เอเอฟพี – ข่าวเจ้าของร้านขายสินค้าชาวจีนถูกรุมทำร้ายในปาปัวนิวกีนีเมื่อสัปดาห์ก่อน คือตัวอย่างล่าสุด บ่งชี้ว่า คราวใดที่เกิดเหตุจลาจลในชาติแถบหมู่เกาะแปซิฟิกแล้ว ธุรกิจของพวกพญามังกรจะตกเป็นเป้าถูกโจมตีเสมอ
เหตุการณ์เกิดขึ้นในกรุงพอร์ต มอเรสบี้ เริ่มจากการเดินขบวนต่อต้านชาวเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีน ที่เข้ามาแย่งการทำมาค้าขาย และลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจลในอีกหลายเมือง จนมีคนตายอย่างน้อย 2 คน
ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นรุ่นแรกเมื่อศตวรรษที่ 19 เวลานั้น ชีวิตยังคงสุขสบาย จนกระทั่งผู้อพยพรุ่นใหม่ไหลทะลักเข้ามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งบางคนเป็นพวกลักลอบเข้าเมือง ชาวจีนก็เลยกลายเป็นจุดรวมแห่งความไม่สงบทางการเมืองไป
เกรแฮม แฮสซอลล์ ศาสตราจารย์ด้านการปกครองของมหาวิทยาลัยเซาท์ แปซิฟิก ในกรุงซูวา ประเทศฟิจิระบุว่า พวกลักลอบเข้าเมือง และถูกกล่าวหาว่าให้สินบนเจ้าหน้าที่ ได้ช่วยเติมเชื้อไฟความระแวงสงสัยให้เกิดขึ้นในสังคม
“นอกจากนั้น ยังเกิดการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมขึ้น ธุรกิจของชาวจีนบางรายที่โดนทำร้าย เป็นพวกที่ไม่ยอมปรับตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมของท้องถิ่น” แฮสซอลล์ชี้
พ่อค้าชาวจีน ฐานะร่ำรวย เข้ามาเต็มไปหมด บางคนยังไร้น้ำใจกับลูกจ้างชาวพื้นเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้คนพื้นเมืองและคนยากจนรู้สึกว่า พวกตนถูกกีดกันออกจากสังคมของตัวเอง
“เป็นความรู้สึกร้อนใจ ไม่สบอารมณ์ เหมือนกับถูกทอดทิ้งจากรัฐบาล ที่ทำงานในลักษณะตีตัวออกหากจากประชาชนของตน” นายเมเคอร์ โมรัวตา ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของปาปัวนิวกีนี ให้ความเห็น
“รัฐบาลกำลังอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ไร้ทักษะ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคำ เข้ามาจับธุรกิจ ซึ่งควรเป็นของชาวปาปัวนิวกินีเท่านั้น”
เหตุจลาจลที่กรุงโฮเนียร่า, ประเทศหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อเดือนเมษายน 2549 ปะทุขึ้น หลังจากรัฐสภาแต่งตั้งให้นาย สไนเดอร์ รินิ ซึ่งไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ผู้ประท้วงจึงไม่รอช้า จากรัฐสภาตรงดิ่งไปยังไชน่าทาวน์ทันที ขว้างปาก้อนหิน จุดไฟเผา และปล้นร้านค้าของชาวจีนเกือบทั้งหมดที่นั่น รวมทั้งที่อื่น ๆ ในเมืองหลวง สาเหตุก็มาจากกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน ผู้เด่นดังในสังคม ถูกกล่าวหาว่า ให้เงินนายรินิ ไปติดสินบนส.ส. เพื่อสนับสนุนให้ได้เป็นนายกฯ
ที่ประเทศตองก้าในปีเดียวกัน การประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยไม่พ้นกลายเป็นเหตุจลาจล ธุรกิจของชาวจีน และที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ถูกปล้นและเผาตามระเบียบ ย่านศูนย์กลางธุรกิจกลายสภาพเป็นซากปรักหักพัง และมีผู้เสียชีวิต 8 คน
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์แฮสซอลล์ยังมองว่า สาเหตุการทำร้ายเจ้าของร้านชาวจีนน่าจะมาจากเรื่องของปากท้องมากกว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ
“ผู้คนในเมืองเดินผ่านร้านชาวจีน เห็นข้าวของที่อยากได้ แต่ไม่มีปัญญาซื้อ พอบ้านเมืองเกิดวุ่นวาย ก็เลยสบโอกาส”
“มันไม่ได้เป็นความรู้สึกต่อต้านชาวจีน เป็นแค่การปรากฏขึ้นของความยากจนข้นแค้นในเมืองเท่านั้น”
ศาสตราจารย์แฮสซอลล์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือชนเชื้อสายจีน ที่เข้ามาตั้งรกรากมายาวนาน มักกลายเป็นคนเด่นดัง ไม่เฉพาะในวงการธุรกิจ แต่รวมถึงวงการเมืองและอาชีพอื่น ๆ อีกด้วย เช่น เซอร์ จูเลียส ชาน อดีตนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี และประธานาธิบดี อาโนต ตง แห่งกิริบาติ
ด้านรอน โครคอมบ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยเซาท์ แปซิฟิก ระบุว่า ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับชาติในแถบหมู่เกาะแปซิกฟิก ที่เติบโตขึ้น มีแต่จะทำให้ชาวจีนเข้ามาสู่ประเทศแถบนี้กันมาก
ทั้งนี้ การหันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนก็เพื่อมุ่งให้ความสำคัญกับเอเชียมากกว่าเดิม แทนการพึ่งพาประเทศหุ้นส่วน ที่คบค้ามายาวนาน เช่นสหรัฐฯ, อังกฤษ, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์นั่นเอง