xs
xsm
sm
md
lg

คำนูณหนุนพธม.ตั้งพรรคชูสนธิผู้นำสร้างการเมืองใหม่ผ่านสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายการคนในข่าว ทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 20 พ.ค.2552 นายเติมศักดิ์ จารุปราน ผู้ดำเนินรายการ ได้เชิญ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาร่วมให้ความเห็นกรณีการจัดตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ
นายคำนูณ ให้ความเห็นกรณีบทวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกที่อ้างว่าพันธมิตรฯ มีการวางคนเป็นรัฐมนตรีไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยมีนายคำนูณเป็น 1 ในคณะรัฐมนตรี ว่า คนเขียนอาจจะเขียนขำๆ แต่เขียนได้ไม่เนียนพอ จับเอาคนที่อยู่ในแวดวง ใกล้ชิดพันธมิตรฯ แล้วเอาไปจัดตามที่คิดว่าเหมาะสม แต่ถ้าคิดให้ดีก็จะรู้ว่า ตนไม่สามารถที่จะไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองของพันธมิตรฯได้ เพราะเป็นส.ว. เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ไม่ได้ ลงสมัคร ส.ส.ก็ไม่ได้ ถึงจะลาออกจากส.ว. ก็ต้องเว้นวรรคอีก 2 ปี เป็นรัฐมนตรีก็ยิ่งไม่ได้ เพราะคุณสมบัติรัฐมนตรีต้องไม่เป็น ส.ว.และต้องพ้นตำแหน่งไปแล้ว 2 ปี และที่สำคัญไม่เคยอยู่ในความคิดด้วย
นายคำนูณ กล่าวว่า ตนเขียนบทความเรื่องการตั้งพรรคการเมืองมาประมาณ 8 ครั้ง ครั้งแรกเดือนสิงหาคม 2550 แต่ความคิดของตน การตั้งพรรคไม่ได้เพื่อไปเป็นรัฐบาล หรือจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกัน แต่เพื่อไปผลักดันต่อสู้เพื่อสร้างการเมืองใหม่ ผ่านศูนย์กลางในการเมืองเก่า ผ่านวัตรปฏิบัติ กรรมวิธี ผ่านกลไกตาม กฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทน ซึ่งตนเห็นว่าทำได้เยอะ
ด้านนายสุริยะใส ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีชื่อในโผ ครม.พันธมิตรฯ ตามบทวิเคราะห์ของ คมชัดลึก กล่าวว่า ถ้ามองในแง่บวก ก็แสดงว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ครั้งนี้ ได้รับความสนใจ ในระดับที่ไม่ใช่ปกติ เพราะข่าวชิ้นนี้ไปไกลถึงขั้นคาดการณ์ว่า ใครจะเป็นหัวหน้าพรรค ใครจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคพันธมิตรฯ ชี้ให้เห็นว่าเขาพยายามเอกซเรย์การขยับตัวครั้งนี้ของเราว่า ถ้าความเห็นส่วนใหญ่ ให้ตั้งพรรค ใครจะเป็นหัวหน้า เมื่อหัวหน้าพรรคเป็นใครก็ตาม ก็จะถูกชูเป็น ว่าที่นายกฯ และอาจพุ่งเป้าไปที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล และมองไปที่ตัวรัฐมนตรี ส่วนคนเขียนจะรับงานมาหรือไม่ หรือจะกระแนะกระแหนหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ถ้ามองระหว่างบรรทัด ดูเจตนาก็ไม่ได้เป็นมิตรเสียทีเดียว
นายสุริยะใส ยืนยันว่าแกนนำยังไม่เคยมีการวางตัวเรื่องนี้ไว้เลย แม้แต่การตั้งพรรคการเมือง ก็ไม่ได้มาจากแกนนำ แต่เริ่มจากมวลชนและองค์กรแนวร่วม จนกลายเป็นกระแส เป็นวาระ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ที่เราหยุดชุมนุม แต่เราไม่หยุดคิดที่จะหาวิธีสู้ เราคงไม่มีแค่แนวทางการตั้งพรรค เพราะพรรคเป็นแค่แนวทางหนึ่ง มากกว่านั้นคือการทำให้พันธมิตรฯเข้มแข็งและเป็นเจ้าภาพการเมืองใหม่ได้อย่างไร
