xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:‘กลยุทธ์เมาไม่ขับ’ พิทักษ์สิทธิชีวิตที่ถูกลิดรอน

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

‘เมาแล้วขับ’ นับเป็นประเด็นสากลที่ทั่วทุกมุมโลกเผชิญความสูญเสียไม่ต่างกันนัก จะยกเว้นบ้างก็บางประเทศที่เคร่งครัดศีลธรรมจรรยาจนสามารถกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับสุราและจราจรจากรากฐานทางศาสนาและข้อบัญญัติวัฒนธรรม หรือไม่ก็ประชาชนในประเทศเหล่านั้นไม่เพียงหวงแหนสิทธิในชีวิตตนเอง หากแต่ยังเคารพสิทธิในชีวิตของบุคคลอื่นยามเดินทาง

ทว่าสำหรับเมืองไทยแล้วการกำหนดกฎหมายจากศีลธรรมคงยากมากเพราะพัวพันกับกลุ่มอำนาจธุรกิจและการเมืองที่ผลประโยชน์อยู่เหนือความถูกผิดใดๆ ไม่เท่านั้นวัฒนธรรมไทยยังมองสุรายาเมาเป็นส่วนเติมเต็มความสนุกสนานของเทศกาลระดับชาติอย่างปีใหม่ สงกรานต์ และวันพุทธศาสนาสำคัญต่างๆ ตลอดจนระดับปัจเจกเ ช่น งานวันเกิด งานบวช งานแต่ง งานศพ จนถึงวาระอกหักรักคุด ตกงาน เลื่อนตำแหน่ง ฟุตบอลทีมโปรดชนะ ที่ล้วนแล้วแต่ขาดของมึนเมาไม่ได้

นั่นทำให้สถิติการพลัดพรากสูญเสียจากการเมาแล้วขับขยับสะสมขึ้นทุกปีทุกเดือนทุกวัน เพราะมีเหตุผลมากมายให้ผู้คนต้องดื่มกันทุกวัน แล้วดื่มแล้วขับกันอยู่เสมอๆ

จะมีสักกี่มากน้อยกันที่ตระหนักว่าถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูง 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ไม่ดื่มสุรา 3 เท่า และถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มเป็น 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะทะยานมากกว่าคนที่ไม่ดื่มสุราถึง 40 เท่า

อันตรายจากการไม่รู้ว่าตัวเองอันตรายต่อชีวิตทรัพย์สินตัวเองและคนอื่นนั้นน่ากลัวนัก!

การกำหนดกลยุทธ์เมาแล้วขับจึงเป็นการทำสิ่งที่ถูกต้องในห้วงวิกฤตชีวิตคนไทยถูกลิดรอนมหาศาลจากการเมาแล้วขับ ที่ไม่ใช่แค่ตาย แต่ยังพิการบาดเจ็บจำนวนมาก ดังสถิติผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมาจากเหตุเมาสุราสูงถึงร้อยละ 40

การแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติเพื่อทำสิ่งที่กำหนดไว้ให้ถูกต้องนอกจากจะต้องระดมสรรพกำลังหลากหลายฝ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ยังต้องสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานระดับปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการภายใต้สภาพแวดล้อมจริงผ่านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic planning) ร่วมกันด้วย เพราะหน่วยงานระดับปฏิบัติการจะดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นจำต้องมีกลยุทธ์สอดคล้องกับระดับบริหารนโยบาย

ดังนั้น เมื่อเป้าหมายคือการลดจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายจากเหตุเมามายแล้วขับขี่ให้มากที่สุดเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิในชีวิตยามเดินทางของผู้คน การกำหนดเป้าหมายจึงต้องกำหนดมาจากหน่วยงานและบุคลากรระดับปฏิบัติการ บวกรวมกับการวิเคราะห์ SWOT ทั้งภายในและนอกด้านจุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) โอกาส (Opportunities) และภาวะคุกคาม (Threats) เพื่อสร้างทางเลือกทางกลยุทธ์ของฝ่ายบริหาร ก่อนขับเคลื่อนกลยุทธ์เหมาะสมสูงสุด

