xs
xsm
sm
md
lg

พรก.กู้4แสนล.ไม่ขัดรธน.เอกชนมั่นใจช่วยฟื้นศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตุลาการศาลรธน.มีมติเอกฉันท์พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน ไม่ขัด รธน. ชี้ภาวะเศรษฐกิจประเทศเข้าขั้นวิกฤต จำเป็นต้องมีมาตราการป้องกันปัญหาลุกลาม คำนูณ” เล็งยกมือสวน พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้าน หวั่นกู้เงินโปะ"ไทยเข้มแข็ง" ถือเป็นการจงใจข้ามขั้นตอนของสภา ทำเสียวินัยการคลัง "เทพเทือก" ระบุ ไม่คิดว่าฝ่ายค้านตีรวน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน ชี้เป็นการทำหน้าที่ของแต่ละคน ด้านกระทรวงการคลังรอบคอบ รอสภารับทราบ พ.ร.ก.ก่อนเดินหน้ากู้ เฉพาะปีนี้ 2 แสนล้าน ล็อตแรกออกพันธบัตรออมทรัพย์ 5 ปี 3 หมื่นล้าน ขายรายย่อยสูงสุดไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท ส่วนนายแบงก์-นักวิชาการ-บริษัทอสังหาฯ มั่นใจช่วยฟื้นเศรษฐกิจ-สร้างความเชื่อมั่นได้

วานนี้ ( 3 มิ..ย.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 (พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท) ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่ง และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสอง
ทั้งนี้พ.ร.ก.ดังกล่าว ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ ส.ส. ที่เข้าชื่อจำนวน 99 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 185 ซึ่งก่อนมีคำวินิจฉัย คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจาและลงมติโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางมารอรับฟังผลการวินิจฉัย
โดยเนื้อหาในคำวินิจฉัยระบุว่า ในประเด็นการตรา พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้าน ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้ว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบ อีกทั้ง ปัญหาการเมืองภายในประเทศก็มีความสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ลงทุน ตลอดจนเกิดความล่าช้าในการผลักดันโครงการต่างๆของรัฐ ระบบเศรษฐกิจเกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออกและนำเข้า ก็ลดลงอย่างมาก รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้สูงสุดก็ลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศขาดความมั่นใจในสวัสดิภาพและความปลอดภัย
สิ่งบ่งชี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรง คือ มูลค่าการส่งออกของสินค้าไทย หดตัวลงอย่างรวดเร็ว รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ภาคธุรกิจปิดการมากขึ้น ทำให้ปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น หนี้เสียมีแนวโน้มสูงขึ้น กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้จีดีพีหดตัวลงอย่างมาก จากปัจจัยต่างๆ ทำให้รายได้ที่จัดเก็บน้อยกว่าประมาณการที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง ถึงความสามารถในการใช้จ่ายและจัดทำบริการสาธารณะ แม้ว่ารัฐจะได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการทางภาษี มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก มาตรการ ลดภาระค่าใช้จ่าย
ของประชาชน การจัดทำงบประมานรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาน 2552 หรือเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ประกอบเหตุผลในการตรา พ.ร.ก. ย่อมเห็นได้ว่าการที่คณะรัฐมนตรี ตรา พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพ.ศ. 2552 ขึ้นมาก็เพื่อแก้ไข วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ มิให้ตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐในฐานะที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่จะช่วยสร้างกำลังซื้ออย่างเร่งด่วนในระระบบ ในช่วงที่กำลังซื้อจากทั้งในและต่างประเทศหดตัวลง จึงจำเป็นต้องรีบดำเนินมาตรการ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะลุกลามไปทุกภาคส่วน
ส่วนประเด็นการตราพ.ร.ก.นี้ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 284 วรรคสองหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงสภาพปัญหาความมั่นคงในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงถือเป็นกรณีที่มีความฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่เป็นกรณีความฉุกเฉินที่มีความจำเป็นอันรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวแล้ว ประกอบสาระสำคัญและกรอบการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ยังไม่มีมูลกรณีให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้ตรา พ.ร.ก.ขึ้นมาโดยไม่สุจริตหรือใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่า การตรา พ.ร.ก.นี้ขึ้นมาเป็นกรณีความฉุกเฉินที่มีความจำเป็นอันรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสองแล้ว

"คำนูณ"ค้านพ.ร.ก.กู้เงินโปะ'ไทยเข้มแข็ง'

