xs
xsm
sm
md
lg

ไทย - ลาว - เวียดนาม เปิดเดินรถขนส่ง สู่เส้นทางระเบียงศก.ตะวันออก – ตะวันตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มุกดาหาร-คณะผู้แทนไทย ร่วมเปิดการเดินรถบรรทุก ไทย-ลาว-เวียดนาม เริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ณ จุดผ่านแดน มุกดาหาร-สะหวันนะเขต และจุดผ่านแดน สะหวันนะเขต-ลาวบาว โดยกำหนดพิธีเปิดการเดินรถบรรทุกระหว่าง ไทย-ลาว-เวียดนาม พร้อมกันทั้ง 3 ประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่าในวันนี้(11 มิ.ย.) เวลา 09.00 น.คณะผู้แทนไทยและจังหวัดมุกดาหาร ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดการเดินรถบรรทุกระหว่างประเทศ ไทย-ลาว-เวียดนาม โดยมี นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานฝ่ายไทย โดยได้มีการกำหนดขั้นตอน กิจกรรม ตลอดจนพิธีการต่าง ๆ ในพิธี เปิด ซึ่งกำหนดในวันเดียวกัน ทั้ง 3 จุด คือที่ด่านพรมแดนมุกดาหาร สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ด่านพรมแดนสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และด่านพรมแดนลาวบาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยจะมีพิธีเปิดหลัก อยู่ ณ ด่านพรมแดนสะหวันนะเขต ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของทั้ง 3 ประเทศ ร่วมพิธีเปิด

นางพนอม พวงสมบัติ ขนส่งจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า การเดินรถบรรทุกระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว และเวียดนาม เกิดขึ้นโดยการผลักดันของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ที่ต้องการให้มีการขนส่งข้ามพรมแดนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้น จึงได้มีการลงนามความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ณ จุดผ่านแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และจุดผ่านแดนสะหวันนะเขต-ลาวบาว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550

นายไพศาล ชื่นจิต นายด่านศุลกากรมุกดาหาร กล่าวว่า สำหรับพิธีเปิดการเดินรถบรรทุกระหว่าง 3 ประเทศ ที่มีขึ้นในวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ณ ด่านพรมแดนจังหวัดมุกดาหาร นั้น ในพิธีการ รถบรรทุกของประเทศไทย จะเดินทางไปยังแขวงสะหวันนะเขต ขณะเดียวกันประเทศไทยจะรอรับรถบรรทุกจากประเทศเวียดนามและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การเปิดเดินรถขนส่ง ระหว่าง ไทย – ลาว – เวียดนาม ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจ ตะวันออก – ตะวันตก ทั้งสามฝ่ายเห็นชอบให้มีการเดินรถที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ประเทศ ละ400 คัน ซึ่งการเปิดเดินรถในครั้งนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าไทย ไปยังเวียดนาม โดยไม่ต้องมีการขนถ่าย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง และจะเป็นส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ( GREATER MEKONG SUBREGION: GMS ) ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น