xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนหนุนตั้ง “นครแม่สอด” - นัดถกอนุกรรมการฯ ดัน อปท.พิเศษ 15 มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - “อภิรักษ์” นัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนารูปแบบ อปท.พิเศษ ดัน “แม่สอด” นำร่องเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ขณะที่หน่วยงานรัฐ-เอกชนในพื้นที่หนุนเต็มที่ ยกระดับเป็น “นครแม่สอด” รองรับทิศทางการพัฒนาการค้า การลงทุน เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกในอนาคต

นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด เทศบาลเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการพัฒนารูปแบบการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในลักษณะเครือข่ายหรือกลุ่มพื้นที่ และรูปแบบการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการในพื้นที่พิเศษ ได้มีหนังสือให้นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) รวมถึงเขาเอง ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ส.ท.ท.และคณะกรรมการกระจายอำนาจท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ 1/2552 ในวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2552 ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที อาคารสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ

เพื่อให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนารูปแบบการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษ และวางกรอบทิศทางของการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในลักษณะเครือข่ายหรือกลุ่มพื้นที่และรูปแบบการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการในพื้นที่พิเศษ ซึ่งเขาเตรียมนำเสนอความพร้อมของเมืองแม่สอด ในการยกฐานะเป็นท้องถิ่นพิเศษต่อที่ประชุม โดยได้เตรียมเอกสารและรายละเอียดต่างๆ รวมไปถึงข้อมูล สภาพข้อเท็จจริงของเมืองแม่สอดตามศักยภาพของเมืองที่มีความเจริญ

“ผมยืนยันว่า ขณะนี้การเดินหน้าเรื่องของท้องถิ่นพิเศษแม่สอด กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนในพื้นที่และส่วนใหญ่มากกว่า 80% เห็นด้วยกับเรื่องนี้”นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้เดินทางมาที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และไปทัศนศึกษาดูการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี ประเทศพม่า และแสดงความเห็นด้วยในการสนับสนุนการยกฐานะเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เมืองแม่สอดควบคู่กับการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด รองรับการเจริญทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การค้าชายแดน เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจอิสเวตส์อีโคโนมิก คอริดอร์ การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวชายแดน และการเป็นเมืองหน้าด่านการค้าประตู่สู่นานาประเทศทางพม่า อินเดีย ตะวันออกกลาง และมุ่งสู่ยุโรป

เมื่อเร็วๆ นี้ นายโกวิท เครือวงษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอแม่สอด จ.ตาก ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อศึกษา วิจัยและวิเคราะห์การจัดตั้งเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” โดยมี ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับมอบหมาย ให้เข้ามาศึกษา วิจัย และลงพื้นที่สำรวจ ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สอด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น จากเทศบาลเมืองแม่สอด-เทศบาลตำบลท่าสายลวดและองค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.) แม่ปะ รวมทั้งภาคเอกชนหอการค้าตาก สภาอุตสาหกรรมตาก กลุ่มประชาคมและประชาสังคม ผู้ประกอบการธุรกิจและสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่ ทั้งภาครัฐ-เอกชน-อปท.และภาคประชาชน เห็นด้วยกับการยกฐานะแม่สอด เป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมวิจัย ศึกษาและสำรวจ กล่าวว่า จากการศึกษาที่ผ่านมามีประเด็นในข้อกฎหมายหลัก 30 ข้อ ที่ครอบคลุม พ.ร.บ.ท้องถิ่นพิเศษ ที่เป็นปัจจัยที่ต้องศึกษาถึงผลดี-ผลเสีย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ด้านแรงงาน ด้านอุตสาหกรรม ด้านพาณิชย์และการค้า

ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า สรุปได้ว่าปัจจุบัน เมืองชายแดนแม่สอด จึงเป็นเมืองที่จะนำร่องของการเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีความพิเศษในตัวอยู่แล้วทั้งความพร้อมต่อการผลักดันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เขตนิคมอุตสาหกรรมชายแดน และการพัฒนาเป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด กล่าวว่า มีความเหมาะสมกับการให้แม่สอดเป็นท้องถิ่นพิเศษ และหากจะต้องบูรณาการร่วมกับ อปท.และหน่วยงานอื่นๆ ด่านศุลกากรก็สามารถทำได้ และเมืองแม่สอดเป็นหน้าด่านการค้าชายแดนไทย-พม่า ระเบียงเศรษฐกิจอิสเวตส์ อีโคโนมิก คอริดอร์ ที่มีมูลค่าการค้าชายแดน ขณะนี้เฉลี่ยเดือนละ 1,300-1,500 ล้านบาท

ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก (แม่สอด) ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานด้านสาธารณสุข องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชนและผู้ประกอบธุรกิจ เห็นด้วยที่จะให้แม่สอดเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และที่ประชุมเห็นว่าควรจะต้องให้มีกฎหมายที่ครอบคลุม ทั้งด้านการค้าชายแดน การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม การให้ความสำคัญด้านสาธารณสุข และการจัดระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และแม่สอดสามารถเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จเมื่อยกระดับเป็นท้องถิ่นพิเศษแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น