xs
xsm
sm
md
lg

มาเลย์ถูกUSขึ้นบัญชีดำปท.ค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี - กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในรายงาน "การค้ามนุษย์" ประจำปี ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (16) ว่า วิกฤตการเงินโลกทำให้มีคนอีกมากเสี่ยงที่จะเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ โดยในปีนี้ได้เพิ่มรายชื่อประเทศในแอฟริกา 6 ประเทศในบัญชีดำประเทศที่มีการค้ามนุษย์ และจัดมาเลเซียกลับเข้ามาอยู่ในแบล็กลิสต์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
รายงานดังกล่าวได้ติดตามศึกษาเรื่อง "การค้าทาสสมัยใหม่" เช่น การบังคับค้าแรงงานและการค้าประเวณี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าภาวะความยากจนที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกส่งผลให้การค้ามนุษย์เพิ่มสูงขึ้นทั้งในด้านของอุปทานและอุปสงค์
"ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้คนที่มีความเครียดสูงมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของการล่อลวงของพวกนักค้ามนุษย์ เพราะคนพวกนี้มักให้สัญญาว่าเหยื่อจะมีชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม มีรายได้สูงกว่าเดิม" หลุยส์ เดอ บากา กล่าวนำเสนอรายงานดังกล่าว
เดอ บากา กล่าวว่าการค้ามนุษย์นั้นมีมูลค่าสูงถึงราว 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นส่วนกำไรของพวกนักค้ามนุษย์ถึง 31,000 ล้านดอลลาร์ กับอีกราว 20,000 ล้านดอลลลาร์ เป็นค่าเสียโอกาสจากการสูญเสียแรงงานที่ถูกดึงเข้าไปอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ หาทางกำจัดการค้ามนุษย์รูปแบบต่างๆ โดยในจดหมายที่เธอเขียนเป็นคำนำของรายงานดังกล่าวก็ระบุว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนในปีนี้
ในรายงานปีนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุรายชื่อประเทศที่เชื่อว่ายังไม่ได้ดำเนินการหยุดยั้งปัญหาการค้ามนุษย์เท่าที่ควร เป็น 17 ประเทศ จากจำนวน 175 ประเทศที่เฝ้าจับตาดู โดย 17 ชาติเหล่านี้อาจเผชิญมาตรการบลงโทษ เป็นต้นว่า การระงับความช่วยเหลือของสหรัฐฯในรายการที่ไม่ใช่ด้านมนุษยธรรมและไม่เกี่ยวกับการค้า
ทั้งนี้ 17 ประเทศดังล่าวมีที่เพิ่มใหม่ในปีนี้ คือ ชาด, เอริเทรีย, มาเลเซีย ไนเจอร์ มอริตาเนีย, สวาซิแลนด์, และซิมบับเว ขณะที่พวกที่ยังติดอยู่ในบัญชีดำอีกปีได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, คิวบา, ฟิจิ, อิหร่าน, พม่า, เกาหลีเหนือ, ปาปัวนิวกินี, ซูดาน, และซีเรีย
ปีที่แล้วมาเลเซียถูกถอดออกจากบัญชีดำมาอยู่ในบัญชีที่ต้องเฝ้าจับตาดู ทว่ารายงานปีนี้ระบุว่า มาเลเซียไม่เพียงล้มเหลวในแง่การปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำด้านการกำจัดการค้ามนุษย์ แต่ยัง "ไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหานี้"
รายงานใหม่ล่าสุดนี้บอกว่า ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียได้ดำเนินมาตรการแต่เนิ่นๆ เพื่อต่อสู้กับการบังคับค้าประเวณี แต่ยังไม่ได้ต่อสู้กับการบังคับค้าแรงงานอย่างเต็มที่
นอกจากนั้น รายงานบอกว่า มี "ข้อกล่าวอันน่าเชื่อถือ" รวมทั้งที่ปรากฏในรายงานของวุฒิสภาปีนี้ ซึ่งกล่าวว่าเจ้าหน้าตรวจคนเข้าเมืองบางรายมีส่วนในการค้ามนุษย์ และบังคับข่มขู่ผู้ลี้ภัยจากพม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น