ศูนย์ข่าวศรีราชา – กองทัพเรือมั่นใจ บุคลากรมีขีดความสามารถในการบริหารสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อรองรับสายการบินจากทั่วโลก หลังส่งเจ้าหน้าที่ออกประชาสัมพันธ์และเชิญชวนสายการบินต่างชาติ ให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อม ชี้บินตรงอู่ตะเภาประหยัดค่าใช้จ่ายเกือบครึ่ง เมื่อเทียบกับสนามบินสุวรรณภูมิ เผยหากสภาฯผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน สนามบินจะได้งบก่อสร้างอาคารรองรับผู้โดยสารหลังใหม่ ที่รองรับผู้โดยสารได้ 1.6 พันคนต่อวัน รวมทั้งส่วนสนับสนุนต่างๆ มูลค่าเกือบพันล้าน
แหล่งข่าวจากกองทัพเรือ เผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนาในภาพรวมของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 400 คนเป็น 1,500- 1,600 คนต่อวันและรองรับสายการบินจากทั่วโลกตามความเห็นของรัฐบาลและกรมการขนส่งทางอากาศว่า คณะกรรมการบริหารสนามบินอู่ตะเภา ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอแผนงานต่างๆ ผ่านกองทัพเรือเพื่อให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาและนำเสนอต่อรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็ได้บรรจุแผนดังกล่าวไว้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 และหากสภาผู้แทนราษฎรผ่านความเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านของรัฐบาล ก็จะทำให้แผนงานต่างๆ ที่อยู่ในโครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุน
สำหรับแผนพัฒนาในภาพรวมของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา มีรายละเอียดประกอบด้วย งบประมาณที่จะใช้ดำเนินการอยู่ที่ 995 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างอาคารรองรับผู้โดยสารแห่งใหม่ที่จะขยายพื้นที่จากเดิม 4,280 ตารางเมตร(ตร.ม.)เป็น 25,200 ตร.ม.จำนวน 600 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงบพัฒนาส่วนต่างๆ ที่จะสนับสนุนการทำงานและปรับสภาพภูมิทัศน์
ทั้งนี้หากสภาฯ ผ่านความเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 4แสนล้าน กองทัพเรือจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือนในการก่อสร้างและปรับปรุงส่วนต่างๆ ซึ่งหากสนามบินอู่ตะเภามีการพัฒนามากขึ้น จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในภาคตะวันออกและชุมชนที่อยู่โดยรอบ และระหว่างการก่อสร้างจะมีเม็ดเงินกระจายสู่คนท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 25-30% ของงบประมาณทั้งหมด
“มติ ครม.เมื่อปี 2520-2521 กำหนดให้เราแบ่งพื้นที่ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ หมายถึงให้สามารถรองรับเครื่องที่ติดปัญหาจนไม่สามารถไปลงยังสนามบินเป้าหมายได้ รวมถึงการเป็นพื้นที่รองรับชาร์เตอร์ไฟลต์ในลักษณะเทอร์มินอลแอร์พอร์ต แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ คณะกรรมการบริหารสนามบินอู่ตะเภาก็ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการเพื่อรองรับเที่ยวบินต่างๆ แทน ก็ถือว่ากองทัพเรือได้มีโอกาสช่วยชาติเพราะเรามีประตูรองรับทั้งขาเข้าและขาออก ขณะที่กรมการขนส่งทางอากาศ ก็เห็นชอบให้จัดทำแผนปรับปรุงสนามบิน ”
แหล่งข่าวยังเผยว่า บุคลากรของกองทัพเรือมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการหากสนามบินอู่ตะเภาต้องรองรับสายการบินจากทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เพราะที่ผ่านมากองทัพเรือ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกกไปอบรมตามหลักสูตรต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ส่วนเจ้าหน้าที่การบินก็ได้รับการฝึกอบรมแบบมืออาชีพ
“ การบริหารท่าอากาศยาน เราได้ปฏิบัติตามกฎของกรม การบินระหว่างประเทศ ซึ่งทหารเรือรู้กฎการบินเพราะฉะนั้นจึงเชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถบริหารท่าอากาศยานแห่งนี้ได้ แต่ในเชิงพาณิชย์อาจด้อยไปบ้างเพราะไม่ใช่นักธุรกิจ ดังนั้นรัฐบาลก็คงต้องเข้ามาดูแล อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้เราได้ออกไปทำโรดโชว์ในหลายประเทศ เพื่อเชิญชวนให้สายการบินต่างๆ มาลงที่เราและเห็นถึงขีดความสามารถทั้งมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเราใช้ทหารถึง 1 กองพันดูแล ขณะที่เครื่องมือในการให้บริการก็เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งเมื่อมีนักท่องเที่ยวที่เข้าข่ายติดเชื้อไวรัสเข้ามา เราก็มีเครื่องมือตรวจวัดระดับความร้อนเช่นเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิ ”
สำหรับสายการบินที่มีเส้นทางบินตรงมายังภาคตะวันออก หากนำเครื่องบินมาลงยังสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จะมีต้นทุนดำเนินการต่ำกว่าการนำเครื่องบินไปลงยังสนามบินสุวรรณภูมิหรือสนามบินอื่นกว่าครึ่ง เพราะนอกจากจะประหยัดค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว สนามบินนานาชาติอู่ตะเภายังถือเป็น Home Base ของเครื่องบิน B 52 เก่า ฉะนั้นจึงมั่นใจเรื่องความแข็งแรงของสนามและลานบินได้ ที่สำคัญสนามบินแห่งนี้ยังมีหลุมจอดเครื่องบินที่มากเพียงพอ