xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์กรณีอุ้มไครสเลอร์-จีเอ็ม อเมริกาตั้งธงป้องภาคโรงงานอุตฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – นักวิเคราะห์ชี้การอุ้มจีเอ็มและไครสเลอร์ บ่งชี้ถึงโฟกัสใหม่ในวอชิงตัน ในการปกป้องภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่ถูกมองว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอันเปราะบาง อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางคนแย้งว่า อเมริกาควรยอมรับความจริงและหันไปส่งเสริมจุดแข็งในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และยอมทิ้งโรงงานอุตสาหกรรมบางอย่างที่ไปไม่รอดจริงๆ
แม้สหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมการผลิตของโลก แต่การรักษาศักยภาพการแข่งขันของพวกโรงงานอุตสาหกรรม อาจต้องการการดำเนินนโยบายที่หลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียใช้อยู่
ถึงปลดคนไปแล้วหลายล้าน แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังคงสร้างผลผลิตให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมถึง 12% กระนั้น ผู้ผลิตอเมริกันกำลังเผชิญความท้าทายหนักหนาขึ้นจากประเทศอื่น ซึ่งรวมถึงจีน และตลาดเกิดใหม่ ตอกย้ำความจำเป็นในการที่สหรัฐฯจะต้องหันมาดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมที่ชาติอื่นๆ ใช้กัน
เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่อัดฉีดให้เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และไครสเลอร์เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ เพราะเป็นความช่วยเหลือเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมนี้ต้องล่มสลายที่อาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าด้วยซ้ำ ทั้งนี้ คลิฟฟ์ วาลด์แมน นักเศรษฐศาสตร์ของแมนูแฟกเจอเรอร์ส อลิแอนซ์/เอ็มเอพีไอ บอกว่าอาจหมายถึงการที่มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ดิ่งวูบถึง 10% ทีเดียว
วาลด์แมนเสริมว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตคงความเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจโลก
“เราอยู่รอดได้ แต่ไม่สามารถเติบโตและรักษามาตรฐานการครองชีพและความเป็นผู้นำไว้ได้” เขาย้ำถึงความสำคัญของการมีโรงงานอุตสาหกรรม
โจเอล แนรอฟฟ์ จากแนรอฟฟ์ อิโคโนมิก แอดไวเซอร์ส ขานรับว่า การจะมีเศรษฐกิจที่สมดุลต้องลงมือทำหลายอย่าง และว่าการให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่ภาคยานยนต์เป็นสิ่งที่หลายประเทศทำกัน
“เราไม่ต้องทำแบบนี้ในอดีต เพราะเราผลิตได้มากกว่าชาติอื่น แต่ตอนนี้โลกเต็มไปด้วยการแข่งขันที่ไร้พรมแดน”
เควิน กัลเลเกอร์ จากสถาบันพัฒนาการโลกและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยทัฟต์ส สำทับว่าแม้ความพยายามเหล่านี้เป็นการอุ้มจีเอ็มและไครสเลอร์ให้อยู่รอดต่อไป แต่ในอนาคตสิ่งนี้อาจถูกเรียกว่านโยบายอุตสาหกรรมใหม่ของสหรัฐฯ
“อเมริกาอาจเรียนรู้บทเรียนจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีนในขณะนี้ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้กลายเป็นผู้นำโลก”
นาริแมน พีรเวช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอชเอส โกลบัล อินไซต์ บอกว่าอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ยังมีขีดความสามารถแข่งขันสูง โดยจากการวิจัยของไอเอชเอสพบว่า ผลผลิตจากโรงงานอเมริกันคิดเป็นสัดส่วน 22.3% ของผลผลิตอุตสาหกรรมโลกในปี 2006 และสหรัฐฯ ยังคงนำหน้าในเรื่องปริมาณการผลิตจนถึงปี 2020
วาลด์แมนเสริมว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าสัดส่วนการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ขณะนี้ลดลงต่ำกว่า 20% กระนั้น บริษัทอเมริกันยังคงมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นำสมัยมากมาย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองต่างมุม โดยพวกเขาโต้แย้งว่า สหรัฐฯ ควรมุ่งเน้นภาคที่ตนเองเป็นผู้นำ แม้อาจหมายความถึงการถอนตัวจากอุตสาหกรรมการผลิตบางอย่างก็ตาม
“อเมริกาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าล้มเหลวในเรื่องการรักษาอุตสาหกรรมยานยนต์” ปีเตอร์ โคแฮน ที่ปรึกษาด้านการบริหาร แห่ง ปีเตอร์ โคแฮน แอนด์ แอสโซซิเอตส์ และนักวิชาการของแบ็บสัน คอลเลจ กล่าวและเสริมว่าสหรัฐฯ ยังไร้เทียมทานในด้านเทคโนโลยีส่วนบุคคลที่นำโดยแอปเปิล รวมถึงภาพยนตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ
“ความหมายก็คือ กุญแจความสำเร็จของธุรกิจอเมริกันคือ การบริหารพลังสมอง ไม่ใช่สายพานการผลิต”
โรเบิร์ต ไรช์ อดีตรัฐมนตรีแรงงานสหรัฐฯ และปัจจุบันเป็นนักวิชาการของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เห็นด้วยว่าอเมริกาควรยอมรับที่จะถอนตัวจากการผลิตทางอุตสาหกรรม แทนที่จะฝืนรักษาหรือขยายภาคอุตสาหกรรมการผลิต พร้อมแจงว่าการจ้างงานในโรงงานมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับภาคเกษตรกรรม ที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี กระทั่งมีการจ้างงานเพียงไม่ถึง 5% ในตลาดแรงงานทั้งหมด เทียบกับ 30% เมื่อร้อยปีที่แล้ว
“ในที่สุด จีเอ็มก็จะล้มหายตายจากไป แผนการช่วยเหลือพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้เศรษฐกิจมีเวลาลดต้นทุนทางสังคมจากสถานการณ์นี้เท่านั้นเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น