ในช่วงที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นและการส่งออกหดตัวนี้ มีการกล่าวถึงระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราหรือ 2 ตลาดกันบ้างตามหน้าหนังสือพิมพ์ ผมจึงขอใช้เนื้อที่ตรงนี้เล่าถึงประสบการณ์ของระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราที่ประเทศไทยของเราเองเคยใช้ในช่วงปี 2490-2497 เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว โดยเป็นการย้อนอดีตของระบบอัตราแลกเปลี่ยนไทยครับ
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะนำมาใช้ซื้อของเพื่อฟื้นฟูประเทศ แม้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนทางการขึ้นแต่ก็มีปัญหาการค้าขายเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด ในปี 2490 ประเทศไทยจึงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบหลายอัตรา โดยตลาดเงินตราต่างประเทศในไทยจะมี 2 ตลาด คือ 1) ตลาดทางการและ 2) ตลาดเสรี ซึ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมี 2 อัตราด้วย คือ 1) อัตราทางการ และ 2) อัตราตลาด อัตราทางการจะถูกกำหนดตามกฎหมายเงินตรา คือ 40 บาทต่อปอนด์สเตอร์ลิง และ 100 บาทต่อ 10.075 ดอลลาร์สรอ. เพื่อเอื้อต่อการนำเข้า ส่วนอัตราตลาดถูกกำหนดขึ้นตามภาวะอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศในขณะใดขณะหนึ่ง มีการกำหนดให้ผู้ส่งออกข้าว ยางพารา ดีบุก และไม้สัก นำรายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกมาขายให้ทางการในอัตราทางการ ส่วนรายได้จากการส่งออกอื่นๆให้ใช้อัตราตลาดได้ สำหรับการนำเข้าทางการจะขายเงินตราต่างประเทศให้ในอัตราทางการเพื่อการนำเข้าเฉพาะสินค้าที่จำเป็นของประชาชนเท่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวค่าเงินบาทในอัตราทางการจะมีค่าแข็งกว่าอัตราตลาด
ซึ่งในช่วงแรกของการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบหลายอัตรานี้ ฐานะด้านต่างประเทศของไทยยังสามารถเกินดุลอยู่ได้จากการที่โลกขาดแคลนสินค้าหลังสงครามและสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกหลักๆก็เป็นสินค้าจำเป็นสำหรับการครองชีพในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในปี 2496 ดุลการค้าของไทยเริ่มขาดดุล มีการนำเข้าสินค้าและบริการมากกว่าการส่งออก จากการที่ค่าเงินบาทแข็งทำให้มีการนำเข้ามากแต่สินค้าไทยจะมีราคาสูงในตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นผลเสียต่อการส่งออก ทางการจึงได้นำมาตรการจำกัดการนำเข้ามาใช้อย่างเข้มงวด โดยผู้นำเข้าสินค้าทุกประเภทต้องขออนุญาตการนำเข้าจากทางการก่อนและเริ่มตัดทอนรายการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่เคยอนุญาตให้ผู้นำเข้าใช้อัตราทางการซึ่งมีอัตราถูกกว่าอัตราตลาดลง และในที่สุดให้สินค้านำเข้าทุกประเภทใช้อัตราตลาดทั้งหมด เป็นผลให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลง กล่าวคือ เงินบาทอ่อนค่าจาก 52 บาทต่อปอนด์สเตอร์ลิงในปลายปี 2496 เป็น 58 บาทต่อปอนด์สเตอร์ลิงในช่วงต้นปี 2497
ด้วยปัญหาความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและระบบเศรษฐกิจ จึงได้มีการปรับปรุงการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมเป็นลำดับ กล่าวคือ ในปี 2498 ทางการได้ปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยเป็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอัตราเดียวและได้จัดตั้งกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Equalization Funds) ซึ่งเป็นกองทุนที่สามารถใช้เงินสำรองระหว่างประเทศส่วนเกินเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพและเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2506 ประเทศไทยได้เริ่มใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Bretton Woods ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กำหนด โดยกำหนดให้ค่าเสมอภาคเงินบาทที่ 1 บาทเทียบเท่ากับทองคำ 0.0427245 กรัม หรือเทียบค่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยน 20.80 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และในวันที่ 8 มีนาคม 2521 ประเทศไทยได้ยกเลิกการกำหนดค่าเสมอภาคและมีการกำหนดค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในระบบตะกร้าเงิน (Basket of Currencies) แทน ทำให้ค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสะท้อนภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศโดยเฉพาะฐานะดุลการค้าและดุลการชำระเงินได้ถูกต้องมากขึ้น จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2540 ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ และได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้
โดยสรุป สิ่งที่ผมได้เล่า ก็คือ วิวัฒนาการของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทย การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนหรือระบบต่างๆในโลก โดยมากมักจะเกิดขึ้นหลังจากพบว่ามีปัญหาหรือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ด้วยภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานโยบายหนึ่งอาจจะแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่งได้แต่ส่งผลเสียในเวลาต่อมาได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงและถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา คือ 1) การหดตัวของการส่งออกในปัจจุบันมีสาเหตุที่สำคัญจากอะไร การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้คนทั่วโลกไม่มีอำนาจซื้อหรือการที่สินค้าของเราแพง 2) ผลกระทบที่ตามมา และ3) เรายังมีพันธะข้อ 8 กับ IMF ที่ว่าด้วยการห้ามกำหนดมาตรการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในด้านการแลกเปลี่ยนเงินหรือใช้อัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรายกเว้นจะได้รับการอนุมัติจาก IMF ครับ.
