xs
xsm
sm
md
lg

กูรูหวั่นรบ.ท้องถิ่นขวางจีนสู้ฟัดโตโยต้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถยนต์อเนกประสงค์ของฉางเฟิง มอเตอร์
บลูมเบิร์ก – กูรูชี้ ทางการจีนระดับมณฑลอาจถ่วงความพยายามของรัฐบาลกลาง ในการเสริมแกร่งอุตสาหกรรมยานยนต์ และเนรมิตยักษ์ยนตรกรรมขึ้นมาต่อกรกับคู่แข่งสุดเขี้ยวอย่าง โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และโฟล์คสวาเกน ในแดนมังกรซึ่งเป็นเจ้าแห่งตลาดสี่ล้อของโลก

ที่ผ่านมารัฐบาลกลางตั้งเป้ารวมกิจการ 14 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของประเทศให้เหลือเพียง 10 รายภายในปี 2554 อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการควบคุมการแข่งขันภายในตลาด และสร้างผู้แข่งขันที่แข็งแกร่งและสามารถลงทุนพัฒนายานยนต์สมรรถนะสูงได้

อย่างไรก็ตาม การผนวกกิจการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมนั้นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อทางการระดับท้องถิ่นยกเลิกการควบคุมบริษัทผลิตรถยนต์ตามนโยบายที่มีมาตั้งแต่สมัยปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงทศวรรษที่ 1950

ทั้งนี้ ภายใต้นโยบายกระจายอำนาจที่ออกแบบโดยประธานเหมา เจ๋อตงเมื่อปี 2501 มณฑลต่างๆ พากันก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ ถลุงเหล็ก รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ และเพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในท้องถิ่นเหล่านั้น ที่ผ่านมามณฑลต่างๆ จึงได้ออกมาตรการภายในจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่มาจากมณฑลอื่น กระทั่งจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544

ขณะเดียวกัน มิเชล ดันน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เจดี พาวเวอร์ แอนด์ แอซโซซิเอท ไชน่า บริษัทที่ปรึกษาด้านรถยนต์ก็มองว่า “รัฐบาลระดับมณฑลเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรม ถึงแม้รัฐบาลปักกิ่งจะมีอำนาจ แต่ก็ไม่มากพอจะสั่งการพวกเขาได้”
รถยนต์ของบริษัทจี๋ลี่ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน
“ผู้ผลิตรถยนต์รายเล็กของจีนมีมากเกินกว่าที่จะสามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้ การโน้มน้าวให้ทางการระดับมณฑลยอมปล่อยให้บริษัทผนวกกันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมโดยรวมทั้งหมด” ไรคอน เซี่ย นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยไต้หวาของเซี่ยงไฮ้กล่าว

โดยรัฐบาลกลางประสงค์ลดจำนวนบริษัทรถยนต์มากกว่า 100 รายทั่วประเทศ เนื่องจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนบริษัทที่ไม่มีผลกำไรส่งผลให้ยอดรวมกำไรของอุตสาหกรรมทั้งประเทศลดลง ดังจะเห็นได้จากช่วงไตรมาสแรกของปี ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของประเทศ 19 รายมีกำไรลดลง 49% แม้ว่ายอดขายรถทั่วประเทศจะปรับตัวขึ้น 3.9% ก็ตาม ในขณะที่ยุโรปมีผู้ผลิตรายหลัก 7 ราย และสหรัฐฯ มีแค่ 3 รายเท่านั้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่เศรษฐกิจจีนกำลังลดอุณหภูมิลงอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บีบให้มณฑลต่างๆ หยุดผลิตรถยนต์ไปโดยปริยายแม้จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาการปลดพนักงานก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วยอดขายรถยนต์ปรับตัวขึ้นเพียง 6.7% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 นำมาซึ่งความกดดันต่อผู้ผลิตรถยนต์รายเล็กของตลาด

“ผู้อ่อนแอมักรอดชีวิตยาก และถูกบีบให้ออกจากวงการไป ตลาดจีนไม่ได้เข้มแข็งอย่างเมื่อก่อนอีกแล้ว” เยล จง ผู้อำนวยการ CSM Asia ในเซี่ยงไฮ้กล่าว

ในวงการยนตรกรรมจีนได้เริ่มมีการรวมกิจการบ้างแล้ว โดยเมื่อปี 2551 บริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC) ที่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ควบคุมอยู่ได้ซื้อกิจการของบริษัทหนันจิง ออโตโมบิล นับเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยทางการเมืองหนันจิงและมณฑลเจียงซู ยอมตกลงขายกิจการเพราะยอดขายรถของบริษัทตกฮวบ จากรายงานของสื่อขณะนั้นระบุ ยอดขายในปี 2550 ตกลงถึง 38%

นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์จีนหลายรายอาจรวมกิจการกันเพื่ออุดรูโหว่ไลน์การผลิตของตัวเอง โดยเซี่ยจากไต้หวาระบุว่า กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ปของมณฑลกว่างตงเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วบริษัทได้ตกลงซื้อหุ้น 29% ของ หูหนัน ฉางเฟิง มอเตอร์ ที่รัฐบาลหูหนันควบคุม เพื่อขยายขอบข่ายธุรกิจครอบคลุมรถยนต์อเนกประสงค์

ซึ่งเซี่ยวิเคราะห์ว่า “ข้อตกลงของฉางเฟิงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนโยบายของรัฐบาลกลาง แต่พวกเขาตกลงกันบนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย”
กำลังโหลดความคิดเห็น