xs
xsm
sm
md
lg

พรรคของพันธมิตรฯ กับปรากฏการณ์ทางการเมืองข้างหน้า

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในที่สุดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากอย่างท่วมท้น ท่ามกลางสายฝนให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของวีรชนและประชาชน ณ สนามกีฬาเมนสเตเดียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องหลังจากที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ขับไล่รัฐบาลเผด็จการรัฐสภาแห่งทุนนิยมสามานย์ ผิดหวังกับการใส่เกียร์ว่างของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และเสียใจรัฐบาลเปลี่ยนขั้วที่เมินเฉยต่อการเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและยอมสยบเป็นทาสของพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้

ยิ่งไปกว่านั้น ประโยคชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรจะต้องจดจำการก้าวเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดนี้และการพูดถึงการชุมนุมที่ผ่านมาโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2552 ความตอนหนึ่งว่า:

“ขณะนี้ถือเป็นวิกฤตทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดของการเมืองไทย มีกระบวนการแบ่งคนในประเทศให้ทะเลาะและเป็นศัตรูกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดงและเหลือง ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศ”

นอกจากไม่สนใจข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ยังไม่สำนึกคุณความดีของภาคประชาชนที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญจนประชาชนต้องสูญเสียอวัยวะและชีวิตจำนวนมาก ทำให้พรรคการเมืองรัฐบาลที่แล้วถูกยุบพรรคไปถึง 3 พรรค จนเกิดการพลิกเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในวันนี้ คำกล่าวนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มต้นที่จะพึ่งพาตัวเองในการสร้างการเมืองใหม่ด้วยการตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในทางการเมืองไทย เพราะโดยปกติแล้วพรรคการเมืองในประเทศไทยเกิดขึ้นด้วยการรวมกลุ่มกันของคนเพียงไม่กี่คน และใช้พรรคสร้างมวลชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มบุคคลผู้ตั้งพรรคเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

แต่เหตุการณ์ในวันที่ 24 – 25 พฤษภาคม 2552 ถือเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเพราะภาคประชาชนได้ตัดสินใจจะใช้เครื่องมือที่เป็นพรรคการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายข้อเรียกร้องของตัวเอง และสร้างการเมืองใหม่ให้ได้ตามความต้องการของประชาชน

เป็นการหลุดกรอบจากมายาคติเดิมที่ว่า “นักการเมืองและนายทุนรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองโดยใช้มวลชนเป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจเพื่อสนองความต้องการของนักการเมือง”

กลายมาเป็น... “มวลชนก่อตั้งพรรคการเมืองและสร้างนักการเมืองเพื่อสนองความต้องการของมวลชน”

ที่สำคัญคือ “ความต้องการของมวลชน” ที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” นั้นไม่ได้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง หากแต่เป็นความต้องการเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ พิสูจน์ได้จากการเสียสละ และกล้าหาญ ที่ต่อสู้โดยยอมเสียสละ หยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ และชีวิต เพื่อรักษาธรรมและความถูกต้องตลอดระยะเวลา 193 วัน

เพราะการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตลอดระยะเวลา 193 วัน มีการเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ของประชาชนและวีรชนจำนวนมาก ผู้ชุมนุมและแกนนำจึงยังคงติดค้างอยู่ในจิตใจหากยังไม่สามารถบรรลุข้อเรียกร้องและสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้

เพราะในแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้งก็ระบุอย่างชัดเจนในพันธสัญญาที่มีต่อเหล่าวีรชนผู้เสียสละว่า “เราจะไม่ปล่อยให้การเสียสละของวีรชนต้องสูญเปล่า”

พรรคของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตามฉันทานุมัติของ “มหาชน” ที่กำลังจะตั้งขึ้นมาใหม่จึงเป็นเพียง “เครื่องมือชนิดหนึ่ง” ของภาคประชาชนเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างการเมืองใหม่

ส่วนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ไม่ได้ยกเลิก “วิธีการชุมนุม” ซึ่งเป็น “เครื่องมืออีกชนิดหนึ่ง” ของภาคประชาชนเช่นกัน

พรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็ตาม ก็จะเป็นพรรคการเมืองที่มี “ราก” และ “เป้าหมาย” จากการต่อสู้และเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ของประชาชน!

