xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : หยั่งเสียง “สังคม” อยากให้ “พันธมิตรฯ” ตั้งพรรคหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

คำถามใหญ่สุดที่ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ถูกพูดถึงในวันนี้ คงหนีไม่พ้น “จะตั้งพรรคการเมืองหรือไม่?” ถ้าตั้ง-ใครจะเป็น “หัวหน้าพรรค”? คำถามเหล่านี้น่าจะพอได้ความชัดเจนในช่วงสุดสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้าจากการประชุมสภาพันธมิตรฯ และงานรำลึก 193 วันที่ใกล้จะเปิดฉากขึ้น ...ก่อนจะถึงเวลานั้น เราลองมาชิมลางหยั่งเสียงประชาชนบางส่วนดูก่อนว่าจะหนุนให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรคหรือไม่ และนักวิชาการคิดเห็นอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า หากพรรคพันธมิตรฯ เกิดขึ้นจริง จะถือเป็นครั้งสำคัญที่เมืองไทยจะมีพรรคการเมืองใหม่ที่เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเกิดจากมติของมวลชนขนาดใหญ่ที่หลอมรวมอุดมการณ์จนเป็นหนึ่งเดียว

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

งานรำลึก 193 วันแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใกล้เข้ามาแล้ว พร้อมๆ กับการประชุมสภาพันธมิตรฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24-25 พ.ค.นี้ 1 ในไฮไลต์สำคัญของการจัดงานครั้งนี้ ก็คือ การขอมติจากประชาชนผู้ร่วมงานว่า อยากให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ โดยจะมีการแจกแบบฟอร์มให้กรอก 22 คำถาม เช่น ท่านคิดว่า ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยควรมีพรรคการเมืองใหม่เพื่อสร้างการเมืองใหม่?, พันธมิตรฯ ควรยุบรวมกับพรรคการเมือง หรือตั้งพรรคการเมือง แล้วพันธมิตรฯ ก็เคลื่อนไหวในภาคประชาชนและตรวจสอบพรรคการเมืองต่อไป?, คิดว่าแกนนำพันธมิตรฯ ควรมีตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือไม่?, อยากให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคที่จะเกิดขึ้นใหม่? ฯลฯ

ก่อนที่จะได้ฉันทามติจากประชาชนที่เข้าร่วมงานรำลึก 193 วันแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรฯ และการประชุมสภาพันธมิตรฯ ว่าต้องการให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่และขับเคลื่อนไปสู่การเมืองใหม่หรือไม่ ลองมาชิมลางฟังเสียงประชาชนบางส่วนก่อนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ซึ่งปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย

“(คุณวรัญพร) เห็นด้วยมากๆ ที่จะตั้งพรรค เพราะถ้าหากเราไม่ตั้งพรรค เรามีแต่มาเต้นข้างถนน แต่ไม่มีสิทธิไปเสนออะไรเลย (คุณพิมพ์สุภัค) เห็นด้วยกับการตั้งพรรค และอีกส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวอยู่นอกสภา ยุบไม่ได้เลย มันเป็นดุลถ่วงกัน ตรวจสอบ ถ้าเราเห็นว่ามาไม่ถูกทางหรือมีอะไรแปร่งๆ เราก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวเหมือนกัน ประการที่สอง ถ้าเราตั้งพรรคแล้ว พูดตรงๆ อยากให้คุณสนธิเป็นนายกฯ เลย เพราะตอนนี้เราต้องการยาแรง การเมืองบ้านเรามันเละเทะแล้ว และมีปรากฏการณ์ที่แย่ๆ ในสภา เช่น ชกต่อยเนี่ย ทีนี้เราควรต้องรักษาสภาตรงนี้เอาไว้ คือ กฎระเบียบที่เรามีต้องเคร่งครัด ใครที่มาไม่ถูกทางหรือเกเร ต้องมีข้อหยุดยั้งหรือมียาแรง อยากให้คุณสนธิเข้าไปมีส่วน แต่กลัวโดนโน่นโดนนี่ เดี๋ยวกลัวจะเอียงจะเซ (คุณแหม่ม) สนับสนุนการตั้งพรรค เห็นแล้วว่ามันมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ตอนนี้บ้านเมืองมันไม่มีความยุติธรรมอะไรเลย ไม่เหลือความถูกต้องอะไรเลย สิ่งที่ถูกต้องตอนนี้คือต้องตั้งพรรค พรรคของคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันแบบพันธมิตรฯ และเป็นอุดมการณ์ที่ถือเอาความถูกต้องความยุติธรรมเป็นหลัก และสนับสนุนคุณสนธิ เพราะตอนนี้คุณสนธิเหมาะที่สุด”

