xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:ปณิธานบำนาญแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การออมนับเป็นคุณลักษณะนิสัยพึงปรารถนาสำหรับทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมสูงอายุที่รายได้ระหว่างคนร่ำรวยหยิบมือกับคนจนข้นแค้นจำนวนมหาศาลแตกต่างกันนับสิบๆ หลัก

การเพียรผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติจึงเป็นทางออกหนึ่งนอกเหนือจากการออมโดยความสมัครใจของปัจเจกไว้ใช้ในยามชราไม่สามารถทำงานได้ หากกระนั้นในการก่อตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) สำหรับบังคับใช้กับแรงงานในระบบและนอกระบบเป็นหลักก็ยัง ‘เกาไม่ถูกที่คัน’ นัก เนื่องจากจำกัดกลุ่มเป้าหมายไว้แค่แรงงานในและนอกระบบ ไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงจะจนเจ็บตอนแก่เฒ่า เช่น แม่บ้าน ผู้พิการ ว่างงาน หรือทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง

ทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (4) ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการออมในรูปแบบต่างๆ เพื่อการดำรงชีพยามชราอย่างทั่วถึง เพื่อรองรับโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นและอายุขัยยืนยาวขึ้นด้วย

ประชาชนทุกคนจึงควรได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานจากรัฐเหมือนกัน โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นแรงงานในหรือนอกระบบอย่างที่พยายามดำเนินการอยู่ในนาม กบช.

ทั้งนี้ สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีกลไกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ดูแลเรื่องบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการเพื่อรองรับสมาชิกชราภาพดีเลิศอยู่แล้ว ต่างจากประชาชนทั่วไปที่ไม่มีแม้แต่สวัสดิการในวัยไม้ใกล้ฝั่งอันเนื่องมาจากอำนาจเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ จำกัดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ผ่านวัยแรงงานมาโดยไม่ได้ทำงานเนื่องจากความบกพร่องทางร่างกาย

กลไกการออมที่ออกแบบมาเฉพาะแรงงานจึงไม่อาจตอบโจทย์ทั้งของประเทศที่ทวีผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลที่ต้องแบกรับภาระการเงินการคลังหนักหน่วงถ้าไม่อาจขับเคลื่อนการออมเพื่อเป็นหลักประกันยามชราภาพแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งยังเสี่ยงภาวะล้มละลายสูงมากจากจำนวนเงินบำนาญที่ต้องจ่ายจริงเมื่อถึงกำหนดเวลา และการขาดธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการเหมือนดังหลายกองทุนที่นำเงินสมาชิกมาลงทุนในกิจการที่มีความเสี่ยงสูงจนขาดทุนย่อยยับ

ฉะนั้น กบช. จึงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของระบบบำนาญแห่งชาติที่เข้ามาอุดจุดอับด้อยของกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ไม่อาจรองรับความต้องการมากมายในอนาคต ด้วยแม้แต่แรงงานในระบบก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับบำนาญชราภาพ เพราะจำนวนไม่น้อยที่จ่ายเงินแก่ประกันสังคมโดยสมทบร่วมกับนายจ้างแต่มีระยะเวลาทำงานไม่ถึง 15 ปี ท้ายสุดก็หมดสิทธิการได้รับบำนาญจากประกันสังคม

รัฐบาลจึงต้องสร้างกลไกการสมทบออมและการจ่ายบำนาญพื้นฐานสำหรับประชาชนที่ออมกับ กบช. โดยยอดรวมของบำนาญที่ผู้เกษียณอายุได้รับนั้นจะแปรผันตามปริมาณการออมที่ผ่านมาของประชาชนในกองทุนฯ บวกกับบำนาญที่รัฐบาลสัญญาว่าจะให้และดอกผลตอบแทนการลงทุน ตลอดจนสมาชิกกองทุนฯ ยังควรได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามระบบบำนาญแห่งชาติที่ออกแบบไว้ ไม่ว่าจะเป็นเงินฌาปณกิจสงเคราะห์ เงินบำเหน็จตกทอด และเงินบำนาญทุพพลภาพ ด้วย