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทว่า ตนเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตนในฐานะ ส.ว.คนหนึ่ง ก็จะได้แสดง ความคิดเห็นและลงมติไม่อนุมัติตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญมาตราเดียวกันนี้ให้ไว้ต่อไป ซึ่งเท่าที่ทราบ วุฒิสภาจะมีการประชุมเพื่อการพิจารณาอนุมติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดัง
กล่าวในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ โดยก่อนหน้านั้น จะเป็นการประชุมพิจารณาใน สภาผู้แทนราษฎร สาเหตุที่ไม่เห็นด้วยเพราะถือว่ารัฐบาลจงใจหลีกเลี่ยงการจัดทำโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จึงไม่บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี
วัตถุประสงค์การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 วงเงินกลมๆ ประมาณ 2 แสนล้าน เพื่อชดเชยเงินคงคลัง ส่วนที่ 2 อีกกลมๆ จำนวนประมาณ 2 แสนล้าน เพื่อทำโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งมียอดเงินทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องกู้เงินทั้งหมดรวม 6 แสนล้านบาท โดยที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาทอยู่ใน พ.ร.บ.ชื่อเดียวกันกับ พ.ร.ก.”
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า การใช้เงินในส่วนที่ 1 เพื่อชดเชยเงินคงคลัง 2 แสนล้านบาท แม้จะมีข้อสงสัยให้วิพากษ์วิจารณ์ได้บางประการ แต่โดยภาพรวมแล้วเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ ซึ่งตนยอมรับได้ แต่เงินในส่วนที่ 2 ที่จะนำไปใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 นั้น เห็นว่า มีความไม่ชอบมาพากล และจะกระทบต่อวินัยการคลังของประเทศในระยะยาว โดยมีเหตุผลหลักๆ ในเบื้องต้น 2 ประการ
ประการแรกซึ่งสำคัญที่สุด ก็คือ โครงการต่างๆ ที่นำมารวมอยู่ในโครงการไทยเข้มแข็ง เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถบรรจุไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ที่รัฐบาลกำหนดจะเสนอต่อรัฐสภาในสมัยวิสามัญ 15-23 มิ.ย.นี้ พร้อมกับ พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ฉบับรวม 8 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐสภามีโอกาสศึกษาโครงการ และตรวจสอบความคุ้มค่าของการลงทุน แต่รัฐบาลกลับไปตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ลง 2 แสนล้านบาท แล้วโยกมาบรรจุใน พ.ร.ก.ดูเหมือนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภา
ประการต่อมา การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะทำให้วงเงินงบประมาณปี 2553 น้อยกว่างบประมาณปี 2552 บวกด้วยงบกลางปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินของประเทศ ไม่เคยมีมาก่อน และจะเปิดโอกาสให้รัฐบาลต่อไป ใช้เป็นเหตุผลในการเสนอขอเพิ่มวงเงินงบประมาณ โดยออกเป็นพ.ร.ก.เช่นเดียวกับรัฐบาลนี้
" การกระทำเช่นนี้ น่าจะส่งผลถึงวินัยการเงิน และการคลังของชาติ ตลอดถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ดังที่สถาบันจัดอันดับระดับนานาชาติบางแห่ง ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลว่าจะให้ความช่วยเหลือ สถาบันการเงินในกรณีที่เกิดปัญหา ที่เขาไม่ได้พูดให้ชัดเจน คือ เพราะรัฐบาลมีหนี้สินมหาศาล และกำลังบริหารการคลังของชาติอย่างสุ่มเสี่ยง ขาดวินัย ซึ่งตนอยากจะพูดแรงๆ ว่า การที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภา ออกพ.ร.ก.กู้เงินเช่นนี้ ถือว่าเป็นการใช้เงินอย่างดิบ ๆ หรือป่าเถื่อน และสร้างตัวอย่างที่เลวขึ้นมา "นายคำนูณกล่าวและว่า
ในตอนนี้ยังไม่ลงลึกไปถึงรายละเอียดของโครงการไทยเข้มแข็ง ว่าแท้จริงแล้วเป็น “ไทยเข้มแข็ง” หรือ “ใครเข้มแข็ง” หรือ “นักการเมืองเข้มแข็ง” กันแน่ ยังไม่พูดถึงว่านักการเมืองจะได้ประโยชน์ จากการนำไปหาเสียงอย่างไร และผู้รับเหมาจะจ่ายค่าคอม มิชชัน 10-20 เปอร์เซ็นต์ ให้ใครหรือไม่

"เทพเทือก"ชี้ฝ่ายค้านอย่าตีรวน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการกู้เงิน 4 แสนล้านไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า ต้องเป็นไปตามกติกา วันก่อนรัฐบาลเสนอพ.ร.ก.เข้าสภา แต่ฝ่ายค้านบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เมื่อศาลพิจารณาแล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญสภาก็ต้องเดินหน้า พิจารณา
พ.ร.ก.นี้ต่อไป
" เมื่อรัฐบาลประกาศเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณางบประมาณ ก็คงจะพิจารณาพ.ร.ก.ไปด้วยเลย ส่วนเรื่องที่ฝ่ายค้านดูเหมือนจะตีรวนนั้น ตรงนี้อย่าไปคิดว่า เขาตีรวน คิดว่าเขาทำหน้าที่ของเขา"

