xs
xsm
sm
md
lg

“ทม.แม่สอด-มธ.” ร่วมหาช่องตั้ง ม.นานาชาติชายแดนไทย-พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตาก - “ม.ธรรมศาสตร์-ทม.แม่สอด” เตรียมลงนามร่วมใน MOU เดินเครื่องศึกษาหาช่องทางตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติชายแดนแม่สอด รองรับทิศทางการพัฒศนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกในอนาคต

นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด เทศบาลเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ได้รับหนังสือจาก ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า ผู้ประสานงานโครงการวิจัยเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติ ณ อำเภอแม่สอด โดยการสนับสนุนทุนวิจัยขั้นต้นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อสำรวจข้อมูลเบื้องต้น การเตรียมการจัดตั้ง ม.ธรรมศาสตร์ ที่ อ.แม่สอด ในรูปแบบนานาชาติ ซึ่งจะลงพื้นที่ศึกษา ด้านเศรษฐกิจชายแดน-ความมั่นคงชายแดน-แผนงานและการพัฒนาการจัดการเรื่องผังเมืองชายแดน-กฎหมายที่อาจจะเกี่ยวข้อง โดยคณะตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะประชุมร่วมกับผู้บริหารเทศบาลเมืองแม่สอดในวันพรุ่งนี้ (3 มิ.ย.)

นายเทอดเกียรติบอกว่า เทศบาลเมืองแม่สอดและคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะร่วมทำ MOU และทำวิจัยศึกษา เพื่อผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยนานาชาติ ณ อำเภอแม่สอด ชายแดนไทย-พม่า สร้างโอกาสทางความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอาณาบริเวณแม่สอด-เมียวดี-เมาะละแหม่ง รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยใช้การศึกษาในระดับสูงที่แม่สอดนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐานการศึกษา การผลิตคนรุ่นใหม่ บริเวณชายแดนและภูมิภาคนี้ โดยมหาวิทยาลัยนานาชาติแม่สอด จะเป็นการสร้างสรรค์ และสมานฉันท์

นายเทอดเกียรติกล่าวต่อว่า การจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติ ณ แม่สอด เพื่อการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ การทูตระหว่างประเทศ การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ เพื่อเป็นโอกาสของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม แม่สอด เมียวดี-เมาะละแหม่ง ตามแนวเส้นทางสายเศรษฐกิจอิสเวตส์ อีโคโนมิก คอริดอร์ ตามโครงการความร่วมมือการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน เป็นการพัฒนาการศึกษาของมนุษย์แบบสร้างสรรค์ กับงานและสมานฉันท์ของกลุ่มประเทศดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า แผนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ อำเภอแม่สอด จะรองรับนักเรียนไทยที่จบการศึกษา ระดับชั้น ม.6 ในพื้นที่ ปีละกว่า 1,200-1,300 คนและยังจะมีนักศึกษานานาชาติจากกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน อาจจะเข้ามาร่วมเรียนอีกด้วย โดยเป็นรูปแบบมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งแรกของภูมิภาคตามแนวชายแดนไทย-พม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น