี้ที่ติดพันมาจากการควบรวมบริษัท และเป็นหนี้นิติบุคคล ด้านเจ้าตัวยืนยันเช่นเดียวกัน ว่า ไม่รู้จักกับผู้ร้องเรียน ไม่เคยขึ้นศาล เพราะเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับบริษัท ภัคธรรศ ที่เป็นนิติบุคคล และหลังจากลาออกก็มีการทำงานเป็นหลักแหล่ง เปิดเผย ไม่ได้หนี ไม่ได้มีพฤติกรรมไม่สุจริตตามที่ถูกกล่าวหา ด้านโฆษก กก.สรรหา ส.ว. เผยรู้ข้อมูลแล้ว ชี้ต้องให้ความเป็นธรรม เนื่องจากรายชื่อเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารจึงถูกเหมารวมการฟ้องร้องไปด้วย
ตามที่ น.ส.รุ่งกานต์ อนาศาสตร์ หุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพฟิล์ม โพรเซส เดินทางไปร้องเรียนต่อสื่อมวลชนประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ประเภทสรรหา ภาควิชาการ ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาตามประกาศ กกต. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 มีคุณสมบัติไม่เหมาะที่จะเป็น ส.ว.เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่สุจริต เพราะบริษัท ภัคธรรศ จำกัด ที่ นายคำนูณ เป็นกรรมการ ไม่จ่ายหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งวันที่ 3 กรกฎาคม 2545 จำนวน 504,933 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 และได้แสดงความสงสัยว่าเรื่องนี้ตนได้มาร้องเรียนต่อ กกต.ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 แล้ว แต่เหตุใด กกต.ไม่พิจารณา ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับนั้น
นายคำนูณ ได้ชี้แจงกับ “ผู้จัดการออนไลน์” ว่า เป็นเรื่องที่จงใจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตน ก่อนอื่น ตนไม่เคยรู้จัก น.ส.รุ่งกานต์ เป็นการส่วนตัว ไม่เคยพบปะ พูดคุย หรือเจรจาความในลักษณะใดๆ กันมาก่อน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม จริงอยู่ตนเคยทำงานและเป็นกรรมการคนหนึ่งในบริษัท ภัคธรรศ จำกัด จริง แต่ได้ลาออกมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 กลับมาทำงานอยู่กับเครือบริษัทผู้จัดการ เป็นบรรณาธิการอาวุโส รวมทั้งจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ และได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ภัคธรรศ จำกัด อย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมกราคม 2546 หุ้นที่มีจำนวนหนึ่งก็ได้โอนให้กับกรรมการที่เข้ามารับช่วงต่อไป
“คดีความที่เกิดขึ้นผมไม่ทราบรายละเอียด ไม่เคยขึ้นศาล ไม่เคยทราบว่ามีคำพิพากษาอย่างไร เพราะเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับนิติบุคคลชื่อบริษัท ภัคธรรศ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ดำเนินการไปตามปกติธุรกิจ และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ผมกำลังจะลาออก และการลาออกมาเป็นการกระทำโดยเปิดเผย ไม่ได้หนี ไม่ได้มีพฤติกรรมไม่สุจริต เพราะหลังจากนั้น บริษัทภัคธรรศ ยังคงมีคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามารับช่วง โดยเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีหลักแหล่ง นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับบริษัทภัคธรรศเป็นอย่างไรต่อไป ไม่เคยติดตาม และผมเองเมื่อออกมาแล้วก็มีงานใหม่เป็นหลักแหล่ง เปิดเผย และมีคนรู้จักทั่วไป ทั้งจากการเขียนหนังสือ การจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ รวมทั้งการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2549”
นายคำนูณ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงปี 2541-2545 ได้เข้าไปร่วมงานกับ นายภูษณ ปรีย์มาโนช อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ชุดสุดท้าย ขณะนั้น นายภูษณ มีเจตนารมณ์ที่จะทำงานเพื่อสังคมในหลากหลายรูปแบบ อาทิ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน, สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) นายภูษณ ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งบริษัท ภัคธรรศ จำกัด ขึ้นมาด้วย เพื่อดำเนินกิจการด้านสื่อสิ่งพิมพ์