โอกาสของเมาไม่ขับห้วงยามปัจจุบันคือการขึ้นภาษีสุราของกรมสรรพสามิตที่สามารถนำไปใช้เป็นพลังลดจำนวนผู้เสพสุราลงได้ ด้วยนอกจากสุราจะราคาแพงขึ้นจนคนลดอัตราการบริโภคลงเองแล้ว ภาษีบาป (Sin tax) ที่เพิ่มขึ้นยังนำมาสนับสนุนองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ ในการรณรงค์ ‘ลด ละ เลิก เหล้า’ เพื่อบรรเทาผลกระทบภายนอกไม่พึงปรารถนา (Negative externality) ทั้งมิติสุขภาพเสื่อมทรุดและอุบัติเหตุจราจรได้ เพราะขนาดก่อนปรับอัตราภาษี รายได้กรมสรรพสามิตระหว่างตุลาคม 2551-1 มกราคม 2552 ยังมาจากภาษีสุราถึง 11,741.36 ล้านบาท และภาษีเบียร์ 16,684.13 ล้านบาท

ฉะนั้น แม้จะขึ้นภาษีสุรารวมถึงยาสูบด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก หากแต่หน่วยงานอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ภาษีร้อยละ 2 จากภาษีสุราและยาสูบมาดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาวะก็จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นไม่น้อย โดยส่วนหนึ่งควรจัดสรรสู่ภาคีสุขภาวะเพื่อเชื่อมร้อยพลังกันผลักดันกลยุทธ์เมาไม่ขับให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น รวมถึงทีวีไทยที่มุ่งสร้างสังคมคุณภาพและคุณธรรมที่ใช้ภาษีบาปปีละ 2,000 ล้านบาทมาดำเนินงานก็ควรอุทิศเวลามากขึ้นเพื่อลดพฤติกรรมไม่พึงปรารถนานี้เหมือนกัน

มาตรการจัดเก็บภาษีสุราและยาสูบจึงสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คนได้ไม่ต่างจากความสำเร็จของมาตรการภาษีที่จูงใจประชาชนให้หันมาใช้แก๊สโซฮอลแทนน้ำมันเบนซิน ถึงแม้นว่ากรณีเมาไม่ขับจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงก็ตาม แต่ก็ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนี้ที่จะลดเหยื่อเมาแล้วขับลงได้บ้างจากจำนวนผู้เสพสุราน้อยลงเพราะแพง

ถึงกระนั้นเสียงของภาคธุรกิจที่ควบแน่นกับการเมืองก็กระหึ่มกว่าเสียงภาคประชาชนและองค์กรสาธารณประโยชน์ในโลกทุนนิยมอยู่ดี การเผชิญหน้าสัประยุทธ์กันรังแต่แพ้พ่าย ทางแก้จึงต้องดึงกระบวนการสร้างเครือข่าย เช่น เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ และเครือข่ายลดอุบัติเหตุที่เป็นจุดแข็งหรือสมรรถนะหลัก (Core competency) ของเมาไม่ขับมาใช้รณรงค์หลากหลายรูปแบบ

ด้วยความรู้สึกร่วมที่เหยื่อเมาแล้วขับถ่ายทอดจนเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมนั้นจะได้รับการประเมินคุณค่าจากสาธารณชนว่าถึงที่สุดแล้วต่อให้เราขับรถระมัดระวังรอบคอบ เคร่งครัดกฎกติกาจราจรมากสักแค่ไหน ทว่าก็ยังตกเป็นเหยื่อเมาแล้วขับได้เสมอ ถ้าอีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นผู้ขับขี่ยวดยานบนท้องถนนเดียวกันกับเราเมามาย ขาดสติขับรถส่ายไปส่ายมา ท้าทายความเร็วแรง

กลยุทธ์ผลกระทบของเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับที่ขยายกว้างขวางทั่วทั้งสังคมไทยจะช่วยให้การรณรงค์เมาไม่ขับพัฒนากลไกการทำงานแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากสาธารณชนเชื่อมั่นว่าถ้าเข้าร่วมส่งเสริมจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์การตกเป็น ‘เหยื่อเมาแล้วขับ’ ที่ไม่รู้ว่าวันใดจะมาถึงตัวเอง ครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายได้