นายคำนูณ เสริมว่าบทความที่ตนเขียนถึงการตั้งพรรคของพันธมิตรฯ และเสนอให้นายสนธิ เป็นหัวหน้าพรรคนั้น ตนทำใจไว้แล้ว ความเห็นท้ายบทความบน ในอินเทอร์เน็ต ก็มีทั้งบวกและลบ แต่ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น ซึ่งก็อย่างที่บอกว่า มันเป็นความฝันส่วนตัว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะตนเขียนเรื่องนี้มาแล้ว 8 ครั้ง ที่เป็นรูปธรรม คือก่อนการปฏิวัติ 19 กันยาฯ เรามีการคิดกันเล่นๆ โดยสมมุติว่า ถ้ามีการตั้งพรรคการเมือง จะมีนโยบายอย่างไร ชื่อพรรคอะไร ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ พรรคเทียนแห่งธรรม ที่คิดว่าจะทำเป็นบทละคร เป็นเหมือนจริง เป็นเซอร์ไพรส์
ประเด็นหนึ่งคือว่า คุณสนธิเอง พันธมิตรฯเอง วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นมามาก ก็มีคนถามเราว่า คุณก็ดีแต่วิพากษ์วิจารณ์นั่นแหละ ถ้าคุณเป็นรัฐบาลคุณจะทำได้ไหม ทำเป็นหรือเปล่า ผมขอยืนยันว่า เราทำเป็น แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะระบบไม่เปิดโอกาสให้ ตอนนั้นคุณสนธิไม่เคยคิดที่จะเข้าไปต่อสู้ในระบบ คุณสนธิ เริ่มต้นจากการเป็นสื่อสารมวลชน แต่สื่อมวลชนอย่างคุณสนธิ อาจจะมีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างจากสื่อมวลชนโดยทั่วไป คุณสนธิยืนยันว่าไม่เป็นกลาง ตามความหมายของสื่อมวลชนบางส่วน ที่ยึดถือว่าเป็นกลางหมายถึงการให้คน 2 คน ได้มีเวลาพูดเท่าๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงความถูกความผิด สื่อมวลชนของคุณสนธิ คือการยืนหยัดอยู่ข้างความถูกต้อง การตัดสินใจของคุณสนธิจากสื่อมวลชนพัฒนามาเป็นผู้นำมวลชน คุณสนธิใช้เวลาตัดสินใจนานและถือเป็นรอยต่อของชีวิต

เสนอตั้งพรรคเพื่อต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่ง
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า นายสนธิ เป็นผู้นำมวลชนต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี ช่วงเวลาจากนี้ไปเป็นจังหวะก้าวสำคัญที่นายสนธิ จะต้องตัดสินใจและพี่น้องพันธมิตรฯ ก็ต้องช่วยตัดสินใจด้วย ทั้งนี้ เห็นว่าบางสิ่งบางอย่างอยู่ในใจของหลายๆ คนอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าพูดออกมาอย่างที่ตนพูด
นายคำนูณ ตั้งคำถามว่า จากที่ชุมนุมมาแล้ว 193 วัน ถามตรงๆ ว่าจากนี้ไปพันธมิตรฯจะทำอะไรเราพัฒนาจากจากการแถลงข่าว จัดสัมมนา ออกแถลงการณ์ จนเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ไล่นายกฯออกไปแล้วกี่คน ด้วยรูปการณ์ที่ก่อให้เกิด ความไม่เข้าใจในหมู่พี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการเห็นการชุมนุม ที่เขามองว่าเป็นความรุนแรง ทั้งที่เหตุผลเราก็มีอยู่ จากนี้ไปเราจะทำอย่างไร เป็นเรื่องท้าทาย สมมุติว่าพันธมิตรฯ ยังยืนยันในจุดเดิมว่าไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะทำอย่างไร ที่เขาจะแก้กัน เราจะจัดชุมนุมอีก ไปปิดหน้าสภา ไปที่ทำเนียบฯ ไปสนามบินสวรรณภูมิ อีกหรือไม่ แล้วประชาชนที่เขาไม่ได้รับข่าวสารที่เป็นทางบวกกับพันธมิตรฯ เขาจะมีท่าทีอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร พันธมิตรฯ จะแก้ไขอย่างไร
การเมืองภาคประชาชน การตรวจสอบอยู่ข้างนอก การเป็นพลังถ่วงดุล อยู่ข้างนอก เป็นเรื่องสำคัญ ผมยอมรับ เป็นเรื่องอุดมคติที่ต้องทำ แต่เราทำมา 193 วัน มีอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีก ผมขอตอบว่า ถ้าพ้นจากนี้ คุณสุริยะใส ต้องมีกองทัพของตัวเอง ดำเนินการจัดตั้งพรรคที่มีทั้งกองกำลัง ซึ่งถ้าทำแบบนั้นก็เป็นกบฏ แล้วถามว่าประเทศไทยมันจะต้องไปสู่จุดนั้นหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ควร