อย่างไรก็ดี ถึงจะเป็นการออมภาคบังครับ หากทว่ารัฐบาลก็ควรสร้างแรงจูงใจแก่ประชาชนด้วยการเปิดกว้างด้านทางเลือกของการลงทุนทั้งแบบเสี่ยงต่ำผลตอบแทนต่ำดังการซื้อพันธบัตรรัฐบาล และเสี่ยงสูงผลตอบแทนสูงอย่างการลงทุนในบรรษัทต่างๆ โดยต้องกำชับประชาชนที่เป็นสมาชิกเสมอว่าการลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อจะได้พิจารณาผลตอบแทนที่คาดหวังกับความเสี่ยงสูงควบคู่กันไป ก่อนเลือกทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่คาดหวังสูงสุดโดยมีความเสี่ยงต่ำสุด

ประสิทธิภาพในทางเลือกของการลงทุนจึงไม่ได้ขึ้นกับนโยบายคณะกรรมการบริหาร กบช.เพียงลำพัง หากอำนาจยังอยู่ที่ประชาชนส่วนหนึ่งด้วยว่าจะลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูงหรือน้อยตามกฎ High Risk High Return

ขณะที่ระบบบำนาญแห่งชาติจะแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม่เพียงครอบคลุมประชากรทั้งหมด ยกเว้นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มี กบข. คอยดูแลอยู่แล้วเท่านั้น ทว่ายังมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่ประชาชนวัยเกษียณ ไม่ให้มีคุณภาพชีวิตเสื่อมทรุดเมื่อเข้าสู่ภาวะทุพพลภาพหรือไม่มีรายได้ ในขณะเดียวกันก็คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการใช้ ‘เงินออมอนาคตของตนเอง’ ในช่วงวัยแรงงานมาใช้ในบั้นปลายชีวิต โดยมีรัฐสนับสนุนสมทบที่ไม่ใช่การแจกฟรีเหมือนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ถึงปัจจุบันนี้ก็ไม่เป็นไปตามคำมั่นสัญญาของฝ่ายการเมืองว่าจะให้คนแก่เฒ่าทุกคนได้รับถ้วนหน้า

การออมเพื่ออนาคตตามระบบบำนาญแห่งชาติจึงสลัดภาพการแบมือขอรอรับของผู้สูงวัยไทยได้ เท่าๆ กับขจัดปัญหามาตรฐานการคัดเลือกผู้สูงอายุยากจนข้นแค้น และการกระจุกตัวของเงินสงเคราะห์นี้ในหมู่เครือญาติผู้มีอำนาจท้องถิ่นได้ด้วย

การเริ่มต้นออมอนาคตตั้งแต่วัย 20 ปีบริบูรณ์ โดยมีกฎกติกาการออมและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อเกษียณชัดเจน เช่น ช่องทางมากมายในการออมนับแต่หักเงินออมกรณีเป็นผู้ประกันสังคม ออมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนและสหกรณ์ที่ขึ้นทะเบียนกรณีเป็นสมาชิก หรือจ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อและธนาคารกรณีเป็นแม่บ้านหรือผู้ประกอบการอิสระ และสำหรับผู้มีรายได้ไม่แน่นอนอย่างเกษตรกรก็เลือกสมทบออมได้โดยจ่ายครั้งเดียวในรอบปี ขณะที่ส่วนใหญ่ต้องออมทุกเดือน แต่ไม่จำเป็นต้องออมเท่ากันทุกเดือน ทว่าอย่างต่ำ 50 บาท/เดือน ส่วนกรณีที่อยู่ในสภาวะยากไร้ขัดสนจนไม่อาจออมได้ รัฐก็จะเข้ามาสนับสนุนออมช่วงวิกฤตนั้นด้วยการจ่ายคนละครึ่งระหว่างรัฐบาลกลางกับท้องถิ่น