อนึ่งถึงกลยุทธ์ดี แต่ถ้าไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสมก็ไร้ค่า กระบวนการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (Strategy implementation) เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายจึงเรียกร้องการลงมือทำตามขั้นตอนครบถ้วนของระดับปฏิบัติการทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ ตลอดจนต้องสร้างความสอดคล้องของกลยุทธ์กับองค์ประกอบด้านโครงสร้าง วัฒนธรรม บุคลากร สิ่งจูงใจ กิจกรรมสนับสนุน และภาวะผู้นำ โดยเฉพาะเจตจำนงทางการเมือง (Political will) ที่รัดร้อยกับทางเลือกทางกลยุทธ์ของเมาไม่ขับ ด้วยจะบรรลุเป้าหมายได้ก็ต้องปรับทั้งกลยุทธ์ควบคู่วัฒนธรรม

กล่าวคือการปรับวัฒนธรรมไทยให้สอดคล้องกับกลยุทธ์เมาไม่ขับนั้นเป็นพันธกิจที่ผู้นำรัฐนาวาไทยไม่อาจปัดปฏิเสธ เพราะพฤติกรรมเมาแล้วขับจะเปลี่ยนเป็นเมาไม่ขับได้ก็ต่อเมื่อปลูกฝังจิตสำนึกรักษาสิทธิในชีวิตของบุคคลอื่นอย่างกว้างขวางผ่านการบังคับใช้กฎหมายจริงจังและสร้างตัวแบบพฤติกรรมและค่านิยมในหมู่ผู้คนจนกระทั่งรื้อถอนวัฒนธรรมสนุกสนานจากฤทธิ์น้ำเมาได้

ในขณะเดียวกันก็ต้องเทียบเคียงการทำงานเมาไม่ขับกับต่างประเทศเพื่อหาแนวทางปฏิบัติงานที่ดีที่สุด (Best practice) พร้อมๆ กับปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานให้สามารถดึงจุดแข็งของเครือข่ายมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดด้วย โดยเฉพาะการแปลงแผนกลยุทธ์ไปสู่แผนปฏิบัติการ (Action plan) ของหน่วยงานระดับปฏิบัติการที่ต้องระบุเป้าหมายหลักเชิงกลยุทธ์ในแต่ละขั้นตอนดำเนินการ และวัดความก้าวหน้าตลอดช่วงดำเนินการนั้นๆ ให้สอดรับกับกลยุทธ์สูงสุดตลอดเวลา

รวมถึงการกำหนด ‘ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไรอย่างไร’ ในขั้นตอนปฏิบัติการ (Action steps) ที่แจ่มแจ้งจักเหนี่ยวนำความสำเร็จมาให้ได้ เพราะไม่เพียงมี ‘เจ้าภาพ’ รับผิดชอบงานชัดเจนจนไม่เกิดกรณีเกี่ยงงานหรือทำงานซ้ำซ้อนกันดังก่อน ทว่ายังจัดสรรทรัพยากรได้เหมาะสมกับการดำเนินงาน ตลอดจนระบุจุดเชื่อมต่อของความร่วมมือกันในแต่ละฝ่ายได้ด้วย

ทั้งนี้ เหตุที่เมาไม่ขับยังไม่อาจบรรลุผลสักเท่าใดในสังคมไทย ไม่ใช่เพราะกลยุทธ์นี้ไม่ดี แต่ที่ล้มเหลวก็เพราะไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติเพียงพอ ขาดการบูรณาการ ติดตามประเมินผลแก้ไขข้อผิดพลาด แยกการวางแผนออกจากการลงมือปฏิบัติ ทั้งยังละเลยความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากไม่ตระหนักว่ากลยุทธ์หนึ่งๆ จะใช้ได้ในบริบทหนึ่งๆ เท่านั้น และเหนืออื่นใดไม่สร้างวัฒนธรรมไทยให้หันมา ‘พิทักษ์สิทธิชีวิต’ ทั้งของตนเอง ครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายจากอันตรายเมาแล้วขับกันสักที.-

เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น