แนะแยกพรรคกับขบวนการประชาชน
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า หากมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ยังเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อไป ไม่ได้แปรสภาพไปเป็นพรรคพันธมิตรฯ ส่วนพรรคฯ จะชื่ออะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของขบวนการประชาชนในนามพันธมิตรฯ ส่วนแนวรบในรัฐสภา ถือเป็นแนวรบหนึ่ง แนวรบในการเมืองภาคประชาชนที่จะขับเคลื่อนคู่ขนานไปก็จะเป็นการเดินอีกแนวหนึ่ง ซึ่งจะเสริมซึ่งกันและกัน เราอาจจะติดภาพพรรคการเมืองแบบเดิม คือ พรรค ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเข้าไปต่อสู้ในสภา แต่เราจะเป็นพรรคอีกประเภทหนึ่ง คือ พรรคของมวลชน คือมีทั้งการต่อสู้ในสภาและมีมวลชนสนับสนุนอยู่ ซึ่งอาจสนับสนุน ส.ส.และขับเคลื่อนด้วยรูปแบบอื่นควบคู่กันไป แต่การคัดเลือกผู้สมัคร ต้องผ่านมวลชน ไม่ใช่หัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคเป็นคนคัด พอตัวเองถูกตัดสิทธิก็เอาญาติพี่น้องมาลงสมัคร
การมีพรรคพันธมิตรฯไม่ได้แปลว่าเราสลายขบวนการภาคประชาชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นการต่อสู้ให้ครบเครื่อง คนเรามีสองมือ ก็ไม่จำเป็นต้องเอามือหนึ่งไพล่หลังหรือมัดเอาไว้ไม่ต่อสู้ เพราะเห็นว่ามือนั้นสกปรก หรือเพราะเราเห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก ไม่อยากให้ขบวนการที่มีอุดมคติสูงส่ง สะอาด เข้าไปเกลือกกลั้ว กลัวความสกปรกนั้นจะทำให้เราเสียผู้เสียคนไป อันนี้ ผมเห็นว่า ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงการเมือง เราต้องมีอำนาจ และมีช่องทางที่จะเข้าสู่อำนาจไม่กี่ช่องทาง ช่องทางหนึ่งคือระบบรัฐสภา อีกทางหนึ่งคือ ล้มระบบด้วยการปฏิวัติ การรัฐประหาร ซึ่งเราไม่มีกองทัพ คงจะทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็ผิดกฎหมาย เป็นกบฏ แต่ถ้ากองทัพเขาทำ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะไปทางไหน มันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า หรือ แย่ลงไป ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราคงพอเห็นทิศเห็นทางบ้างแล้ว

สนธิรั่งผู้นำสร้างปรากฎการณ์ครั้งใหม่
ส่วนกรณีที่นายสนธิ เคยบอกว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง หากมาเป็นหัวหน้าพรรคพันธมิตรฯ จะถือว่าเป็นการกลืนน้ำลายหรือไม่นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า นายสนธิเคยพูด ตั้งแต่ปลายปี 2548 เพื่อบอกว่าการออกมาต่อสู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น ไม่ได้หวังลาภยศตำแหน่งทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งในบริบทนั้นเป็นความจริงใจของนายสนธิที่จะบอกว่าการออกมาต่อสู้นั้นหวังที่จะทำเพื่อประเทศชาติอย่างเดียว แต่ต่อมานายสนธิก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าชีวิตนี้จะต่อสู้เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ คำมั่นสัญญาทั้ง 2 ประการ จึงมีความเท่าเทียมกัน
