xs
xsm
sm
md
lg

ความต้องการเปลี่ยนแปลง : เหตุให้พธม.ตั้งพรรค

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ความจำเจอันเกิดจากการกระทำซ้ำซากหรือย่ำอยู่กับที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย และความเบื่อหน่ายนี้เองคือแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความมี และความเป็น

โดยนัยแห่งข้อความดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างในสังคมไทยปัจจุบันตกอยู่ในภาวะจำเจ และก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายที่รอการเปลี่ยนแปลง

หนึ่งในภาวะจำเจและกำลังเป็นที่เบื่อหน่ายก็คือ การเมืองไทยในระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นระยะเวลาได้ 77 ปีกว่าแล้ว แต่ถึงกระนั้นผู้คนในสังคมไทยยังไม่ได้เห็นระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา เฉกเช่นที่เป็นอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น และที่เป็นเช่นนี้น่าจะเนื่องมาจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาลที่มีรูปแบบ และเนื้อหาตามครรลองแห่งประชาธิปไตย

ตามนัยแห่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนจากการย้อนไปดูความเป็นมาของการเมืองไทยที่มีการสลับสับเปลี่ยนกันระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐตั้งรัฐบาลเผด็จการแทนซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา และถ้าคิดเป็นระยะเวลาที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งกับรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารแล้ว จะพบว่ารัฐบาลเผด็จการมีระยะเวลาในการปกครองประเทศมากกว่า จึงไม่เอื้ออำนวยให้ประชาธิปไตยพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. พฤติกรรมองค์กรของพรรคการเมือง

ในระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทในการปกครองในระบบนี้ และบุคลากรทางการเมืองซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวแทนปวงชนในการทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติและด้านบริหาร

แต่พรรคการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาเป็นเพียงองค์กรเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นสนองกิเลสทางการเมืองของนายทุนทางการเมือง และนักการเมืองที่มุ่งเล่นการเมืองเพื่อแสวงหา และปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มากกว่าที่จะเข้ามารับใช้ปวงชนตามเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบนี้

ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้ว พรรคการเมืองประเภทที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจจึงมีวงจรชีวิตระหว่างตั้งขึ้นและเลิกล้มไปในระยะเวลาไม่นาน เหมือนสินค้าราคาถูก และด้อยคุณภาพไม่คงทนต่อการใช้งาน

จะมีบ้างที่เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้น และมีวงจรชีวิตยาวนาน ก็เห็นจะมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวที่ดำรงอยู่ยาวนานและมีลักษณะเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่มีมา

แต่พรรคนี้ก็มีข้อด้อยที่เกิดจากบุคลากรของพรรคถนัดในการเป็นผู้ตรวจสอบ และวิพากษ์การทำงาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือถนัดในการเป็นฝ่ายค้าน และที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าพรรคนี้มีลักษณะการทำงานเป็นแบบตั้งรับ และเข้ากับราชการได้ดี จึงทำให้มีลักษณะเป็นอำมาตยาธิปไตยเด่นชัดกว่าพรรคอื่น และที่สำคัญอุดมการณ์ของพรรคนี้ที่เห็นว่าเด่นชัดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ และเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้มีบทบาทโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในยุคที่เผด็จการเรืองอำนาจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อใดก็ตามที่ระบบเผด็จการเสื่อมลง และเปิดโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล ก็จะพบว่าทำงานไม่เข้าตาประชาชน ไม่ช้าไปก็ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยอาศัยข้าราชการประจำเป็นมือเป็นเท้า และคอยอนุมัติตามเสนอโดยไม่มีนโยบายเชิงรุก และนี่เองที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ต่อพรรคไทยรักไทยในปี 2544 เนื่องจากพรรคไทยรักไทยเข้ามาพร้อมกับนโยบายเชิงรุกในหลายๆ ด้าน และทำงานแบบไม่รอให้ข้าราชการเสนอ จึงทำให้ได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่ต้องการเห็นรัฐบาลทำงานเร็ว

แต่พรรคไทยรักไทยก็มีข้อด้อย เมื่อได้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยมีเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวก็ออกลายด้วยการแสวงหาประโยชน์จากนโยบายทับซ้อน และในที่สุดก็ถูกกองทัพโค่นล้มเหมือนกับที่หลายๆ พรรคประสบมาแล้วในอดีตก่อนหน้านี้