“ผมเองเป็นกรรมการ ISEP และกรรมการบริษัท ภัคธรรศ โดยดูแลงานวิชาการของสถาบัน และการจัดพิมพ์หนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ในช่วงปี 2543 นายภูษณ ประสบปัญหาส่วนตัวอย่างกะทันหัน ทำให้กิจการต่างๆ เริ่มไม่ราบรื่น แต่ก็พยายามที่จะแก้ปัญหาเป็นลำดับมา จนกระทั่งในอีก 1 ปีต่อมา มีความเห็นร่วมกันว่าจะค่อยๆ ยุติงานบางด้านลง ผมเห็นว่า อยู่ต่อไปก็ทำอะไรไม่ได้ ประกอบกับอยากกลับมาทำงานวิชาชีพเดิม คือ เขียนหนังสือ และจัดรายการวิทยุ จึงเริ่มกลับมาที่กลุ่มบริษัทผู้จัดการ ตั้งแต่ปี 2545”
นายคำนูณ กล่าวว่า ผู้ที่เข้าไปรับหน้าที่เป็นกรรมการบริษัท ภัคธรรศ จำกัด แทนตน ตั้งแต่ต้นปี 2546 ก็คือ นายไพศาล มังกรไชยา สื่อมวลชนอาวุโส อดีตบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุคลื่น อสมท FM 96.5 Megahertz
ต่อกรณีนี้ นายไพศาล มังกรไชยา ผู้ดำเนินรายการวิทยุคลื่น อสมท FM 96.5 Megahertz ซึ่งเข้าเป็นกรรมการบริษัท ภัคธรรศ ภายหลังจากที่ นายคำนูณ ลาออก กล่าวกับ “ผู้จัดการออนไลน์” ว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท ภัคธรรศ ที่ดำเนินธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์ ในนามของสำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน ดำเนินกิจการมาด้วยดี แต่ต่อมาบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจด้านโรงพิมพ์ได้ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันจึงได้ควบรวมบริษัทเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง ทำให้บริษัทต้องรับผิดชอบในส่วนหนี้สินที่ตามมาด้วย และมาทราบภายหลัง ว่า บริษัทที่เข้ามาควบรวมมีหนี้สินมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ โดยที่ตนและนายคำนูณไม่เคยรู้เรื่องหนี้สินก้อนนี้ และรู้จักกับเจ้าหนี้กลุ่มนี้มาก่อน
“หลังจากบริษัทมีปัญหาพนักงาน ส่วนใหญ่ได้ลาออก รวมถึงคุณคำนูณด้วย ส่วนการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัทเข้าใจว่า ในช่วงนั้นอาจเกิดปัญหาคาราคาซัง หรืออยู่ในช่วงที่กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกรรมการบริษัท ทำให้ คุณคำนูณ ซึ่งมีรายชื่อเป็นกรรมการบริษัทอาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องรวมไปด้วย” นายไพศาล กล่าว และยืนยันว่า นายคำนูณ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจของบริษัท แต่มีหน้าที่ดูแลในเรื่องเนื้อหาเป็นส่วนใหญ่ และถือหุ้นในบริษัทไม่กี่หุ้น ทั้งนี้ น่าจะเป็นการให้ถือหุ้นเพื่อสามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทเท่านั้น และทั้งตนและนายคำนูณก็ไม่เคยได้รับหมายศาลในคดีนี้แต่อย่างใด
“ผมยืนยันว่า คุณคำนูณ ไม่เคยรู้เรื่องหนี้สินและการฟ้องร้องเพื่อเรียกคืนหนี้สิน จนกระทั่งมีผู้มาร้องดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ที่ผูกพันมากับการควบรวมบริษัท และในแง่กฎหมายแล้วคุณคำนูณไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นหนี้นิติบุคคล”
อย่างไรก็ตามนายคำนูณ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่ากรณีนี้มีเบื้องหลังหรือไม่อย่างไร ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณเอง
กก.สรรหาฯ รู้ข้อมูล 'คำนูณ' แล้วชี้ต้องให้ความเป็นธรรม
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ออกมาร้องคัดค้านนายคำนูณ โดยกล่าวหาว่าเบี้ยวค่าพิมพ์แบบว่า ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัตินั้นก็ได้ข้อมูลเรื่องนี้เข้ามาเช่นกัน และทางคณะอนุกรรมการฯ ก็ได้แนบข้อมูลคดีทางแพ่งนี้ให้คณะกรรมการสรรหาฯพิจารณา ซึ่งกรรมการสรรหาก็ได้ใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบข้อมูลอย่างถ้วนถี่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความเป็นธรรมกับนายคำนูณเพราะคดีแพ่งบางคดีบุคคลที่ถูกฟ้องร้องก็ไม่ได้มีความผิดเสมอไปเนื่องจากรายชื่อนายคำนูณเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารจึงถูกเหมารวมการฟ้องร้องไปด้วย
"การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ว่าคดีแพ่งหรือคดีอาญา บางครั้งก็ไม่ใช่คนเลวเสมอไป เพราะที่นายคำนูณเป็นสื่อมวลชนบางครั้งก็อาจถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทได้ ดังนั้น ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ และเรื่องนี้นายคำนูณก็ออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น ก็ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป" นายสุทธิพลกล่าว