xs
xsm
sm
md
lg

ประธานสภาผู้แทนฯอังกฤษลาออก กรณีฉาวส.ส.เบิกค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ไมเคิล มาร์ติน ประธานสภาผู้แทนราษฏรอังกฤษประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันอังคาร (19) หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวการเบิกเงินค่าใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายของเหล่าส.ส. จนทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุด และจุดกระแสความไม่พอใจอย่างหนักในหมู่ชาวอังกฤษผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ทั้งนี้มาร์ตินจะกลายเป็นบุคคลแรกที่ถูกกดดันให้ออกจากตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้นับตั้งแต่ปี 1695 เป็นต้นมา หลังจากที่เขาสูญเสียอำนาจในเชิงศีลธรรมในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และมี ส.ส. ถึง 23 คนลงนามในญัตติไม่ไว้วางใจในตัวเขา
ความไม่พอใจของบรรดา ส.ส. มาจากการที่มาร์ตินถูกบอกว่าปล่อยปละไม่แยแสกับเสียงเรียกร้องให้แก้ปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายสุรุ่ยสุร่าย จนกระทั่งปัญหาบานปลายถึงขนาดนี้
ด้านนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ก็บอกว่ามีความจำเป็นที่การเมืองของอังกฤษจะต้องเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบจากภายนอกมากขึ้นกว่าเดิม
"รัฐสภาของอังกฤษไม่อาจทำตัวเป็นเหมือนสโมสรของเหล่าสุภาพชนบางแห่งที่สมาชิกเป็นผู้สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นและใช้บังคับเป็นการภายในกันเอง" บราวน์แถลง
หลังจากนั้นผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ก็ได้ตกลงกันว่าจะปรับเปลี่ยนระบบการเบิกเงินเป็นการชั่วคราว อาทิ จะมีการจำกัดรายการต่างๆ ที่ ส.ส. จะสามารถเบิกสำหรับบ้านหลังที่สองของตนด้วย โดยที่ยังจะต้องมีการพิจารณาทบทวนและทำการเปลี่ยนแปลงกันต่อไปอีก
มาร์ตินแถลงสั้นๆ ในวันอังคารว่า "เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพให้ดำรงอยู่ต่อไป ผมจึงได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏร โดยมีผลในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน"
มาร์ตินเคยเป็นคนงานในโรงงานผลิตแผ่นโลหะและเป็นนักเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน นอกจากการลาออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏรแล้ว เขายังจะลาออกจากการเป็น ส.ส. ของเมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ด้วย ซึ่งจะทำให้รัฐบาลพรรคเลเบอร์ของบราวน์ประสบปัญหาเพราะต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมในเขตดังกล่าว ซึ่งแม้จะเป็นฐานเสียงของพรรคมาตลอดแต่อาจจะถูกต่อต้านจากกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นนี้
ข่าวการเบิกจ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายของพวก ส.ส. ซึ่งทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ค่าซ่อมแซมสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส หรือแม้แต่ค่าซ่อมคฤหาสน์ของตน กลายเป็นเรื่องพาดหัวในหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษเป็นเวลาต่อเนื่องเกือบสองสัปดาห์ และทำให้ชาวอังกฤษพากันโกรธแค้นเพราะประเทศกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุดนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
พรรคคอนเซอร์เวทีฟที่เป็นฝ่ายค้าน เรียกร้องให้บราวน์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่โดยด่วน ทว่าบราวน์นั้นไม่เห็นด้วย แต่เสนอให้มีการปฏิรูประบบการเบิกจ่ายเงินใหม่ โดยจะมีแผนจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานของรัฐสภาขึ้นชุดหนึ่งด้วย บราวน์ระบุอีกว่า ส.ส. ไม่ควรได้รับอนุญาตให้ตั้งค่าใช้จ่ายของตนเองและควรให้คณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบใบเสร็จการเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในรอบสี่ปีที่ผ่านมาด้วย
อย่างไรก็ตาม พรรคคอนเซอร์เวทีฟแสดงท่าทีชัดเจนว่า ยังจะอาศัยกระแสความไม่พอใจของประชาชนในเรื่องนี้ มากดดันให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น