xs
xsm
sm
md
lg

อภิสิทธิ์กับบราวน์ : ใครจะไปก่อนกัน

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2549 ผมอยู่ที่ลอนดอน ได้เขียนบทความเรื่อง “ทักษิณ แบลร์ : ใครจะไปก่อนกัน” (ผจก. 16 ก.พ. 2549) ปรากฏว่าทักษิณไปก่อน วันที่ 19 กันยายน 2549 แบลร์ไปวันที่ 27 มิถุนายน 2550

ทั้งคู่ถูกบังคับให้ลงจากตำแหน่งเหมือนกัน ทั้งคู่ขึ้นสู่ตำแหน่งไล่ๆ กัน ทั้งคู่นำพรรคเข้าสู่ชัยชนะการเลือกตั้ง 2 ครั้งเหมือนกัน ทั้งคู่โค่นรัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่งด้วยเสียงที่ท่วมท้นเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 และทั้งคู่ก็ประสบชะตากรรมอยู่ไม่ครบเทอมเช่นเดียวกัน

และข้อกล่าวหาหลัก ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาทั่วไปในวงการต่างๆ และสาธารณชนนั้นก็ไม่ต่างกัน คือ ทั้งคู่สูญเสียอำนาจทางศีลธรรม เป็นผู้กระทำผิดมาตรฐานทางจริยธรรม ด้วยการโกหก จึงไม่สมควรเป็นผู้นำประเทศต่อไป

แบลร์โกหกเกี่ยวกับอิรัก เพื่อตามก้นอเมริกันนำประเทศเข้าสู่สงคราม ส่วนทักษิณโกหกเรื่องอะไรบ้าง ผมเขียนไว้ในบทความหลายฉบับ เช่น โกหกของทักษิณ (18 มิ.ย. 49 ผจก.) ทักษิณโกหกอีกครั้ง (19 มิ.ย 49 ผจก.) เป็นต้น

พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนว่า ไม่มีความชั่วอะไรที่คนโกหกจะทำไม่ได้

ทักษิณถูกกล่าวหาว่าทำชั่วหลายประการ เป็นการกระทำผิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ส่วนแบลร์ไม่มีเรื่องดังกล่าว

แบลร์ถูกลูกพรรคของตนเองคือพรรคแรงงานอังกฤษกดดันบังคับให้ลาออก เป็นการลาออกตามครรลองประชาธิปไตย และใช้กลไกของพรรค ตามความรู้สึก และ/หรือมติของสมาชิกพรรค ไม่ต่างกับกรณีของแธตเชอร์ นางสิงห์เหล็กผู้นำพรรคอนุรักษนิยม ที่ถูกพรรคกดดันให้ออกจนน้ำตานองหน้า ทั้งๆ ที่นำพรรคชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย หลังพิชิตอาร์เจนตินาในสงครามฟอล์กแลนด์

ส่วนทักษิณนั้นถูกขบวนการประชาชนขับไล่อย่างยืดเยื้อยาวนานและต่อเนื่อง ทักษิณนอกจากจะไม่ฟังแล้ว ยังสยบองค์กรตรวจสอบต่างๆ และขบวนการยุติธรรมมิให้มาแตะต้อง ด้วยการใช้ฝูงชนจัดตั้งและกลไกอำนาจของรัฐ จนในที่สุดทหารก็ต้องทำการปฏิวัติยึดอำนาจ

ข้อแตกต่างสำคัญที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ อังกฤษสามารถใช้กลไกของระบบพรรคการเมืองตามครรลองประชาธิปไตย แก้ไขปัญหาหรือทำการเปลี่ยนแปลงได้โดยสันติ แต่ของไทยพรรคการเมืองเป็นแต่เพียงแก๊งเลือกตั้งที่หัวหน้าสยบและจูงจมูกได้อย่างเด็ดขาด แม้กระทั่งการงดเว้นกระทำหน้าที่นิติบัญญัติก็ไม่วาย ถึงรัฐบาลไทยจะมาจากการเลือกตั้งก็หาได้เป็นประชาธิปไตยไม่ เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย

ตอนที่ผมเขียนบทความข้างต้น ผมมีความแน่ใจว่าทั้งทักษิณและแบลร์จะต้องไปก่อนหมดเทอมอย่างแน่นอน

แล้วผมคิดอย่างไรเรื่องอภิสิทธิ์กับบราวน์ ขอตอบว่า ผมสังหรณ์ใจว่าจะคล้ายๆ กัน แต่ไม่เหมือนกันเสียเลยทีเดียว เพราะกาลเวลาเปลี่ยน วัตถุปัจจัยและเหตุการณ์แวดล้อมต่างๆ ไม่เหมือนเดิม และวิธีแก้ปัญหาที่ทั้ง 2 นายกรัฐมนตรีอาจจะนำมาใช้ มิใช่ว่าจะไม่มี ที่จริงมีอยู่หลายอย่าง แต่ใครจะนำอะไรมาใช้ ทันการณ์หรือได้ผลหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