surachit@gmail.com
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะนำมาใช้ซื้อของเพื่อฟื้นฟูประเทศ แม้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนทางการขึ้นแต่ก็มีปัญหาการค้าขายเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด ในปี 2490 ประเทศไทยจึงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบหลายอัตรา โดยตลาดเงินตราต่างประเทศในไทยจะมี 2 ตลาด คือ 1) ตลาดทางการและ 2) ตลาดเสรี ซึ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมี 2 อัตราด้วย คือ 1) อัตราทางการ และ 2) อัตราตลาด อัตราทางการจะถูกกำหนดตามกฎหมายเงินตรา คือ 40 บาทต่อปอนด์สเตอร์ลิง และ 100 บาทต่อ 10.075 ดอลลาร์สรอ. เพื่อเอื้อต่อการนำเข้า ส่วนอัตราตลาดถูกกำหนดขึ้นตามภาวะอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศในขณะใดขณะหนึ่ง มีการกำหนดให้ผู้ส่งออกข้าว ยางพารา ดีบุก และไม้สัก นำรายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกมาขายให้ทางการในอัตราทางการ ส่วนรายได้จากการส่งออกอื่นๆให้ใช้อัตราตลาดได้ สำหรับการนำเข้าทางการจะขายเงินตราต่างประเทศให้ในอัตราทางการเพื่อการนำเข้าเฉพาะสินค้าที่จำเป็นของประชาชนเท่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวค่าเงินบาทในอัตราทางการจะมีค่าแข็งกว่าอัตราตลาด
ซึ่งในช่วงแรกของการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบหลายอัตรานี้ ฐานะด้านต่างประเทศของไทยยังสามารถเกินดุลอยู่ได้จากการที่โลกขาดแคลนสินค้าหลังสงครามและสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกหลักๆก็เป็นสินค้าจำเป็นสำหรับการครองชีพในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในปี 2496 ดุลการค้าของไทยเริ่มขาดดุล มีการนำเข้าสินค้าและบริการมากกว่าการส่งออก จากการที่ค่าเงินบาทแข็งทำให้มีการนำเข้ามากแต่สินค้าไทยจะมีราคาสูงในตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นผลเสียต่อการส่งออก ทางการจึงได้นำมาตรการจำกัดการนำเข้ามาใช้อย่างเข้มงวด โดยผู้นำเข้าสินค้าทุกประเภทต้องขออนุญาตการนำเข้าจากทางการก่อนและเริ่มตัดทอนรายการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่เคยอนุญาตให้ผู้นำเข้าใช้อัตราทางการซึ่งมีอัตราถูกกว่าอัตราตลาดลง และในที่สุดให้สินค้านำเข้าทุกประเภทใช้อัตราตลาดทั้งหมด เป็นผลให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลง กล่าวคือ เงินบาทอ่อนค่าจาก 52 บาทต่อปอนด์สเตอร์ลิงในปลายปี 2496 เป็น 58 บาทต่อปอนด์สเตอร์ลิงในช่วงต้นปี 2497
ด้วยปัญหาความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและระบบเศรษฐกิจ จึงได้มีการปรับปรุงการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมเป็นลำดับ กล่าวคือ ในปี 2498 ทางการได้ปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยเป็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอัตราเดียวและได้จัดตั้งกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Equalization Funds) ซึ่งเป็นกองทุนที่สามารถใช้เงินสำรองระหว่างประเทศส่วนเกินเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพและเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2506 ประเทศไทยได้เริ่มใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Bretton Woods ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กำหนด โดยกำหนดให้ค่าเสมอภาคเงินบาทที่ 1 บาทเทียบเท่ากับทองคำ 0.0427245 กรัม หรือเทียบค่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยน 20.80 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และในวันที่ 8 มีนาคม 2521 ประเทศไทยได้ยกเลิกการกำหนดค่าเสมอภาคและมีการกำหนดค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในระบบตะกร้าเงิน (Basket of Currencies) แทน ทำให้ค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสะท้อนภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศโดยเฉพาะฐานะดุลการค้าและดุลการชำระเงินได้ถูกต้องมากขึ้น จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2540 ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ และได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้
โดยสรุป สิ่งที่ผมได้เล่า ก็คือ วิวัฒนาการของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทย การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนหรือระบบต่างๆในโลก โดยมากมักจะเกิดขึ้นหลังจากพบว่ามีปัญหาหรือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ด้วยภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานโยบายหนึ่งอาจจะแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่งได้แต่ส่งผลเสียในเวลาต่อมาได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงและถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา คือ 1) การหดตัวของการส่งออกในปัจจุบันมีสาเหตุที่สำคัญจากอะไร การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้คนทั่วโลกไม่มีอำนาจซื้อหรือการที่สินค้าของเราแพง 2) ผลกระทบที่ตามมา และ3) เรายังมีพันธะข้อ 8 กับ IMF ที่ว่าด้วยการห้ามกำหนดมาตรการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในด้านการแลกเปลี่ยนเงินหรือใช้อัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรายกเว้นจะได้รับการอนุมัติจาก IMF ครับ.
surachit@gmail.com