3. พฤติกรรมเฉพาะตัวของบุคลากรทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในพรรคเฉพาะกิจ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยไปไม่ถึงไหน และพฤติกรรมที่ว่านี้ก็คือลงเล่นการเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสได้ตำแหน่ง และใช้ตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ในทางมิชอบ

เมื่อจุดมุ่งหมายในการลงสู่สนามเลือกตั้งเป็นแบบนี้ ในทันทีที่ได้รับเลือกก็สอดส่ายแสวงหาลู่ทางที่จะได้ตำแหน่งทางการเมืองในทุกวิถีทาง เริ่มด้วยการวิ่งเต้นเป็นรัฐมนตรี และถ้าผิดหวังจากตำแหน่งรัฐมนตรีก็ลดระดับลงเป็นเลขารัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งการเป็นกรรมาธิการชุดต่างๆ ก็มีให้เห็นอย่างดาษดื่นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง

ด้วยเหตุ 3 ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น การเมืองไทยจึงย่ำอยู่กับที่ และมีภารกิจทางการเมืองที่จำเจจนทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย

แต่วันนี้และเวลานี้ ความจำเจอันเป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่ายกำลังจะได้รับการแก้ไข โดยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังจะตั้งพรรคขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใหม่ ทั้งในด้านพฤติกรรมองค์กรของพรรค และพฤติกรรมของบุคลากรทางการเมือง

ส่วนว่าเมื่อตั้งขึ้นแล้วจะมีอะไรใหม่หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหนนั้น จะต้องคอยดูกันต่อไปสักระยะหนึ่งหลังจากที่พรรคนี้ได้ตั้งขึ้น และมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้วอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียนเชื่อว่า พันธมิตรฯ น่าจะจัดตั้งพรรคและทำการเมืองในแนวใหม่ได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. พรรคที่พันธมิตรฯ จะจัดตั้งขึ้นไม่ว่าจะชื่ออะไร และมีใครเป็นหัวหน้าพรรค ย่อมแตกต่างไปจากพรรคการเมืองทุกพรรคในอดีตที่ผ่านมา อย่างน้อยเท่าที่เห็นได้ชัดก็คือที่มาของพรรคซึ่งพันธมิตรฯ ตั้งขึ้นมิได้เกิดจากการรวมตัวของนายทุนหรือนักการเมืองบางคนบางกลุ่มที่รวมตัวกันตั้งพรรค และรวบรวมนักการเมืองจากพรรคโน้นพรรคนี้ และเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็จับขั้วต่อรองตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเป็นลู่ทางกอบโกยเป็นการถอนทุน หรือไม่ก็ปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง แต่พรรคนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนจากหลายๆ สาขาอาชีพ เพื่อต่อต้านนักการเมืองที่มีพฤติกรรมทุจริต และมีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมือง

ส่วนความแตกต่างในด้านอื่นๆ เช่น การหาทุนมาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.จะแตกต่างจากพรรคการเมืองเก่าๆ มากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องรอให้ถึงวันนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าฟังจากที่แกนนำพันธมิตรฯ แถลงแล้วก็เชื่อได้ว่าแตกต่างไปจากเดิมมากพอที่จะเรียกได้ว่า การเมืองใหม่

ส่วนว่าจะแตกต่างขนาดไหน และเป็นความหวังของประชาชนได้หรือไม่ คงต้องรอให้ถึงวันที่พรรคนี้เปิดตัวและแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการก่อน

2. พรรคพันธมิตรฯ เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุที่ว่าพันธมิตรฯ ได้เสนอแนวทางการเมืองใหม่และเมื่อแนวทางที่ว่านี้ไม่มีพรรคการเมืองที่มีอยู่พรรคใดสนใจจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ทั้งพฤติกรรมองค์กรของพรรค และนักการเมืองในสังกัดพรรค

ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่พันธมิตรฯ จะตั้งพรรคเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามแนวทางใหม่ให้เป็นไปตามที่นำเสนอประชาชนไว้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า พันธมิตรฯ พูดไว้และทำได้ตามที่พูด
กำลังโหลดความคิดเห็น