xs
xsm
sm
md
lg

แย้มไครสเลอร์-จีเอ็มซุ่มหารือผนวกกิจการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - แหล่งข่าววงในแย้มไครสเลอร์-จีเอ็ม ดอดคุยกันเรื่องผนวกกิจการ ในจังหวะเวลาที่ทั้งคู่ต่างดิ้นรนลดต้นทุนและเพิ่มสภาพคล่อง

การเจรจาระหว่างเซอร์เบอรัส แคปิตอล แมเนจเมนท์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของไครสเลอร์ กับเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เริ่มต้นขึ้นเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน โดย เซอร์เบอรัส ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนในภาคเอกชน (ไพรเวต อีควิตี้ ฟันด์) เป็นคนเขี่ยบอล

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวสองรายที่ไม่ประสงค์ออกนาม สำทับว่า การเจรจามีอันต้องยุติลงเนื่องจากคำถามเรื่องการตีราคาธุรกิจรถยนต์ที่กำลังประสบภาวะขาดทุนของไครสเลอร์ โดยธุรกิจดังกล่าวนี้ครอบคลุมแบรนด์ไครสเลอร์,ดอดจ์ และจี๊ป

ประเด็นสำคัญในข้อเสนอดังกล่าวคือ การสว็อปหุ้นกับจีเอ็มอันจะทำให้เซอร์เบอรัสได้หุ้น 49% ที่เหลือในจีแม็ก บริษัทการเงินในเครือจีเอ็ม แลกกับการส่งมอบธุรกิจรถยนต์ของไครสเลอร์ให้ค่ายรถอันดับ 1 ของสหรัฐฯ

แหล่งข่าวอีกราย เสริมว่า จีเอ็มปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าตัวเองต้องจ่ายแพงเกินไป รวมถึงยังต้องแบกภาระอันหนักอึ้งในการตัดลดส่วนที่จะเกิดการซ้ำซ้อนกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านแบรนด์ ดีลเลอร์ โรงงาน และตัวแทนสหภาพแรงงาน

ทั้งนี้ เซอร์เบอรัสซื้อหุ้น 80.1% ในไครสเลอร์จากเดมเลอร์เมื่อปี 2007 ด้วยวงเงิน 7,400 ล้านดอลลาร์ และจ่ายเงินจำนวนเท่ากันให้จีเอ็มในปีก่อนหน้านั้นสำหรับหุ้น 51% ในจีแม็ก

แม้ข้อตกลงของเซอร์เบอรัสครั้งนั้นตีค่าค่ายรถอันดับ 3 ของสหรัฐฯ ไว้ที่กว่า 9,000 ล้านดอลลาร์ แต่แหล่งข่าวคนเดิม บอกว่า มูลค่าปัจจุบันของปฏิบัติการรถยนต์ของไครสเลอร์ขณะนี้เหลือไม่ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์

เซอร์เบอรัสนั้น พยายามขายกิจการทั้งหมดของไครสเลอร์หรือขายหุ้นบางส่วนด้วยการทาบทามบริษัทหลายแห่ง เช่น เรโนลต์-นิสสัน,เฟียต,ทาทา มอเตอร์ ของอินเดีย และแม็กนา อินเตอร์เนชันแนลของแคนาดา แต่ไม่สำเร็จสักราย

เซอร์เบอรัสยังคุยกับค่ายรถจีน อาทิ เชอรี ออโตโมบิล และฟอว์ คาร์ เรื่องการเข้าถึงเครือข่ายดีลเลอร์ในสหรัฐฯ

การหารือระหว่างจีเอ็มกับไครสเลอร์ มีขึ้นขณะที่ฟอร์ด มอเตอร์ ค่ายรถอันดับสองเมืองลุงแซมที่ประสบปัญหาเช่นกัน กำลังวางแผนขายหุ้นส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในมาสดา มอเตอร์ มูลค่าทั้งสิ้น 1,400 ล้านดอลลาร์

อนึ่ง ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ ล่าสุด ดิ่งทำสถิติต่ำสุดในรอบ 15 ปี ฉุดส่วนแบ่งตลาด “บิ๊กทรี” ร่วงไม่เป็นท่า ขณะที่ต้องแข่งขันกับผู้เล่นต่างชาติท่ามกลางวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดนับจากช่วงวิกฤตถดถอยร้ายแรงในทศวรรษ 1930