บราวน์นั้นสืบอำนาจต่อจากภายในพรรคของตนเอง ส่วนอภิสิทธิ์นั้น เกิดจากรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ ถูกโจมตีอย่างรุนแรงหนักหน่วงโดยพันธมิตร กฎหมายและศาลที่เล่นงานจนพรรคแกนนำและพรรคร่วมจนคงสภาพอยู่ไม่ได้ จึงเกิดสิ่งที่คอการเมืองเรียกว่า “เตะหมูเข้าปากหมา” พรรคประชาธิปัตย์ได้พลังประชาชนแตกแถวมีเพื่อนเนวินเป็นแกน อาศัยทุนการเมืองและทหารแบบ “กงจักรกวนน้ำเน่า” เข้ามาเสริม เป็นเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้

ในขณะที่บราวน์มีความชอบธรรมในการขึ้นมาสู่อำนาจอย่างเต็มที่ รัฐบาลอภิสิทธิ์ถูกพรรครัฐบาลเก่าและขบวนการจัดตั้งเสื้อแดงที่เป็นทาสทักษิณ รวมทั้งปัญญาชนง่อยและพระพยอมประณามว่าขาดความชอบธรรมเพราะไปปล้นและฉ้อฉลอำนาจมา ทั้งๆ ที่ตนมีที่นั่งในสภาไม่พอ คำกล่าวหานี้ฟังไม่ขึ้น เพราะอภิสิทธิ์มาจากการเลือกตั้งและขบวนการจัดตั้งเยี่ยงเดียวกับรัฐบาลสมัครและสมชายทุกประการ กับทั้งผู้กล่าวหามีความทรงจำกุด จึงลืมว่ารัฐบาลกิจสังคมของคึกฤทธิ์ พรรคกิจสังคมที่เป็นแกน ซึ่งมีร.ต.ท.ทักษิณมาเป็นตำรวจรับใช้หน้าห้องรัฐมนตรีนั้น มี ส.ส.แค่ 14 คน

ถ้าจะเปรียบกับคนไข้ อาการของบราวน์กับอภิสิทธิ์ขณะนี้ร่อแร่ นอนแบบอยู่ในรถพยาบาลเปิดหวอลั่นทั้งคู่ เมื่อถึงโรงพยาบาลใครจะเข้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือห้องดับจิต ก็ยังไม่แน่

รัฐมนตรีสำคัญๆ ของบราวน์ลาออกแล้ว 4-5 คน และอาจจะมีอีก ภายในพรรคก็เกิดความเคลื่อนไหวว่า ถ้าหากบราวน์ดื้อดึงไม่ยอมลาออกดีๆ ก็อาจจะมีการเสนอให้เลือกตั้งหัวหน้าใหม่ ซึ่งบราวน์อาจจะพ่ายคู่ชิงที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใครก็ได้ ทั้งฝ่ายค้านที่นำโดยคาเมรอน รุ่นน้องของอภิสิทธิ์ 2 ปีที่โรงเรียนมัธยมอีตัน และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ตัวเก็งนายกฯ คนใหม่ ก็ออกข่าวโจมตีทุกวัน การเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งอยู่ในเขตยึดครองของเลเบอร์พรรคบราวน์ก็แตกทะลาย แพ้พรรคคอนเซอร์เวทีฟของคาเมรอนหมดไม่เหลือหรอ เป็นเรื่องสนุกที่ผมอยากเล่าสู่กันฟังมาก

สาเหตุเรื่องนี้ก็เพราะบรรดารัฐมนตรีและ ส.ส.ซึ่งความจริงก็ทุกพรรค พากันใช้เงินตอบแทนค่าที่พรรค ค่ายานพาหนะ ค่าซ่อมบ้าน ซื้อและเช่าสิ่งของบำเรอตนเองและพวกพ้องอย่างมโหฬารบานตะไท ถึงจะไม่ผิดกฎหมายถึงติดคุกติดตะราง ก็เป็นการผิดจริยธรรม ผิดศีลธรรม ผิดโคดออฟคอนดัก (codes of conduct) ของสภาที่วางไว้ ประธานสภาล่างก็ถึงกับต้องลาออกไป ดังที่ผมเคยเล่าให้ฟัง

ขณะนี้เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปสภาและรัฐบาลกระหึ่มไปทั้งประเทศ

บราวน์ออกมายืนยันหัวเด็ดตีนขาดจะไม่ยอมลาออก จะนำพารัฐบาลและประเทศไปสู่จุดหมายปลายทางที่ปฏิญาณไว้ให้จงได้