ตอนที่คุณสนธิ จะตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากสื่อมวลชนมาเป็นผู้นำมวลชน เมื่อปลายปี 2548 นั้น ก็ใช้เวลาคิดอยู่นาน และต้องไปกราบหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ผมคิดว่า ณ เวลานี้ ณ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเผื่อคุณสนธิตระหนักดีว่า การจะยืนหยัดปกป้อง ต่อสู้เพื่อชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ นำความพัฒนาการที่ยั่งยืนมาสู่สังคมไทย ในช่วงวิกฤตินี้ ถ้าเดินบนถนนสายเดิมต่อไปแล้วหนทางค่อนข้างจะไปได้ยาก จำเป็นจะต้องมีถนนสายใหม่เพิ่มเข้ามาเสริม ในขณะเดียวกันก็มีคำมั่นสัญญาเก่าที่ คุณสนธิเคยให้ไว้ ผมเชื่อมั่นว่าคุณสนธิ จะต้องตัดสินใจได้ ถ้าคุณสนธิยังไม่สามารถตัดสินใจได้ สมาธิ จิตใจ ของคุณสนธิในช่วง 2-3 วันนี้ จะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อถึงเวลานั้น ผมคิดว่า คุณสนธิ ซึ่งเป็นศิษย์ที่มีครูบาอาจารย์ พระสงฆ์หลายรูป ท่านก็น่าจะขอความเห็น ขอความกระจ่างในทางธรรม ว่าในสถานการณ์ ที่ดูเหมือนมันยังขัดแย้งกันอยู่ ระหว่างเป้าหมายสูงสุด กับคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่ง ใดๆ ทั้งสิ้น จะหาทางออกอย่างไร
นายคำนูณ กล่าวว่า หากนายสนธิ ลงไปนำพรรคการเมืองเอง จะเป็นการสร้าง ปรากฏการณ์สนธิครั้งใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นให้การเมืองไทยเดินหน้าไปสู่มิติใหม่ แม้อาจจะไม่สำเร็จในช่วงชีวิตนายสนธิ แต่มันจะเป็นการขยับขับเคลื่อนครั้งสำคัญ ระหว่าง 2 สิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่นี้ ตนไม่เคยคุยกับนายสนธิ ถ้านายสนธิตัดสินใจ แล้วมีพี่น้องที่ยึดมั่นในคำสัญญาของนายสนธิ เมื่อปลายปี 2548 คำต่อคำตามลายลักษณ์อักษรโดยไม่พิจารณาถึงเรื่องอื่น เขาจะเดินมาขอถุยน้ำลายใส่ ขอถอดรองเท้ามาตบ ตนเชื่อว่านายสนธิ ถ้าวันนั้นตัดสินใจแล้ว ก็คงจะยอมให้พี่น้องประชาชนทำอย่างนั้น

ชี้แม้นั่งหน.พรรคไม่ได้เปลี่ยนเป้าหมาย
ด้านนายสุริยะใส กล่าวว่าหากวันนี้นายสนธิบอกว่า หยุดแล้ว ภารกิจจบแล้ว พอแล้ว นั่นแหละถึงสมควรต่อว่านายสนธิ แต่ถ้ามวลชนเรียกร้องให้นายสนธิเป็นหัวหน้าพรรค และนายสนธิบอกว่าพร้อม แล้วมีบางกระแสบอกว่าเปลี่ยนคำพูด หรือผิดสัจจะวาจา แต่คำถามคือเปลี่ยนเพื่ออะไร ซึ่งตนคิดว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้เปลี่ยนเลย เพียงแต่ว่าเป็นความตั้งใจอีกแบบหนึ่ง เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนตลอดเวลา วันหนึ่งเราปักใจว่าต่อสู้แบบนี้แล้วเราจะชนะ แต่ว่าในสนามการต่อสู้ใหม่ เราจะต่อสู้แบบเดิมไม่ได้แล้ว แต่เป้าหมายยังเป็นเป้าหมายเดิม ไม่ได้เปลี่ยน เป้าหมายคือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังอยู่ อย่าไปคิดแค่ว่าเคยพูดอย่างนั้นเคยพูดอย่างนี้ การรักษาสัจจะวาจาเป็นเรื่องที่ดีงาม และนายสนธิคงต้องอธิบาย ถ้าตัดสินใจที่จะรับตำแหน่งในพรรค ไม่ว่าตำแหน่งไหน ง
อย่างไรก็ตาม นาสุริยะใส กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่เคยมีการคุยกับนายสนธิ ในที่ประชุมนายสนธิก็ไม่เคยปริปากเรื่องนี้เลย ว่าจะมาทำ จะมาเป็นหัวหน้า ไม่เคยพูดเลย
นายคำนูณ ย้ำว่า การมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองคงไม่ถูกกับบุคลิกของ นายสนธิเท่าไรนัก เพราะต้องมาอยู่ในกรอบและคงจะถูกฝ่ายตรงข้ามขุดคุ้ย เรื่องราวเก่าๆ มาโจมตี เพราะฉะนั้นการเป็นหัวหน้าพรรคจะเหนื่อยกว่าการเป็น แกนนำพันธมิตรฯ มาก แต่เวลานี้ ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีใครเหมาะสม ที่จะนำพรรค ที่แหกกรอบเดิมๆ ได้เหมือนอย่างนายสนธิ ที่มีส่วนผสมที่ลงตัว เพราะเป็นนักธุรกิจที่จบการศึกษาจากตะวันตก และได้ศึกษาแนวทางของตะวันออกด้วย ซึ่งจากที่เคยร่วมงานกับนายสนธิในฐานะที่เคยเป็นโปรดิวเซอร์รายการ ก็เห็นว่านายสนธิเสนออะไรที่นอกรอบหลายๆครั้ง