“(คุณระวิวรรณ) เห็นด้วยอย่างยิ่ง รอมานานแล้ว คือ ถ้าเราจะเดินก้าวต่อไป มันต้องมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เราเคยชุมนุมกัน ถ้ายังชุมนุมกันที่จุดเดิม ก็จะเป็นเหมือนเดิม และถ้าเขาออกกฎหมายเรื่องการชุมนุมขึ้นมา มันก็จะเป็นตัวสกัดกั้น และถึงตอนนั้น ทุกอย่างก็จะผิดกฎหมาย และเราก็จะไม่สามารถเดินต่อไป เราจะไม่สามารถทำแบบที่เคยทำมาได้แล้ว แต่ถ้าเรามีพรรคการเมือง และเรามั่นใจ มันก็เป็นจุดเริ่มต้น วันนี้เรายังอาจไม่ได้เป็นผู้นำทางการเมือง แต่ไม่รู้ว่าวันไหน อาจจะใช้เวลา 5 ปี หรือเกินกว่านั้น ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ยังมีโอกาส แต่กลุ่มพันธมิตรฯ เราก็ยังต้องดำรงอยู่ไว้ ในกรณีที่พรรคการเมืองที่เราตั้งไว้อาจจะเบี่ยงเบนไปจากจุดที่เราคาดกัน ก็ต้องตรวจสอบตัวเอง แกนนำจังหวัดและส่วนภูมิภาคจะต้องเข้มแข็งขึ้นมาอีกระดับหนึ่งด้วย (คุณกัณสินี) เห็นด้วยกับการตั้งพรรค ถ้าเราไม่ตั้ง แล้วจะคอยไล่พวกโกงกินอย่างนี้ตลอดไปเหรอ อยากให้คุณสนธิเป็นหัวหน้าพรรค ถ้าสมมติว่าเป็นไม่ได้ ก็อยากได้คุณประสงค์ (สุ่นศิริ)”

“(คุณเพ็ญพร) อยากให้ตั้งพรรค เพราะเราต่อสู้ข้างถนนมันไม่เต็มที่ เราจะต้องต่อสู้ข้างถนนตลอดไปเหรอ อยากให้เข้าไปในสภา เพราะอย่างเสื้อแดงเขาก็มีทั้งในสภา มีทั้งข้างถนนเยอะแยะไปเลย เราไม่มีทางสู้เขาได้ (คุณมัณทนา) ไม่อยากให้ตั้งเป็นพรรค เพราะเวลาเข้าไป จะไปเป็นเหมือนพวกเขา มันจะไปไม่รอด ทางที่ดีทำอย่างนี้จะดีกว่า อยู่ตามนอกถนนอย่างนี้ดีกว่า มันศักดิ์สิทธิ์ (คุณศิริลักษณ์) สนับสนุนให้ตั้งพรรค เชื่อมั่น มั่นใจ และศรัทธาในแกนนำพันธมิตรฯ ทุกท่าน ฐานเสียงเป็นประชาธิปัตย์นะ (เขตบางกอกน้อย) แต่ถ้าพันธมิตรฯ ตั้งพรรค เลือกแน่นอน (คุณกลางนรินทร์) เห็นด้วยกับการตั้งพรรคของพันธมิตรฯ เพราะคิดว่าเรามาสู้กันนอกสภาข้างถนนมันไม่ไหว ล้มตายกันไป สูญเสียเปล่า เอาความจริงไปปรากฏให้รู้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่างฟรีทีวีไม่เคยออกเลย จะออกพันธมิตรฯ ก็นิดๆ หน่อยๆ ถ้าเกิดเราไปสู้ในสภา เราได้พูดเต็มปากเต็มคำ จะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็แล้วแต่ ทำความจริงให้ปรากฏให้มากที่สุด (คุณบุญเลิศ) ถ้าเราไม่ตั้งพรรค เราไม่สามารถที่จะไปต่อสู้ คือเรายืมจมูกคนอื่นหายใจคงไม่ได้หรอก เมื่อพี่น้องเราเสียทั้งชีวิต และแขนขาไปแล้วเนี่ย ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้นมาเลย ถ้าเรายังไม่ตั้งพรรค แล้วเราจะให้เขาตายฟรีเหรอ เมื่อเราตั้งพรรคขึ้นมา เราก็สามารถทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนได้”


ฟังความเห็นประชาชนแล้ว ลองมาฟังมุมมองของนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) กันบ้างว่า จะหนุนให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองหรือไม่?