นักวิเคราะห์ ลงความเห็นว่า จีเอ็ม,ฟอร์ด และไครสเลอร์อาจต้องใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อปกป้องฐานเงินสดของตน แต่ยังไม่มั่นใจว่าจีเอ็มจะได้อะไรจากการผนวกกับไครสเลอร์

ที่ผ่านมา จีเอ็มหมดเงินเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์กับการลดต้นทุน ขายสินทรัพย์และกู้ยืมเพื่อระดมเงินสดเพิ่ม

แอรอน แบรกแมน นักวิเคราะห์ของโกลบัล อินไซด์ บอกว่า การซื้อไครสเลอร์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้จีเอ็ม ซ้ำยังอาจทำให้ปัญหาเลวร้ายลงกว่าเดิม

เซอร์เบอรัสปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้ เช่นเดียวกับจีเอ็ม กระนั้น จีเอ็มกล่าวว่าการเจรจากับค่ายรถอื่นๆ เป็นเรื่องปกติ ขณะที่โฆษกไครสเลอร์กล่าวคล้ายกันว่า กำลังหารือกับว่าที่หุ้นส่วนหลายราย ไม่เฉพาะกับจีเอ็มเท่านั้น

แหล่งข่าว เสริมว่า หากตกลงกับจีเอ็มได้ จะทำให้เดมเลอร์สามารถขายหุ้นไครสเลอร์อีก 19.9% ที่เหลืออยู่ให้เซอร์เบอรัสจนหมด โดยเดือนที่ผ่านมา เซอร์เบอรัสเผยว่าได้ติดต่อเดมเลอร์เพื่อซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าว

เรื่องนี้โฆษกเดมเลอร์ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกัน

แบรกแมน ชี้ว่า การขายไครสเลอร์จะเข้าทางเซอร์เบอรัสที่ต้องการเข้าเทกโอเวอร์จีแม็กในจังหวะเดียวกับที่กองทุนฟื้นวิกฤตมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ ของวอชิงตันเตรียมเข้าซื้อสินทรัพย์มีปัญหา

การเจรจาระหว่างจีเอ็ม-ไครสเลอร์คราวนี้ ถือเป็นการฟื้นการหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการบริษัททั้งสองขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเมื่อต้นปี 2007 เดมเลอร์ที่เวลานั้นเป็นเจ้าของไครสเลอร์ ได้เริ่มกระบวนการเพื่อตัดขายไครสเลอร์ออกไป ทว่าครั้งนั้นไม่มีความคืบหน้าอะไร และปลายปีนั้นเอง ค่ายรถอันดับ 3 ของสหรัฐฯแห่งนี้ก็ถูกปล่อยให้แก่เซอร์เบอรัส

ปีที่แล้วเช่นกัน ริก วาโกเนอร์ ประธานบริหารจีเอ็ม กล่าวว่า เห็นลู่ทางที่เซอร์เบอรัสจะรวมจีแม็กกับไครสเลอร์ ไฟแนนเชียล

นักวิเคราะห์ไม่มั่นใจว่า ไครสเลอร์จะสามารถอยู่รอดในฐานะผู้ผลิตรถยนต์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากยอดขายถึง 90% ทำได้จากอเมริกาเหนือเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากเช่น โครว์ ฮอร์วาต ที่ปรึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ยังเห็นว่า การรวมจีเอ็มกับไครสเลอร์รังแต่เป็นการจับคู่บริษัทที่มีจุดอ่อนเหมือนกัน อาทิ การพึ่งพิงยอดขายรถปิ๊กอัพและเอสยูวี ทำให้ยิ่งเสียหายหนักขึ้นและเร็วขึ้น

วันศุกร์ที่แล้ว (10) หุ้นจีเอ็มปิดลดลงเกือบ 80% จากช่วงต้นปีอยู่ที่ 4.89 ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบเกือบ 60 ปี อย่างไรก็ดี ทั้งจีเอ็มและฟอร์ด ยืนยันว่า ไม่มีแผนขอรับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายล้มละลายแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น