xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ รู้ทัน การเงิน:ทำไมดอกเบี้ยเงินกู้จึงลดลงน้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความนี้เป็นฉบับที่ 2 ที่พยายามตอบคำถามว่าเพราะเหตุใดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จึงลดลงน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินฝาก โดยฉบับที่แล้วผมพูดถึงเรื่องการที่ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงน้อยไม่ได้เกิดจากการผูกขาดหรือการรวมตัวของธนาคารพาณิชย์ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากโครงสร้างของระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรงอยู่แล้วจากการเปิดเสรีภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540/41 ทำให้สถาบันการเงินต่างประเทศถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ไทยในสัดส่วนที่สูงเกือบทุกแห่ง นอกจากนี้การที่ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ทำให้อุปทานของเงินออมมากกว่าอุปสงค์ของเงินออมส่งผลให้ธนาคารต้องแข่งขันเพื่อแย่งลูกค้าที่มีจำกัด ฉบับนี้ผมจะอธิบายว่าที่จริงแล้วการเข้าใจว่าว่าธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงน้อย และลดลงน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และโครงสร้างของเงินฝากที่เปลี่ยนไปภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อที่น้อยกว่าเงินฝาก ทั้ง 3 ปัจจัยทำให้รายรับดอกเบี้ยจริงของธนาคารลดลงเร็วกว่ารายจ่ายดอกเบี้ย นั่นคือรายรับดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ลดลงไม่ได้เพิ่มขึ้น

ประเด็นแรก ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อัตราดอกเบี้ย Minimum Loan Rate (MLR) ในการวัดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ตามปกติธนาคารไม่ได้คิดดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ MLR ส่วนใหญ่จะเป็น MLR บวกหรือลบ โดยเฉพาะในกรณีที่มีสภาพคล่องสูงมากและการแข่งขันสูงเช่นปัจจุบัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่ต่ำกว่า MLR ดังนั้น ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จึงต่ำกว่าที่ระดับ MLR การใช้ MLR แทนดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉพาะในการเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อน

ประเด็นที่ 2 โครงสร้างเงินฝากมีการเปลี่ยนแปลงไปมากภายหลังวิกฤติปี 2540/41 ก่อนเกิดวิกฤติ ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากส่วนใหญ่ในรูปเงินฝากประจำ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 75-80 ขณะที่ในปัจจุบันลดลงไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ที่เหลือคือเงินฝากออมทรัพย์ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงินฝากเผื่อเรียกที่ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 20 มาเป็นร้อยละ 40 การที่มีสัดส่วนของเงินฝากดังกล่าวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารไม่สามารถลดต้นทุนทางการเงินได้มากนัก โดยธนาคารได้ลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลงจากประมาณร้อยละ 0.75 เหลือร้อยละ0.50 หรือลดลงเพียง 0.25 เท่านั้น

นอกจากทั้ง 2 ประเด็นดังที่กล่าวแล้ว โดยปกติธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อน้อยกว่าเงินฝาก เนื่องจากต้องกันสำรองไว้ส่วนหนึ่งตามกฎหมายซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6 ของเงินฝาก และโดยส่วนใหญ่ ธนาคารพาณิชย์จะไม่ปล่อยสินเชื่อทั้งหมดที่ปล่อยได้ตามกฎหมาย (ร้อยละ 94 ของเงินฝากหลังจากกันสำรองตามกฎหมายแล้ว) แต่จะลงทุนส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและมีความมั่นคงที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เช่น พันธบัตรรัฐบาล การลงทุนดังกล่าวจะได้อัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ค่อนข้างมากเพราะมีความเสี่ยงต่ำกว่า การที่ต้องลงทุนเช่นนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่การให้สินเชื่อเป็นการลงทุนระยะยาวที่ไม่มีสภาพคล่อง แต่ผู้ฝากเงินอาจจะถอนเงินสดเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ ธนาคารจึงต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อบริหารสภาพคล่องให้พอเพียงสำหรับผู้ต้องการถอนเงิน นอกจากนี้สัดส่วนของสินเชื่อต่อเงินฝากยังขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาเช่นในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้น้อย โดยในปัจจุบันธนาคารปล่อยสินเชื่อเพียงประมาณร้อยละ 84 ของเงินฝากเท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่เมื่อมีการปรับลดดอกเบี้ย จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยของธนาคารลดลงเร็วกว่าดอกเบี้ยจ่าย ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยโดยรวมที่ได้จะต่ำกว่าดอกเบี้ย MLR ที่ประกาศค่อนข้างมาก

แม้ว่าได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้วร้อยละ 1.50 จนมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.25 ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลงประมาณร้อยละ 1.00 – 1.10 และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR ลงร้อยละ 0.50 – 0.75 ถ้าดูเผินๆจะดูเสมือนว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินฝาก น่าจะทำให้ธนาคารได้ส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ทว่าต้องไม่ลืมว่าธนาคารปล่อยสินเชื่อได้น้อยกว่าเงินฝากที่ระดมมาได้มาก อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉลี่ยที่ธนาคารได้รับจริงก็ไม่ได้สูงเท่ากับ MLR ที่ประกาศไว้ และต้นทุนการเงินก็ไม่ได้ลดลงมากดังที่เข้าใจกัน ข้อมูลผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าธนาคารไม่ได้กำไรเพิ่มขึ้น โดยธนาคารทั้ง 10 แห่งดังกล่าวมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (รายได้จากดอกเบี้ยรับ-ดอกเบี้ยจ่าย) ในไตรมาส 1 ปีนี้ ลดลงเหลือ 56,618 ล้านบาทจาก 62,649 ล้านบาทในไตรมาสก่อน นอกจากนี้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่เกิดขึ้นจริง (Net Interest Margin: NIM) ก็ลดลงจากไตรมาส 4 ของปีก่อนที่ร้อยละ 4.35 เหลือร้อยละ 3.82 ในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในไตรมาส 2 และต่อเนื่องอีกในอนาคต

จากข้อมูลจริงและการวิเคราะห์ชี้ว่า อันที่จริงรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่เกิดขึ้นจริงของธนาคารพาณิชย์ลดลงไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่มีการเข้าใจกัน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมธนาคารพาณิชย์จึงไม่สามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เท่ากับหรือมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากอย่างที่คนส่วนใหญ่ต้องการเห็น

                                                  bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น