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ส่วนตัวแล้ว อยากเห็นพันธมิตรฯ คงบทบาทในการตรวจสอบของภาคประชาชนต่อไป เพราะถือเป็นพลังบริสุทธิ์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การตั้งพรรคการเมืองถือเป็นสิ่งที่ยั่วยวน และพันธมิตรฯ ก็มีความพร้อม เพราะมีฐานมวลชนที่น่าจะเข้มแข็งกว่าทุกพรรคในขณะนี้

“พรรคการเมืองใหม่ ผมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันจะเกิดทางเลือกใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะสังเกตดูนะที่ผ่านมา มันจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเลยที่บอกไม่รู้จะเลือกพรรคไหน เพราะพรรคนี้ก็ไม่เอา พรรคนั้นก็ไม่เอา เพราะมันก็เหมือนๆ กันหมด สมมติว่า พรรคพันธมิตรฯ พร้อม มีคนส่วนหนึ่งพร้อมที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองและต่อสู้ในวิถีทางทางรัฐสภา ซึ่งเป็นวิถีทางที่จะไปกำหนดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างชัดเจน คือมีอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือซึ่งเป็นอำนาจทางการเนี่ย ตรงนี้ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เลว ...ข้อดีอีกอันหนึ่ง ข้อดีของการที่พันธมิตรฯ จะตั้งพรรคการเมืองก็คือ คุณทักษิณเคยท้าทายไง 3-4-5 ปีมาแล้วว่า คือท้าทายทุกคนที่มาประท้วงแก มาต่อต้านแก มาวิจารณ์แกว่า พวกนี้ไม่รู้จักทำงาน ทำงานไม่เป็น แล้วชอบมานั่งพูดนั่งว่า เพราะฉะนั้นถึงเวลา แน่จริงทำไมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นจุดที่น่าสนใจที่ว่า คราวนี้ที่พันธมิตรฯ มีฐานมวลชนมีเครือข่ายมากมาย ซึ่งอาจจะเข้มแข็งกว่าพรรคการเมืองทุกพรรคในขณะนี้เลยก็ได้ ก็อาจจะกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานประชาชน และค่อยๆ เติบโตมาจากการเป็นกลุ่มประชาชน กลุ่มที่แบบความคิดเห็นสอดคล้องใกล้เคียงกัน ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นลักษณะธรรมชาติอันหนึ่งของการเกิดพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองแท้ๆ อันนี้ผมว่าเป็นในแง่ดีที่ว่า ความพร้อมของพันธมิตรฯ มีมาก”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ไชยันต์ แสดงความเป็นห่วงว่า หากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคจริง อาจเกิดปัญหาความเป็นเอกภาพในหมู่สมาชิกได้ เพราะแม้การรวมตัวของพันธมิตรฯ ในฐานะภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ จะทำได้ง่ายเวลาต่อต้านเรื่องอะไรสักอย่าง แต่หากเป็นพรรคการเมืองแล้ว การนำเสนอนโยบายที่จะทำให้สมาชิกเห็นพ้องโดยถ้วนหน้า อาจไม่ใช่เรื่องง่าย

ขณะที่นายบรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ และผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ภาคใต้ บอกว่า ในฐานะที่ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยหากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองตามกรอบการเมืองใหม่ที่เคยพูดไว้ โดยเป็นพรรคที่ให้ประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพเข้ามามีส่วนร่วม

“ผมว่าก็ดีนะ เพราะความถนัดของแต่ละคน หรือจุดที่แต่ละคนยืนเนี่ยมันต่างกัน อย่างเช่นพวกผมเนี่ย เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำด้านสิ่งแวดล้อม เราก็ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาของชาวบ้านมา และเราก็ไม่ได้สนใจประเด็นการเมืองในเชิงพรรคการเมือง แต่ในส่วนของการเป็นพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ เนี่ย มันต้องเหมือนที่คุยกันกรอบกว้างๆ ใช่มั้ยว่า มันต้องมีความแตกต่างจากพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบสมาชิกที่ต้องมีการมีส่วนร่วมจากสมาชิกจริงๆ ไม่ใช่มีนายทุนคนใดคนหนึ่งหอบเงินมาตั้ง อย่างนั้นไม่มั่นคง และเป็นการเมืองระบบเก่า ซึ่งผมคิดว่าในระยะยาวมันไม่น่าจะมีอนาคตเท่าไหร่ แต่ถ้าทิศทางที่กรอบพันธมิตรฯ วางเอาไว้ตอนที่อยู่ในทำเนียบ เรื่องการเมืองใหม่ว่า ทำยังไงที่จะมีองค์กรที่เป็นภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีความหลากหลายของกลุ่มสาขาอาชีพ ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีอาชีพเดียวและมีสตางค์เท่านั้นที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐ อะไรทำนองนี้ ผมเห็นด้วย”

