xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรจึงจะทำให้เงินบาทอ่อนลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ลดลงและยังมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อไปอีก ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็ต้องการค่าเงินบาทที่อ่อนเพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออกเพื่อฟื้นเศรษฐกิจจากภาวะถดถอย คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้ ซึ่งคงจะต้องคิดหาวิธีการใหม่ๆเพื่อตอบคำถามนี้

การอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯ มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ ปัจจัยแรก ประชาชนทั่วไป นักธุรกิจ และนักลงทุน เริ่มคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤติการเงิน จึงทำให้เริ่มมีการขายสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯออกมา ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ดังกล่าวเริ่มลดลงและอัตราผลตอบแทนมีค่าสูงขึ้น เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 5 ปี มีอัตราผลตอบแทน (Yield) เพิ่มจากร้อยละ 1.72 เป็นเกือบร้อยละ 3 ในต้นเดือนมิถุนายน และนักลงทุนต่างๆเริ่มค่อยๆหันไปลงทุนในประเทศอื่นมากขึ้นจากที่เคยเน้นเฉพาะในสหรัฐฯ ปัจจัยที่สอง การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้เตรียมเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตั้งงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯก็เปรียบเหมือนกับการพิมพ์ธนบัตรให้รัฐบาลสหรัฐฯไปใช้จ่าย ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (Quantitative Easing) ส่งผลให้ปริมาณดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น และเป็นธรรมดาที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะลดลง

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดจากประมาณ 440,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีงบประมาณ 2551 เป็น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 หรือสูงถึงร้อยละ 13 ของมูลค่าเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะขาดดุลในอัตราสูงไปอีกอย่างน้อย 2 – 3 ปี ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างเรื้อรังเผชิญความยากลำบากในการหาเงินจากต่างประเทศมาใช้จ่าย และถ้าเงินดอลลาร์ไม่เป็นที่ต้องการในตลาดโลกจนส่งผลต่อทำให้รัฐบาลไม่สามารถหาเงินได้เพียงพอค่าเงินก็จะยิ่งอ่อนลง

คำถามต่อไปคือ ทำอย่างไรเงินบาทจึงจะไม่แข็งค่าขึ้นเมื่อดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนตัว นอกจากการลดค่าของดอลลาร์ดังกล่าวแล้ว เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการที่ประเทศมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ใน 4 เดือนแรกของปี 2552 เรามีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 9,534.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและเกินดุลการชำระเงินถึง 8,072.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศพุ่งขึ้นจาก 117,963.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2551 เป็น 120,411.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น กาหามาตรการไม่ให้ค่าเงินบาทสูงขึ้นจึงเป็นสิ่งท้าทายอย่างมาก อย่างไรก็ตามผมคิดว่าเรายังคงมีทางที่จะบรรเทาปัญหาลงได้ การที่ผมได้หารือกับนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านและศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอด ผมขอเสนอมาตรการบรรเทาปัญหาการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทดังนี้

มาตรการแรก ลดดอกเบี้ยนโยบายหรือ R/P 1 วัน จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.25 ลงอีก ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงตาม เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.50 และเงินฝากประจำ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 0.75 – 1.00 ซึ่งธนาคารที่มีสภาพคล่องเหลือสามารถปล่อยกู้ในตลาด R/P ได้โดยยังมีกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 – 0.75 ทำให้ไม่มีแรงจูงใจลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีก การลดลงของดอกเบี้ย R/P จะทำให้ส่วนต่างกำไรดอกเบี้ยของธนาคารลดลง โดยเฉพาะถ้า R/P ลดลงเหลือร้อยละ 0.50 เท่ากับดอกเบี้ยออมทรัพย์ จะทำให้ธนาคารไม่มีกำไรในการปล่อยกู้ในตลาด R/P ส่งผลให้ต้องลดดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก ซึ่งการลดลงของอัตราดอกเบี้ยจะไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2552 และ 2553 สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ประเมินว่า แม้ราคาน้ำมันจะเพิ่มเป็น 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2552 จะอยู่ที่ร้อยละ -1 ถึง -2 ขณะที่ในปี 2553 ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มเป็น 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและค่าเงินบาทลดลงอยู่ที่ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อของไทยก็จะไม่เกินร้อยละ 2 การลดดอกเบี้ยลงจึงเป็นมาตรการที่เป็นไปได้และจะทำให้แรงกดดันต่อค่าเงินลดลงได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการอื่นๆเสริม

มาตรการที่ 2 การลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะกดดันให้ค่าเงินบาทลดลงได้ ต้องมีมาตรการเพิ่มเติม คือเพิ่มวงเงินการลงทุนในต่างประเทศในรูปกองทุนรวม และให้กองทุนอื่นๆในประเทศ เช่น กบข., กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ต่ำ ทำให้กองทุนต่างๆมีแนวโน้มที่จะหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นอยู่แล้ว จึงควรอนุญาตให้ทั้งกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้ไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการไปลงทุนในต่างประเทศจะสร้างอุปทานของเงินบาทให้สูงขึ้น และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง

มาตรการที่ 3 เป็นการลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งทำได้โดยการเร่งการใช้จ่ายในการลงทุนภาครัฐที่จำเป็นโดยเฉพาะการลงทุนในโครงการที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูง เช่นโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ผมขอเสนอว่า จากข้อจำกัดทางการคลังควรพิจารณานำเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีสูงถึง 120,411.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯมาลงทุนส่วนหนึ่ง เพราะประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีเงินสำรองไว้สูงระดับนั้นเนื่องจากเรามีหนี้ต่างประเทศเพียง 64,847 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูลไตรมาส 4/2551) และเป็นหนี้ระยะสั้นเพียง 24,058.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เรามีภาระที่จะต้องมีเงินตราต่างประเทศหนุนหลังธนบัตรออกใช้ (ในอัตรา100%) ประมาณ 25,000 – 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น และแม้ว่าจะหักบัญชีสำรองพิเศษอีกประมาณ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เราก็ยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่เกินจำเป็นอีกหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรัฐบาลอาจจะระดมเงินส่วนนี้ผ่านการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (US$ denominated Investment Fund) และรัฐบาลอาจจะหามาสมทบอีกส่วนในรูปเงินบาท เงินดอลลาร์สหรัฐฯใช้ในการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ ขณะที่กองทุนในรูปเงินบาทใช้ซื้อสินค้าและบริการในประเทศ การนำเข้าดังกล่าวจะลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และช่วยลดแรงกดดันของเงินบาทให้บรรเทาลง

มาตรการที่ผมเสนออาจจะดูแปลกๆไปบ้าง แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของสังคมควรช่วยกันระดมสมองและความคิด หามาตรการ/วิธีการที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ได้

                                                     bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น