xs
xsm
sm
md
lg

อัดฉีดแบงก์รัฐ1.45หมื่นล.ครม.หวังปล่อยสินเชื่อSME

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.เศรษฐกิจพร้อมอนุมัติเพิ่มทุน 5 แบงก์รัฐ 1.45 หมื่นล้าน หวังปล่อยสินเชื่อผูประกอบการSME พร้อมเห็นชอบให้สภาพัฒน์เกาะติดการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประเมินผล ด้านกรมบัญชีกลางเตรียมจ่ายเช็คช่วยชาติให้อีก 6 กลุ่มเพิ่มเติมทั้ง อปท. ครู ทหาร รวม 5 แสนราย พันกว่าล้าน กำหนดจ่าย 16 มิ.ย.นี้ ยอดขึ้นเช็คล่าสุด 8.45 ล้านรายคิดเป็น 96% "พฤฒิชัย" เผยมีเงินหมุนเวียนในระบบ 1.7 หมื่นล้านและช่วยกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันที่ 10 มิถุนายน 2552 ว่า ครม.เศรษฐกิจ มีมติเห็นชอบกรอบการติดตามและประเมินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนตามที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอ โดยเห็นควรให้ติดตามประเมินผลใน 2 ส่วน คือ 1.ด้านการบริหารจัดการ โดยติดตามผลการดำเนินงานเรื่องความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณ 2.ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ โดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของการดำเนินการ
ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการที่รับผิดชอบให้ สศช.ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ และรายงานต่อ ครม.เศรษฐกิจ ต่อไป

เพิ่มทุน 5 แบงก์รัฐ 1.45 หมื่นล้าน
ครม.ยังมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่ได้เสนอเรื่องการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หลังจากพบปัญหาในทางปฏิบัติกรณีที่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม( SMEs) ยังคงมีอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง
" เห็นควรให้เพิ่มทุนโดยใช้งบประมาณที่อยู่ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง จำนวน 1.45 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มทุนได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2552 นี้ " นายพุทธิพงษ์กล่าวและว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) โดยให้ติดตามการขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs การดำเนินการเรื่องสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับสนับสนุนธุรกิจใน 5 จังหวัดภาคใต้ พร้อมเร่งรัดการดำเนินงานของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ในการให้สินเชื่อเพื่อการศึกษาแก่เยาวชนใน 5 จังหวัดภาคใต้ ที่ผ่านมา ธอท. สามารถขยายสินเชื่อได้ประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งยังไม่รวมโครงการตามนโยบายรัฐบาล ทำให้ต้องมีฐานเงินทุนสำหรับดำเนินธุรกิจที่เพียงพอ โดย ธอท.มีแผนการเพิ่มทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ถึงภาพรวมสินเชื่อและสภาพคล่อง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 โดยพบว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว และตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับตลาดในภูมิภาค เงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับภูมิภาค โดยช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มิถุนายน 2552 เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.91 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน

เผยเบิกจ่ายงบกระตุ้น ศก.คืบ 47%
สำหรับผลการเบิกจ่ายเงินในโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 16 โครงการ วงเงินรวม 116,700 ล้านบาทนั้น พบว่าตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 มีการเบิกจ่ายแล้ว 55,831 ล้านบาท คิดเป็น 47.84% ของวงเงินงบประมาณ โดยโครงการที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด 3 อันดับแรก คือ โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี และโครงการ 5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน
ขณะที่กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานผลการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการนำเข้า-ส่งออก ต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ โดยปัญหาส่งออก นำเข้าที่เป็นอุปสรรรคต่อนักลงทุนนั้น กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมศุลกากรดำเนินการใน 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ให้ทบทวนกฎหมายและประกาศเพื่อให้ระบุพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าที่ต้องการควบคุมในประกาศให้ชัดเจน รวมทั้งปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ล้าสมัย ส่วนระยะต่อไปเห็นควรให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทุกหน่วยงานเร่งจัดตั้ง National Single Window กับกรมศุลกากร
ส่วนปัญหาวิธีการคำนวณการให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แตกต่างกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กับกรมสรรพากร และการเก็บภาษีย้อนหลังสำหรับการนำเข้าเหล็กซิลิคอนนั้น ที่ประชุมเห็นควรเร่งกระบวนการพิจารณาให้แล้วเสริจใน 3 เดือน เพื่อให้มีข้อยุติโดยเร็ว และให้กรมศุลกากรดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการแต่ละราย