ด้าน ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็เห็นด้วยหากพันธมิตรฯ จะตั้งพรรคการเมือง เพราะจะทำให้พันธมิตรฯ มีกลไกคู่ขนานทั้งนอกสภาและในสภาในการผลักดันนโยบายหรืออุดมการณ์ให้บรรลุผลสำเร็จได้

“ถ้ามีการจัดตั้ง (พรรค) เนี่ย มันมีการขยายพื้นที่ไปสู่กระบวนการรัฐสภาอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่นับพื้นที่เดิม ก็คือ พื้นที่ที่เคลื่อนไหวอยู่นอกสภา ซึ่งการเคลื่อนไหวนอกสภา คือเคลื่อนไหวมวลชนเนี่ย มันก็มีประโยชน์ แต่มันอาจจะมีข้อจำกัดบางอย่างในการผลักดันนโยบายหรือการกดดันเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าทางพันธมิตรฯ สามารถมีพรรคการเมือง ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา และใช้มันเป็นกลไกอีกกลไกหนึ่ง เราก็จะมีกลไกคู่ขนานในการที่จะร่วมกันผลักดันนโยบายหรืออุดมการณ์ที่เรากำหนดขึ้นมาให้บรรลุความสำเร็จได้ และผมคิดว่าในปัจจุบันเองเนี่ย มันก็มีความจำเป็นอย่างมากที่สังคมไทยจะต้องมีพรรคการเมืองที่มีฐานจากมวลชนที่กว้างขวางเช่นนี้ เพราะพรรคการเมืองเดิมในอดีตของเรานั้น มันเป็นพรรคการเมืองของชนชั้นนำ เล่นกันเพียงไม่กี่กลุ่ม เป็นเครือข่ายระบบอุปถัมภ์เสียส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองเดิมๆ ก็จะมุ่งแต่ประโยชน์ของพรรคของพวกเป็นหลัก ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าเรามีพรรคการเมืองที่มีรากฐานจากมวลชนที่กว้างขวางเช่นนี้ ผมคิดว่ามันก็จะช่วยผลักดันให้การเมืองของสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะกว้างใหญ่”

ส่วนที่บางฝ่ายพยายามดิสเครดิตว่า หากพันธมิตรฯ ตั้งพรรค จะทำให้ขาดความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวนอกสภาในนามภาคประชาชนนั้น ผศ.ดร.พิชาย ชี้ว่า นั่นเป็นเพียงวาทกรรมที่คนบางกลุ่มพยายามสร้างขึ้นว่า เมื่อเป็นพรรคการเมืองต้องเล่นในสภา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดและเหมือนติดกับดักที่คับแคบ

“อันนี้เป็นวาทกรรมชุดหนึ่งในสังคมไทยที่คนบางกลุ่มพยายามสร้างขึ้นมาว่า ถ้าเป็นพรรคการเมืองต้องเล่นในสภา แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เพราะพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเขาเติบโตมาจากฐานทางการเมืองทั้งสิ้น เพียงแต่ในสังคมไทยมันมาเข้าใจผิดกันว่า พอเป็นพรรคการเมืองแล้ว ก็ต้องเล่นอยู่ในสภา และใช้ระเบียบของสภา ซึ่งผมว่า อันนั้นมันเป็นการติดกับดักที่คับแคบ พรรคการเมืองอย่างในประเทศอังกฤษ หรือเยอรมนี ก็ตาม เขาก็มีฐานมวลชน เขาก็ใช้การเมืองภาคประชาชนอะไรต่างๆ ในการที่จะช่วยเสริมซึ่งกันและกันกับกลไกของพรรคการเมือง เพียงแต่รูปแบบของการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนส่วนใหญ่ก็อาจจะมีหลายอย่างหลายรูปแบบ ตั้งแต่ในเรื่องของการชุมนุมกดดัน แม้กระทั่งเรื่องของการเผยแพร่ทางความคิด การสร้างความตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งก็เป็นกลไกที่การเมืองเมืองภาคประชาชนก็ทำได้ และพรรคการเมืองก็ทำได้เหมือนกัน เพียงแต่พรรคการเมืองไทยเขาไม่ทำ”