"เพื่อไทย"อ้างยังติดใจพ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้าน

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยยังติดใจในเรื่องของงบประมาณการลงทุนในพ.ร.ก. ที่รัฐบาลกำหนดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนจำนวน 2.89 แสนล้านบาท เพราะเมื่อดูรายละเอียดตัวเลขในการลงทุนนั้นจะพบว่า รัฐบาลไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดชัดเจน เช่น โครงการปลูกต้นไม้ ซ่อมบ้านพักอาศัยข้าราชการ ซื้อเตียงผู้ป่วยเพิ่ม เป็นต้น อีกทั้ง การใช้จ่ายงบประมาณยังระบุว่าจะใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2553 เท่ากับเป็นการล่าช้า ไม่สามารถแก้ไขวิกฤติได้ทันเวลา ที่สำคัญคือ โครงการเหล่านี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยได้จัดเตรียมทีมอภิปราย เพื่อสอบถามเมื่อพ.ร.ก.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 15 มิ.ย.แล้ว

ปชป.วอนทุกฝ่ายร่วมมือฟื้นศก.

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า กระทรวงการคลังมีอำนาจในการกู้เงินฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จำนวน 4 แสนล้านบาท ว่า จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นโดยรวมของประเทศ และขั้นตอนต่อไปจากนี้คือ อยากให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทยให้พ้นจุดต่ำสุด โดยการใช้พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นเครื่องมือและกลไกในการลงทุน ภาคเศรษฐกิจ ด้วยการอนุมัติให้ผ่านสภา ซึ่งรัฐบาลโดยการนำของพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าว มีความสำคัญต่อการแก้ไขวิกฤตของประเทศ โดยเฉพาะจะทำให้มีการจ้างงานประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง รวมถึงมาตราการต่างๆเพื่อลดค่าใช้
จ่าย ลดภาระครัวเรือนที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว และรัฐบาลจะเดินหน้าทำต่อไป โดยจะอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วรวมเป็นหลัก

ทรงโปรดเกล้าฯเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ สมควรที่จะเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 128 และมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2552 ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2552 โดยทรงให้ไว้ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2552 เป็นปีที่ 64 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

คลังรอกม.กู้เงินเข้าสภาก่อนเดินหน้ากู้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูณมีมติเอกฉันท์ว่า พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง โดยหลังจากนี้
กระทรวงการคลังจะต้องนำ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การประชุมรัฐสภาเพื่อให้การรับรองในวันที่ 15-16 มิถุนายน นี้ หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจึงจะสามารถกู้เงินได้ตามแผนที่วางไว้
ทั้งนี้ ตามแผนการกู้เงิน 4 แสนล้านบาท นั้นจะแบ่งเป็นการกู้เงินภายในปีนี้ 2 แสนล้านบาทก่อน หลังจากนั้นจะทยอยกู้เงินเพิ่มเติมในปีถัดไป โดยการกู้เงินล็อตแรกจะเริ่มด้วยการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อไทยเข้มแข็ง อายุ 5 ปี วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โดยจะให้สถาบันการเงินเข้ามาเป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายให้ประชาชน และจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเล็กน้อย เพื่อเป็นทางเลือกในการออมให้ประชาชน และจำกัดวงเงินซื้อขั้นสูงที่ 10 ล้านบาท ต่อคน เพื่อให้รายย่อยสามารถเข้าถึง
นอกจากนี้ จะกู้เงินอีก 1.7 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ จากตลาดเงินและสถาบันการเงิน ในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน( พีเอ็น) อัตราดอกเบี้ยลอยตัว อายุ 3 ปี และการออกพันธบัตรระยะยาว รวมถึงการออกตั๋วเงินคลังอีกตามความเหมาะสมของช่วงเวลา

ระบุจังหวะกู้เหมาะดอกเบี้ยถูก

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า การกู้เงิน 2 แสนล้านบาทภายในปีนี้จะต้องพิจารณาไม่ให้กระทบต่ออัตราผลตอบแทน(Yield Curve)ตลาดตราสารหนี้ เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภาระต่อรัฐบาลและเอกชนด้วย และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นจะกระทบการลงทุนด้วย โดยคาดว่า ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลจะเท่ากับปีที่ผ่านมาคือ 4 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาออกไปแล้ว 3 แสนกว่าล้าน เหลือที่จะอีกไม่กี่หมื่นล้านบาท
“เราพยายามกำหนดรูปแบบการระดมทุนให้เหมาะสมกับสภาพตลาด เพราะดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้เคยแกว่งมากไปครั้งหนึ่งช่วงที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะกู้เงิน 8 แสนล้านบาท ทำให้กระทบต่อการออกหุ้นกู้แอกชนด้วย ดังนั้นเราต้องมาดูว่า หากเป็นไปได้ก็จะเป็นการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์โดยตรง จากสภาพคล่องที่มีอยู่มากและ
ดอกเบี้ยของรัฐก็จะต่ำสุดอยู่แล้ว” นายจักรกฤศฏิ์กล่าว.

