xs
xsm
sm
md
lg

บล.บักโกรกQ1กำไรหดพันล.เซ่นวิกฤตสถาบันการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – บริษัทหลักทรัพย์อ่วม ไตรมาส 1/52 ขาดทุนกันถ้วนหน้า หลังจากวิกฤตสถาบันการเงินฉุดภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ตลาดหุ้นซบเซา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยลดเหลือแค่วันละ 8.8 พันล้านบาท ระบุกำไรสุทธิลดลงจากปีก่อนกว่า 1,050 ล้านบาท คิดเป็น 130% โดยมีบล.ซีมิโก้-คันทรี่ กรุ๊ป ขาดทุนสุทธิสูงสุดกว่า 71 ล้านบาท ด้านนักวิเคราะห์ประเมิน ไตรมาส 2/52 ยังไร้ทิศทาง เหตุตลาดหุ้นยังผันผวน แม้นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาลงทุนผลักดันให้ตลาดหุ้นคึกคักบ้าง
นับแต่ต้นปี 2552 ตลาดหุ้นไทยยังตกอยู่ในบรรยากาศที่ซบเซา จากวิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว โดยดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่มีเข้ามาเบาบาง คือ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่ำกว่าวันละ 1 หมื่นล้านบาท จนส่งผลให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาจจะต้องพิจารณาปรับลดเป้าหมายมูลค่าการซื้อขายแฉลี่ยต่อวันใหม่
จากประเด็นดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) เป็นหลัก ทำให้บล.หลายแห่งต้องปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอดและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้อื่นๆ การปรับลดค่าใช้จ่าย รวมถึงบางแห่งถึงขั้นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลง
***บล.กำไรลดกว่าพันล้านบาท***
ASTV ผู้จัดการรายวัน ได้สำรวจผลประกอบการของบริษัทหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งสิ้น 13 แห่ง สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ปรากฏว่า บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งมีผลประกอบการลดลง คือ ขาดทุนสุทธิรวมทั้งสิ้น 248.54 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 802.35 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิลดลงกว่า 1,050.89 ล้านบาท หรือคิดเป็น 130.98% (ตารางประกอบข่าว)
ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายบริษัทพบว่า บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งมีผลประกอบการที่ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน และส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุนถึง 10 แห่ง จากทั้งหมด 13 แห่ง มีเพียง 3 รายเท่านั้นที่ยังมีผลกำไรสุทธิ แต่กำไรสุทธิลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน
***กิมเอ็งฯกำไรลดฮวบเหลือ 46 ล้านบ.
สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ 3 แห่งที่มีผลกำไรสุทธิได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กำไรสุทธิ 46.01 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.08 บาท เพียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 166.90 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.30 บาท หรือกำไรสุทธิลดลง 72.43%
บล. ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA กำไรสุทธิ 35.66 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.17 บาท ลดลงจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 129.99 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.61 บาท หรือลดลง 72.57% และบล. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS กำไรสุทธิ 0.65 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.004 บาท ลดลงจาก 53.95 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.30 บาท หรือลดลง 98.80%
***ซีมิโก้ ขาดทุนหนักสุดเกือบ 72 ล้านบ.****
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ที่ขาดทุนสุทธิมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บล. ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO ขาดทุนสุทธิสูงถึง 71.85 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.087 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 32.18 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.039 บาท หรือกำไรสุทธิลดลงกว่า 323.28%
อันดับสองบล. แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) หรือ ASL ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บล. คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS ขาดทุนสุทธิ 71.60 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.02 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 136.61 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.03 บาท หรือกำไรสุทธิลดลงกว่า 152.41%
อันดับสามบล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ขาดทุนสุทธิ 59.94 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.03 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 82.09 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.04 บาท หรือกำไรสุทธิลดลง 173.02%