จ่ายเช็คช่วยชาติอีก 5 แสนราย
นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการจ่ายเช็คช่วยชาติคนละ 2,000 บาท ให้แก่กลุ่มบุคคลที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาท เพิ่มเติมอีก 6 กลุ่มอีกกว่า 5 แสนรายนั้นในรอบแรกธนาคารกรุงเทพจะพิมพ์เช็คลงวันที่ 16 มิ.ย.นี้ โดยหน่วยงานต่างๆสามารถมารับได้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.52 และกรณีดำเนินการไม่ทันรอบแรกสามารถส่งข้อมูลได้จนถึงวันที่ 23 มิ.ย. 52 เพื่อออกเช็คอีกรอบวันที่ 30 มิ.ย. 52 โดยหลังจากนั้นจะมีการจัดทำเช็คช่วยชาติเพิ่มเติมอีก
การประเมินผลการใช้เช็คช่วยชาติรอบแรกกว่า 8.8 ล้านรายนั้น พบว่ามีการนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารแล้ว 8.45 ล้านรายหรือ 96% และเกิดการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจกว่า 16,908 ล้านบาท ซึ่งแม้จะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่มากนักแต่น่าจะมีผลทางจิตวิทยาช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในระดับจังหวัดมากขึ้น
สำหรับ 6 กลุ่มประกอบด้วย บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ ครู บุคลากรด้านการศึกษาและบุคลากรอื่นในโรงเรียนเอกชน บุคลากรขององค์การมหาชน ทหารเกณฑ์ และบุคลากรขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมน่าจะใช้เงินอีกประมาณ 1,000 พันล้านบาท โดยในส่วนของรัฐวิสาหกิจเกือบแสนคนจะใช้เงินเช็คช่วยชาติก้อนแรกที่ยังเหลือก่อนหน้านี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ช่วยค่าครองชีพของประชาชนและบุคคลกรภาครัฐกว่า 8.8 ล้านราย ใช้เงินรวม 2,652 ล้านบาท ซึ่งยังมีส่วนที่เหลืออีกประมาณ 700 ล้านบาท ส่วนที่ต้องใช้เงินเพิ่มเติมจะประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรเงินงบกลางต่อไป
ขั้นตอนการรับเช็คช่วยชาติ หน่วยงานที่รับผิดชอบบุคลากรแต่ละกลุ่มจะรับเช็คที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ 2 ครั้ง คือวันที่ 15 และ 29 มิถุนายน 2552 หน่วยงานก็มีหน้าที่จ่ายเช็คช่วยชาติให้แก่ผู้มีสิทธิต่อไป ซึ่งขั้นตอนวิธีการที่จะจ่ายเช็คนั้นหน่วยงานต้องไปพิจารณาตามความเหมาะสม และถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ถึงมือผู้มีสิทธิรับเช็คจริง ๆ โดยหลักการแล้วควรให้ผู้มีสิทธิรับเช็คด้วยตนเอง ที่หน่วยงานที่ตนเองปฏิบัติงานอยู่ หรือที่ที่หน่วยงานกำหนดตามความสะดวก
“กลุ่มใหม่ที่มีสิทธิได้รับเช็คได้ส่งข้อมูลเข้ามาแล้วจนถึงวันที่ 9 มิ.ย.มีจำนวน 163,547 รายเป็นเงิน ประมาณ 327 ล้านบาท เนื่องจากยังมีบางหน่วยงานที่ไม่จัดส่งข้อมูลเข้ามา เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรุงเทพมหานคร โดยมั่นใจว่ารายชื่อจะไม่ซ้ำซ้อนกันเหมือนรอบแรกที่ยอมรับว่ามีการจ่ายเช็คให้บางคนที่ไม่มีสิทธิได้รับ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้เรียกคืนเช็คมาแล้วและมีไม่มากนัก ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับเช็คยังมีอีกประมาณหมื่นกว่ารายหากพ้นวันที่ 23 มิ.ย.นี้แล้วก็จะนำส่งคืนคลังต่อไป”นพ.พฤฒิชัย กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น