ปชป.ปัดเอี่ยวบทวิเคราะห์คมชัดลึก
นพ.บุรณัชย์ ์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสนธิ ออกมาตำหนิพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธว่า พรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังบทวิเคราะห์ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก เกี่ยวกับการฟอร์ม ครม. ของพรรคพันธมิตรฯ พร้อมยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ เคารพการจัดตั้งพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯ และมองว่าเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ที่ดีให้แก่ประชาชน ถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางระบอบประชาธิปไตย และตระหนักอยู่เสมอว่า กลุ่มพันธมิตรฯได้เสียสละ ต่อสู้กับความไม่ถูกต้องชอบธรรมอย่างหนักมาโดยตลอด
ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่เบื้องหลังบทวิเคราะห์ดังกล่าวแต่อย่างใด และการทำงานของพรรคไม่ว่าในอดีต ปัจจุบันก็ยืดถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และมีจุดยืนในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ชัดเจนมาโดยตลอด หากประชาชนมองว่าบทบาทของพรรคไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนพรรคก็คงจะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้67 ปี”
นพ.บุรณัชย กล่าวว่าปัญหาของประเทศชาติในวันนี้ยังถือว่าอยู่ท่ามกลาง วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ การรวมพลังจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งพรรคการเมืองและการเมืองภาคประชาชนมีความสำคัญมากในการสร้าง ความสมานฉันท์ และลดความขัดแย้งในสังคม ซึ่งพรรคก็เคารพการฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่ายมาโดยตลอด ทั้งนี้ไม่คิดว่าพรรคพันธมิตรฯจะเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถือเป็นมิติใหม่ทางการเมืองที่จะเป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้มีทางเลือกที่ดีเพิ่มขึ้น

กกต.ไม่รับจดทะเบียบพรรคพันธมิตรฯ
สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต.แถลงว่า กกต.มีมติไม่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคพันธมติรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีนางภานุมาศ พรมสูตร หัวหน้าพรรคได้ยื่นขอต่อกกต.เนื่องจาก พบว่า นางรุ่งรัตน์ เป็นกระโทก สมาชิกพรรคของผู้ร่วมขอจัดตั้งพรรคฯ มีชื่อปรากฎเป็น สมาชิกพรรคมหาชน และเมื่อพิจารณาชื่อพรรคที่เป็นภาษาอังกฤษและชื่อย่อภาษาอังกฤษก็คล้ายหรือซ้ำกับพรรคประชาภิวัฒน์ ที่ถือว่าขัดกับมาตรา 9 วรรคสอง พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ที่ห้ามไม่ให้ชื่อพรรคการเมือง ซ้ำ พ้อง หรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของผู้จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อบังคับพรรคพันธมิตรฯหลายข้อขัดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมือง แต่หากนางภานุมาศ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น