xs
xsm
sm
md
lg

‘ไครสเลอร์’ควบรวมกับ‘เฟียต’แล้ว เริ่มภารกิจแท้จริงเพื่อการอยู่รอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – นักวิเคราะห์ระบุว่าหลังจากที่ไครสเลอร์เก่าปิดดีลขายสินทรัพย์ส่วนที่ดีที่สุดให้แก่ไครสเลอร์ใหม่ที่มีเฟียตแห่งอิตาลีเป็นแกนนำแล้ว นับจากนี้ไปภารกิจแท้จริงก็กำลังจะเริ่มขึ้น นั่นก็คือ การกอบกู้กิจการผลิตรถยนต์อเมริกันแห่งนี้ให้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ใช่งานง่ายๆ และยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีทีเดียวกว่าที่พันธมิตรธุรกิจรายใหม่นี้จะอ้างได้เต็มปากว่าตนประสบความสำเร็จ
บริษัทไครสเลอร์ใหม่ซึ่งพ้นจากสภาพล้มละลายได้ภายในเวลาเพียง 42 วัน ยังคงต้องต่อสู้กับภาวะยอดขายรถยนต์ทั่วโลกทรุดดิ่งลง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทไครสเลอร์เก่าต้องล้มละลาย นอกจากนั้น ยังไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าผู้บริโภคอเมริกันจะหันไปเลือกรถยนต์ขนาดเล็กของค่ายเฟียตเมื่อรถประเภทนี้เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ
“ถ้าหากดูจากรายงานบนกระดาษ มันเยี่ยมมาก แต่ต้องรอจนถึงเวลานำเสนอสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคแล้วนั่นแหละถึงจะเป็นการทดสอบที่แท้จริง” รีเบคกา ลินด์แลนด์ นักวิเคราะห์ประจำไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ระบุและบอกอีกว่าขณะนี้ยังไม่อาจสรุปว่าการควบกิจการระหว่างไครสเลอร์กับเฟียตประสบความสำเร็จหรือไม่ จนกว่าจะได้เห็นว่าการตอบรับของผู้บริโภคเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ เฟียตได้เข้าถือหุ้นกิจการของไครสเลอร์ใหม่เป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ แบบไม่ต้องควักเงินเลย โดยจะแลกเปลี่ยนด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่หวังกันว่าจะช่วยให้ไครสเลอร์สามารถผลิตรถที่ได้มาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์และการประหยัดน้ำมันที่เพิ่งประกาศล่าสุด ซึ่งจะเป็นการขยายฐานลูกค้า
ส่วนเฟียตนั้น สิ่งที่ได้สำคัญมากคือจะเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลกได้มากขึ้น อีกทั้งจะเข้าใกล้หลักการ “การประหยัดอันเกิดจากขนาด” นั่นคือการลดต้นทุนต่อหน่วยด้วยการผลิตให้ได้มากๆ ซึ่งเป็นหลักการที่แซร์จิโอ มาร์คิออนเน ซีอีโอของเฟียตเห็นว่า จำเป็นสำหรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก
เฟียตจะได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นในไครสเลอร์อีก จนกระทั่งได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หลังจากที่ ชดใช้เงินกู้หลายพันล้านดอลลาร์คืนรัฐบาลสหรัฐฯเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเฟียตหวังจะใช้เครือข่ายดีลเลอร์ของไครสเลอร์ในการเปิดตัวรถยนต์สองที่นั่งรุ่น “เฟียต 500” ในสหรัฐฯ แต่รถรุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีของเฟียตในอีกหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป ก็น่าจะใช้แบรนด์ต่างๆ ของไครสเลอร์มากกว่า
เหตุผลก็คือ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดในการเปิดตัวแบรนด์ใหม่นั้นน่าจะแพงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยอดขายรถยนต์กำลังซบเซาอย่างเวลานี้ นอกจากนั้นเฟียตยังต้องหาทางกอบกู้ชื่อเสียงของบริษัทให้คืนกลับมา หลังจากที่เคยผลิตรถยนต์คุณภาพต่ำออกมาจนถูกกดดันให้ออกจากตลาดสหรัฐฯไปในช่วงทศวรรษท 1980
อย่างไรก็ตาม การใช้ชื่อแบรนด์ต่างๆ ของไครสเลอร์ อันได้แก่ ไครสเลอร์, ดอดจ์, และจิ๊ป ในการทำตลาด ก็ไม่แน่ว่าผู้บริโภคสหรัฐฯ จะสนใจรถยนต์ใหม่ๆ เหล่านี้ที่จะเป็นแบบคันเล็กๆ
“เรารู้สึกกังวลมากทีเดียวว่า ผู้ซื้อรถไครสเลอร์ ดอดจ์ หรือจี๊ป จะยอมรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ของเฟียตหรือเปล่า” ลินด์แลนด์กล่าว
กระนั้นก็ตาม เจฟฟ์ ชูสเตอร์ นักวิเคราะห์แห่งเจดี พาวเวอร์ มองว่าสินทรัพย์มีค่าที่เฟียตมอบให้กับไครสเลอร์อาจจะเป็นทีมบริหารที่ประสบความสำเร็จมากกว่าอย่างอื่น
“ภารกิจของเฟียตต่อบริษัทไครสเลอร์ใหม่ก็คือการกระตุ้นให้ทีมงานของไครสเลอร์มีเรี่ยวแรงทำงาน และพิจารณาไปที่คุณค่าความหมายของชื่อแบรนด์ของไครสเลอร์ และหาทางนำชื่อเฟียตเข้าไปผสมผสานรวมกันให้ได้” ชูสเตอร์บอก
ก่อนหน้านี้ คนงานของไครสเลอร์เคยได้รับความเดือดร้อนกันมาแล้วจากความล้มเหลวเมื่อครั้งที่ไครสเลอร์เข้าผนวกกิจการกับเดมเลอร์แห่งเยอรมนี ครั้งนั้น บริษัทต้องปลดพนักงานและปิดโรงงานอย่างต่อเนื่องหลายปี ท่ามกลางข่าวลือเกี่ยวกับการควบรวมกิจการและการยื่นขอล้มละลาย
แต่มาตอนนี้พวกเขาจะสามารถมุ่งเน้นความสนใจไปที่การพัฒนารถยนต์ใหม่ๆ ซึ่งชูสเตอร์มองว่า “พวกเขาต้องการเสถียรภาพและความอยู่รอดในระยะสั้น รวมทั้งความสำเร็จทีละเล็กละน้อยในระหว่างการกอบกู้กิจการ ซึ่งจะเป็นกระบวนการในระยะยาว”
ทั้งนี้ ไครสเลอร์ใหม่มีการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหาร โดยมาร์คิออนเนจะเป็นซีอีโอ โดยที่ จิม เพรส อดีตรองประธานกรรมการของไครสเลอร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรองซีอีโอ นอกจากนั้น บริษัทยังมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูงอีกหลายตำแหน่งซึ่งรวมทั้งผู้รับผิดชอบด้านวิศวกรรมการผลิต การขาย และการตลาด โดยผู้บริหารของเฟียตได้เข้ามาดูแลงานสำคัญๆ หลายตำแหน่ง รวมทั้งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น