เช่นเดียวกันกับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ที่มี “ราก” จากการร่วมต่อสู้เคียงข้างประชาชน และดำรงอยู่ได้เพราะสนับสนุน “เป้าหมาย” ของภาคประชาชนอย่างซื่อสัตย์!

เพราะสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ได้ร่วมต่อสู้และเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการต่อสู้และขับไล่รัฐบาลที่ฉ้อฉลตลอดในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จึงได้รับการโอบอุ้มจากประชาชนในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยไม่ตกอยู่ในอาณัติของนักการเมืองหรือนายทุนกลุ่มใด

ดังนั้นการที่นักการเมืองในระบบเก่าที่เข้าใจว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อมีพรรคการเมืองแล้ว จะทำให้ ASTV ต้องล่มสลายลงเพราะจะไม่เป็นกลาง จึงเป็นความคิดที่ผิดถนัด!

เพราะความเป็นจริง ASTV ได้หลุดกรอบในมายาคติว่า “สื่อต้องเป็นกลาง” มาตั้งนานแล้ว แต่เป็นสื่อที่เคารพและซื่อสัตย์ต่อประชาชนผู้สนับสนุน ที่ต่อสู้เพื่อราชบัลลังก์ ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติ เลือกข้างความถูกต้องและความเป็นธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และยังจะต้องเป็นเครื่องมือที่ต่อสู้เคียงข้างร่วมกับประชาชนต่อไป

เมื่อเราสรุปแล้วว่า ASTV วางตัวเป็นสื่อเลือกข้างความถูกต้องและผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก็จะไม่ใช่เรื่องแปลกถ้ายืนอยู่ข้างเดียวกันกับภาคประชาชนที่ยืนอยู่บนความถูกต้องชอบธรรม และก็จะไม่แปลกอีกเช่นกันถ้ายืนอยู่ข้างเดียวกันกับพรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติเช่นกัน

นับจากวันนี้ พรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ จะมีความยึดโยงกับความต้องการของมวลชนในการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้จริง และภารกิจหลังจากวางโครงสร้าง เขียนนโยบาย และวางตัวบุคคลแล้ว ก็คือการ “ทำการเมืองใหม่ใจกลางการเมืองเก่า”

ไปทำให้ดูว่า “การเมืองที่ส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมือง และป้องกันมิให้คนไม่ดีมีอำนาจ” เป็นอย่างไร?

ตัวอย่างเช่น เราจะได้เห็นนักการเมืองทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายค้านยกมือสนับสนุนให้คนดีเป็นนายกรัฐมนตรี และเราจะได้เห็นนักการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาลยกมือคัดค้านนักการเมืองที่ฉ้อฉลที่เป็นคนในรัฐบาล

ไปทำให้ดูว่า “สิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เรียกร้องเอาไว้ 13 ข้อ สามารถทำได้จริงหากมีอำนาจ หรืออย่างน้อยก็ผลักดันได้อย่างจริงจังในยามไม่มีอำนาจ ทั้งการเอา ปตท.กลับคืนมา, การปฏิรูปรัฐตำรวจ, การปฏิรูปสื่อมวลชน ความซื่อสัตย์สุจริต และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ”

ไปทำให้ดูว่า ระบบเศรษฐกิจที่สร้างความเป็นธรรมสามารถทำได้จริงในสังคม โดยออกนอกกรอบระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ฯลฯ

ต่อคำถามที่ว่า พรรคการเมืองที่จะมาทำภารกิจข้างต้นหากไม่มีจำนวนมากจะทำได้จริงหรือ? ก็ตอบได้ว่ามีมากหรือมีน้อยไม่สำคัญเท่ากับการยืนหยัดสร้างขยายอุดมการณ์อันมีค่าให้สังคมเห็น และจนกว่าประชาชนจะเชื่อมั่นและไว้วางใจสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นจริง