****กิมเอ็งฯ คอมมิชชันลดกว่า 47%***
นายภูษิต แก้วมงคลศรี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST เปิดเผยถึง สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงกว่า 70% ว่า บริษัทรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 216.17 ล้านบาท เหลือ 241.83 ล้านบาท หรือลดลง 47.20% เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของบริษัทลดลงจาก 3,129 ล้านบาท เหลือ 1,718 ล้านบาท สืบเนื่องจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลง จาก 19,248 ล้านบาท เหลือ 8,851 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนระยะยาวในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งเป็นจำนวนเงิน 14.66 ล้านบาท
ด้านค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทลดลง 90.73 ล้านบาท เป็น 247.05 ล้านบาท หรือลดลง 26.86% ซึ่งค่าใช้จ่ายหลักที่ลดลงได้แก่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานลดลง 69.89 ล้านบาท และผลตอบแทนกรรมการลดลง 7.58 ล้านบาท รวมทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง 32.30 ล้านบาท เป็น 21.72 ล้านบาท หรือลดลง 59.79%

***คันทรี่ฯ รายได้หด 203 ล้านบาท****
นายสดาวุธ เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บล. คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS (เดิมบล. แอ๊ดคินซัน : ASL) กล่าวว่า ไตรมาส 1/52 บริษัทได้รับผลกระทบจากรายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง และการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ ตามภาวะตลาดและเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบทั่วโลก โดยมีรายได้รวม 104.08 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 307.92 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 203.84 ล้านบาท คิดเป็น 66.20%
ทั้งนี้ รายได้รวมของบริษัทประกอบด้วย รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 67.35 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 8.28 ล้านบาท กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 0.10 ล้านบาท รายได้จากดอกเบี้ยรับและเงินปันผล 21.62 ล้านบาท ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 0.40 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 6.33 ล้านบาท
ด้านค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 175.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.38 ล้านบาท หรือ 2.56% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายรวม 171.31 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ 35.34 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน 72.89 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ 34.82 ล้านบาท ค่าเสื่อมราคาเครื่องใช้สำนักงานลดลง 4.40 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขา 4.10 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น 11.73 ล้านบาท

***เคจีไอฯ รายได้คอมมิชชันลดวูบ****
นางสาว บี เล็ง ออย กรรมการผู้จัดการ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI กล่าวว่า ไตรมาส 1/52 บริษัทมีรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ 64 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 147 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 44 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 59 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ 24 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ 112 ล้านบาท และมีรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ 9 ล้านบาท ลดจาก 19 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีก่อน
***โบรกเกอร์ไม่ฟันธงหุ้นบล.Q2/52***
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/52 ของกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน จากวิกฤตสถาบันการเงินและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงเหลือแค่ระดับกว่า 8 พันล้านบาท ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ จะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อาทิ การควบรวมกิจการ การปิดสาขา รวมถึงการเพิ่มช่องทางหารายได้อื่นๆ
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/52 ของกลุ่มหลักทรัพย์น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่นักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย และตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายเริ่มหนาแน่น เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา
“แม้ไตรมาสนี้มูลค่าการซื้อขายจะเริ่มคึกคัก บางวันวอลุ่มทะลุ 3 หมื่นล้านบาท แต่เรายังไม่สามารถให้ความมั่นใจว่าไนไตรมาส 2/52 นี้ กำไรของกลุ่มหลักทรัพย์จะเพิ่มขึ้น เพราะตลาดหุ้นไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะผันผวนอีกครั้งเร็วๆ นี้”
ทั้งนี้ หากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยไตรมาส 2/52 นี้ อยู่ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาทต่อวัน จะทำให้บริษัทหลักทรัพย์มีกำไรสุทธิในระดับที่ทรงตัว เพราะบล.จะมีจุดคุ้มทุนเฉลี่ยอยู่ที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท แต่ถ้ามูลค่าขยับเพิ่มถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อวันจะส่งผลดีต่อบริษัทหลักทรัพย์”
กำลังโหลดความคิดเห็น