ครั้นเปรียบเทียบกับของเราดู รัฐมนตรีต่างก็เกาะเก้าอี้เป็นตุ๊กแก ใครจะด่าจะว่าอย่างไรก็ไม่ยอมออก ที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่อย่างเดียวก็เห็นจะเป็นโควตาของแต่ละพรรค ซึ่งนายกฯ ก็เคารพยิ่งกว่าศาสนา นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นความผิดที่ศาลรับฟ้องแล้ว ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วตั้งแต่ประธานสภาลงมาถึง ส.ส.ที่กระทำผิดกฎหมายชัดแจ้งแล้ว เช่น กรณีเสื้อแดงที่ชุมนุมผิดกฎหมายถึงขั้นกบฏทำลายการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือเตะถีบด่าทอโกหกในสภา ฯลฯ ทั้งอภิสิทธิ์และผู้นำการเมืองไทยทุกคนทุกพรรคดูเหมือนจะไม่มีผู้ใดใส่ใจ เสมือนกับจะเฝ้าแต่นับตัวเลขซึ่งเป็นสมการอำนาจ และต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันอยู่

สำหรับผมเอง ถึงแม้จะเห็นว่า ทั้งการเข้าสู่อำนาจเป็นรัฐบาล ทั้งการดำรงอยู่ และทั้งผลงานของรัฐบาลจะเป็นการเมืองเก่า 100% ไม่สง่างาม ไม่น่าศรัทธา ผมได้ยินคนบ่นเรื่องพัทยาล่ม ความกล้าๆ กลัวๆ ของนายกฯ เรื่องย้ายดอนเมือง เรื่องรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 เรื่องประมูลข้าวและข้าวโพด เรื่องข้าราชดียังถูกกดขี่ และคนไม่ดียังเฟื่องฟู เพราะนายเก่ายังมีอิทธิพลอยู่

กระนั้น ผมก็เห็นว่าจำเป็นจะต้องสนับสนุนให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ต่อให้นานที่สุด เพราะมิฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าการยุบสภา ลาออก หรือสิ้นชีวิตของนายกฯ ก็ดี เมืองไทยจะมีทางเลือกเพียง 2 อย่างคือการกลับมาของระบอบทักษิณในสภาหรือการปฏิวัติเท่านั้น

แต่อภิสิทธิ์จะต้องเป็นอภิสิทธิ์คนใหม่ จะเป็นนายกรัฐมนตรีนกขุนทองหรือหนุ่มง่อยในอุ้งมือของประวิตรและเนวินหาได้ไม่

ต้นสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพบูชาของบ้านเมือง เป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และล้วนแต่สนับสนุนอภิสิทธิ์ทั้งสิ้น ได้เรียกผมไปหาเพื่อจะแสดงความกังวลว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์หรือตัวนายกฯ อภิสิทธิ์เองจะเอาบ้านเอาเมืองไว้ไม่อยู่ เพราะมีข้อมูลส่อให้เห็นว่า นายกฯ เป็นเบี้ยล่างของพรรคร่วมจนเกินไป ซ้ำพรรคแกนมีพฤติกรรมส่อไปในทางโกงกินไม่ต่างกับพรรคอื่นอีกด้วย มีหลายอย่างที่นายกฯ ควรรีบปฏิบัติตามกฎหมายก็กลับเตะถ่วงหรือแกล้งไม่รับรู้ไม่ต่างอะไรกับนายกฯ อื่นๆ

ข้อความที่ผมนำมาเขียนนี้อ่อนกว่าข้อความที่ผมได้ยินหลายเท่า

ผมเลยยังไม่ได้นำนายกฯ อภิสิทธิ์มาประกบกับดร.อมรตามที่สัญญาไว้

ดร.อมรบอกว่าเมืองไทยขาดอยู่ 2 อย่าง คือ (1) ความรู้ (2) ผู้นำที่เป็นรัฐบุรุษ กล้ารักษากฎหมายและนำการเปลี่ยนแปลง

ผมว่า ดีไม่ดีบราวน์อาจจะไปก่อนอภิสิทธิ์ แต่บราวน์ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง จนกระทั่งถึงวันนี้ที่ต้องเจอมรสุมการเมืองอย่างแสนสาหัส ได้แสดงความเป็นรัฐบุรุษที่กล้าพูด กล้าทำ และกล้านำการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะผมเชื่อว่านายกฯ อภิสิทธิ์ยังมีโอกาสที่จะถ่ายทอดความกล้าหาญจากการสัมผัสมือบราวน์มาหยกๆ ยังอุ่นอยู่

ผมขอยืมคำพูดของพลอากาศเอกเทอดศักดิ์ สัจจรักษ์มาว่า “กล้าๆ หน่อย ท่านนายกฯ”

ผมอยากเห็นท่านอยู่และไปอย่างรัฐบุรุษ

กำลังโหลดความคิดเห็น