อนึ่งถ้ารัฐไม่เร่งส่งเสริมการออมเสียแต่เดี๋ยวนี้ จะต้องแบกรับภาระมหาศาลนับแสนล้านบาทอีกราว 40 ปีข้างหน้าจากการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท/คน/เดือน การสร้างสรรค์ทางเลือกอย่างระบบบำนาญชราภาพที่ไม่ใช่แค่ กบช.จึงเสริมสร้างศักดิ์ศรีความเป็นผู้สูงวัยไทยให้สามารถภาคภูมิใจในการยืนหยัดบนลำแข้งตนเอง ไม่เป็นภาระลูกหลาน ชุมชน และสังคม ด้วยมีรายได้มั่นคง

กระนั้นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ หรือกระทั่งสับเซ็ต เช่น กบช. ก็คือต้องปลอดการแทรกแซงทางการเมืองมากสุด เพราะยิ่งมีเงินเยอะยิ่งหอมหวานสำหรับนักการเมืองมาตอมไต่ ไม่เท่านั้นการบริหารจัดการต้องยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะความซื่อสัตย์อย่างเคร่งครัด มิโอนอ่อนต่อกิเลสของการลงทุนในกิจการที่มีความเสี่ยงสูงเพียงเพื่อหวังกอบโกย

อีกทั้งการบริหารไม่อาจมองมุมเศรษฐศาสตร์เพียงหนึ่งเดียว ต้องอิงแอบกับคุณค่าหลากประการด้วยกันนับแต่ความกตัญญูกตเวทีผู้สูงวัยที่ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติช้านาน จนถึงนโยบายแบบมีส่วนร่วมที่ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนออมอนาคตชีวิตตนเอง

แน่ละว่าคนทั่วไปย่อมไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางคำนวณเทียบเท่ากับกระทรวงทบวงกรมการเงินการคลัง ทว่าการวางแผนชีวิตโดยการออมเงินของประชาชน ที่ถึงจะจำแนกเป็นแรงงานในและนอกระบบตามแบบ กบช.ก็ยังเรียกร้องการมีส่วนร่วมคิดร่วมสร้างร่วมทำจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) มากกว่าจะคิดกันในหมู่ผู้รู้ที่มีอำนาจบังคับผ่านกฎหมายได้

การเปิดเวทีประชาพิจารณ์แจงข้อดี-เสีย ข้อคิดเห็น-ข้อเท็จจริง เพื่อรังสรรค์การออมอนาคตทั้งของตนเองและสังคมไทยร่วมกันจึงสำคัญยิ่งยวด ยิ่งกว่านั้นการบริหารจัดการระบบบำนาญแห่งชาติบนหลักธรรมาภิบาลจะสร้างคุณลักษณะนิสัยการเก็บหอมรอมริบที่มีคุณค่าต่อระดับปัจเจกและประเทศชาติจากการมีเงินออมระยะยาวในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งยังเคลื่อนรัฐสวัสดิการ (Social welfare) ให้เป็นไปได้จริงในสังคมไทยด้วย ถ้าระยะยาวสามารถดำเนินการปรับฐานภาษีจากแคบเป็นกว้างเพื่อจะปรับเงินสมทบจากรัฐมากขึ้นจนเพียงพอพยุงชีวิตชราลำเค็ญแค้นที่มีมหาศาลได้ ให้วันวัยลำบากยากแค้นของคนเฒ่าคนแก่ทั่วผืนแผ่นดินไทยเป็นเพียงภาพหลอนของอดีต

ยุทธศาสตร์และพันธกิจของ กบช.ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบบำนาญชราภาพจึงควรสะท้อน ‘ปณิธานบำนาญชราภาพ’ ที่ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยไทยทุกคนมีศักดิ์ศรีและหลักประกันด้านรายได้ในยามเรี่ยวแรงร่วงโรยทำมาหากินไม่ได้.

เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น