ทำให้เกิดความแตกต่างว่า อะไรคือการเมืองเก่าที่เน่าเฟะ และอะไรคือการเมืองใหม่ที่เป็นแสงสว่างในสังคม เหมือนดังการอดทนรอคอยในการจุดเทียนเล่มแรกในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ มาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันนี้

ลำพังเพียงแค่การทำให้นักการเมืองในระบบเก่า เร่งรีบปรับตัวเพื่อไม่ให้เสียคะแนนนิยม ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว!

ถามว่าฐานเสียงของพรรคที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะตั้งขึ้นอยู่ที่ไหน และทับซ้อนกับเสียงในพรรคประชาธิปัตย์เท่าไร อาจจะพิจารณาไม่ง่ายนัก

เอาเป็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ในปี 2544 มีคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 7.6 ล้านเสียง ในขณะที่พรรคไทยรักไทยมีคะแนนเสียงประมาณ 11 ล้านเสียง พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านไป 4 ปี ในช่วงนั้นพรรคไทยรักไทยเป็นความหวังการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ภาพลักษณ์ติดลบจากวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างปี 2540 – 2543

ปี 2548 มีการเลือกตั้งอีกครั้ง พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์อยู่ที่ประมาณ 7.2 ล้านเสียง ส่วนพรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงท่วมท้นเกือบ 19 ล้านเสียง เป็นการชนะกันอย่างขาดลอย พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านจนถึงวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ปลายปี 2548 เป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และถูกปลดออกจากผังรายการของช่อง 9 อสมท ปรากฏการณ์สนธิ และเกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 (เป็นโมฆะ) นั้นพรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงเหลือเพียง 16 ล้านเสียง คะแนนหายไป 3 ล้านคะแนน ในครั้งนั้นมีคนกาบัตรว่าไม่ลงคะแนนถึงจำนวน 8.3 ล้านคน ในปีนั้น 3 ล้านคะแนนที่พรรคไทยรักไทยหายไปเพราะไม่สามารถรับได้กับการฉ้อฉลในรัฐบาล

ปี 2550 พรรคพลังประชาชนได้คะแนนทั้งประเทศเหลือเพียง 13.2 ล้านเสียง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนประมาณ 12.8 ล้านเสียง ซึ่งบางคนอนุมานว่าคะแนนพรรคพลังประชาชนจากปี 2548 หายไปกว่า 6 ล้านเสียง แล้วกลับมาบวกใหักับพรรคประชาธิปัตย์ 6 ล้านเสียงนั้น อาจเป็นเสียงที่เคยเลือกพรรคไทยรักไทยเพราะความหวังการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ผิดหวังพรรคไทยรักไทยเพราะเป็นทุนนิยมสามาย์ที่ทุจริตฉ้อฉลปล้นบ้านเมือง ภายใต้การตรวจสอบและชุมนุมกดดันโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ใช่หรือไม่!?

ถ้าใช่ แปลว่าฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์เหนียวแน่นที่ประมาณ 7 – 8 ล้านเสียง ส่วนอีกเกือบ 6 ล้านเสียง สามารถแปรเปลี่ยนได้อีกหากพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ประชาชน 6 ล้านเสียงผิดหวัง และ 6 ล้านเสียงหรือมากกว่านั้นอาจหาทางเลือกทางอื่นๆ ที่เสนอทางออก “เศรษฐกิจนอกกรอบที่มีความหวัง และไม่ฉ้อฉลสามานย์”

สรุปได้ว่าพรรคที่จะเกิดขึ้นโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำเนิดขึ้นเพราะความผิดหวังที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถข้ามผ่านการเมืองที่ล้มเหลวในระบบปัจจุบันไปได้ ยอมจำนนกับพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น