“พรรคการเมืองไทยตั้งขึ้นมาเพื่อเลือกตั้งอย่างเดียว แต่พรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ถ้าจะตั้งขึ้นมา เราอย่าไปติดกับดักว่าเราจะตั้งมาเพื่อการเลือกตั้ง ถ้าเป็นอย่างนั้น มันก็จะเกิดโศกนาฏกรรมและชะตากรรมเดียวกับพรรคการเมืองในอดีต แต่เราก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดให้มันตรงกับความหมายของคำว่าพรรคการเมืองจริงๆ คือ เป็นพรรคการเมืองที่มุ่งที่จะนำความต้องการของประชาชน นำแนวคิดของประชาชนมาผลักดันในเชิงนโยบายไปพร้อมๆ กับการสถาปนาประชาธิปไตยให้มันมีความเข้มแข็งมั่นคง คือ ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง อย่าไปจำกัดหน้าที่เหมือนกับพรรคการเมืองในปัจจุบันจำนวนมากที่พยายามจำกัดและสร้างกรอบในการขังตัวเองเอาไว้”


ทั้งนี้ หากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองจริง ผศ.ดร.พิชาย ฝากข้อควรระวังไว้ด้วยว่า พรรคพันธมิตรฯ ต้องมีกลไกในการตรวจสอบ ส.ส.ของพรรคในอนาคตให้ดี เพื่อให้ ส.ส.เป็นคนมีคุณธรรมและความรับผิดชอบ เพราะแม้ ส.ส.ของพรรคอาจจะมีความคิดมีอุดมการณ์ แต่เมื่อไปอยู่ใกล้อำนาจก็อาจเบี่ยงเบนได้ 2.ส.ส.ของพรรคพันธมิตรฯ ต้องไม่ท้อ เพราะบางทีเมื่อเข้าไปทำงานการเมือง เจอพรรคการเมืองน้ำเน่าแบบเก่าพยายามขัดขวาง อาจทำให้ ส.ส.ของพรรคพันธมิตรฯ ทำอะไรไม่ได้อย่างที่คาดหวังในสภา ก็ต้องอดทนทำงานต่อไป 3.สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากก็คือ การช่วงชิงตำแหน่ง เพราะพอเข้าไปสู่อำนาจ คนก็อยากมีตำแหน่ง ดังนั้นต้องมีกลไกที่คอยตักเตือนซึ่งกันและกัน หรือคอยวิพากษ์วิจารณ์กันเอง 4.เรื่องทุน ซึ่งแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคการเมืองต้องอาศัยทุนจำนวนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายหรืออุดมการณ์ต่างๆ แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่า ทุนไม่ใช่อุปสรรคที่ใหญ่หลวงอะไร เพราะประชาชนที่สนับสนุนพันธมิตรฯ สามารถช่วยกันบริจาคเงินให้พรรคพันธมิตรฯ ได้

และประการสุดท้าย ที่พรรคพันธมิตรฯ ต้องระวัง ก็คือ แกนนำพรรคจะต้องรับฟังเสียงของประชาชน และต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมวลชนอยู่ตลอดเวลา อย่าทำตัวห่างเหิน เพราะถ้าห่างเหินมวลชนเมื่อไหร่ จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างแกนนำพรรคและมวลชนของพรรค ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อพรรคการเมืองได้!!
สนธิ ลิ้มทองกุล จะตัดสินใจอย่างไร หากมวลชนเรียกร้องให้นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคพันธมิตรฯ
รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ พันธมิตรฯ มีความพร้อมในการตั้งพรรค เพราะมีฐานมวลชนมากมายและอาจจะเข้มแข็งกว่าทุกพรรคในขณะนี้
ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต แห่งคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า หนุนพันธมิตรฯ ตั้งพรรค เพราะช่วยให้การผลักดันนโยบายหรืออุดมการณ์บรรลุผลสำเร็จได้
บรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ หนุนพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองตามกรอบการเมืองใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น