นายแบงก์-นักวิชาการ ชี้อยู่ในภาวะจำเป็นต้องกู้

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ประสบความยากลำบาก ที่จะให้ภาคธุรกิจเอกชนเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การดำเนินการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้น จะต้องพิจารณาใน 2 เรื่องหลัก คือ การดำเนินการในลักษณะใดๆ ก็ตาม รัฐบาลควรดำเนินการในระยะหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้เอกชนกลับมาทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามปกติ และในปริมาณการใช้เงินของรัฐบาลนั้น ต้องดำเนินการตามสมควร โดยไม่เป็นภาระต่อรัฐบาลในอนาคต
"ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องที่ใช้จ่ายเงิน และถ้าหาก พ.ร.ก.กู้เงินจะไม่ผ่าน ฯ แต่รัฐบาลก็สามารถที่จะออกเป็น พ.ร.บ.ได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่การใช้เงินมากกว่า" นายโฆสิต กล่าวถึงจุดเสี่ยงของการการจัดสรร
ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลให้มากขึ้น เพราะเรื่องดังกล่าวหลายฝ่ายจับตามองและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว และการที่นายกรัฐมนตรีจะให้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าว นับเป็นเรื่องที่ดี
เพราะเมื่อการกู้เงินได้รับอนุมัติ รัฐบาลจะได้รีบวางแผนใช้เงินกู้
“คาดว่า จะมีการใช้เม็ดเงินได้ประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท และจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้พอสมควร แม้ระยะเวลาใช้จ่ายเงินค่อนข้างสั้น เพราะเป็นช่วงไตรมาส 4 ของปี และเมื่อรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของประชาชนจะกลับมาดีขึ้น และกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น”
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย มองว่าเป็นเรื่องดีต่อเศรษฐกิจ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเดือน ส.ค.นี้
ทั้งนี้ การกู้เงินดังกล่าวของรัฐบาล เห็นว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมแล้ว เพื่อที่จะได้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ทำให้ให้เกิดการจ้างงานและการขยายการลงทุน การผลิต และเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวเพียง 2.5-3.5%

อสังหาฯมั่นใจเงินเข้าสู่ระบบ-จ้างงานเพิ่ม

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่ามติของศาลรัฐธรรมนูญในการ ผ่านร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท จะส่งผลดี 2 ด้านคือ เพิ่มการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างกับภาคเอกชน ปริมาณเงินจะไหลหมุนเวียนไปสู่ประชาชน และนำไปสู่ภาคครัวเรือนจากการจ้างงานในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลเตรียมจะนำเงินกู้ดังกล่าวไปลงทุน
ผลดีอีกส่วนหนึ่ง คือ ในด้านจิตวิทยา จะทำให้ประชาชนและภาคเอกชน มีความเชื่อมั่นและมีความมั่นใจว่า จะเกิดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลแน่นอน ทั้งนี้ ในด้านเอกชนนั้น ในระยะสั้นคงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากปริมาณเงินดังกล่าว ยังไม่ทราบแน่นอนว่า รัฐบาลจะมีการลงทุนด้านใดบ้าง ที่จะก่อผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนอย่างชัดเจน
ส่วนผลกระทบด้านบวกที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อกลุ่มธุรกิจเอกชนนั้น ต้องรอดูในระยะยาว หลังจากที่เม็ดเงินที่มีการใช้ไปนั้น เข้าถึงกลุ่ม ประชาชนในระดับครัวเรือนแล้ว
" การผ่านร่างพ.ร.ก.เงินกู้ดังกล่าว ในเบื้องต้นช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อการทำงานด้านการเมือง เพราะสะท้อนให้เห็นว่า การยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น เป็นการตรวจสอบของฝ่ายค้าน ซึ่งทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ"
นอกจากนี้ การผ่านสภาของ พ.ร.ก. ยังถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองและรัฐสภา หากเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ ก็สามารถออกเป็น พ.ร.ก.ได้ ไม่จำเป็นต้องรอออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพียงอย่างเดียว ซึ่งต่อไปในอนาคตหากรัฐบาลเห็นว่า เรื่องใดที่เร่งด่วนก็ให้ออกเป็นพ.ร.ก.แทนพ.ร.บ .ซึ่งจะทำให้การทำงานของรัฐบาลคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น