xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นโบรกเกอร์ส่อเดี้ยง Q1อาจเหลือแค่3บล.ที่มีกำไรสวนวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – บล.เอเซียพลัส ชี้ ไตรมาส1/52 จะมีโบรกเกอร์มีกำไรเพียง 3 แห่ง ได้แก่ “กิมเอ็ง-ภัทร -เคจีไอ ”เหตุมีจุดคุ้มทุนที่วอลุ่มซื้อขายเฉลี่ยเพียง 7 พันล้านบาท วิตก บล.ยูไนเต็ดอาการหนักสุด มีเงินสดเพียง 22 ล้านบาท รองรับขาดทุนเพียง 1 ปี รองมาคือ แอ๊ดคินซัน ,โกลเบล็ก และ ไซรัส เสี่ยงถูกควบรวมมากที่สุด แต่คาดไตรมาส2 วอลุ่มปรับดีขึ้นจากกลางเมษายนวอลุ่มแตะ 2 หมื่นล้านบาทดันวอลุ่มเฉลี่ยทั้งปี 1.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน ด้านดัชนีตลาดหุ้นวานนี้ลดง 5.76 จุด ต่างชาติยังเทขาย การเมืองยังอึมครึม

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน)หรือ ASPได้มีการออกบทวิเคราะหุ้น กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ว่า จากการการศึกษาบล.จำนวน 11 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยังคงมีผลขาดทุนรวมในไตรมาส1/52 จำนวน 81 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาส4/51 ที่มีผลขาดทุนรวม 760 ล้านบาท เนื่องจาก มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยเป็นระดับที่บล.ขนาดกลางและเล็กไม่สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ รวมถึงรายได้อื่นๆ เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆคาดว่าจะปรับตัวลดลงตามภาวะตลาด โดยเฉพาะการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai)

ทั้งนี้คาดว่าจะยังคงมีกำไรสวนทางอุตสาหกรรมจะมีเพียง 3 บริษัท คือ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มีกำไรสุทธิ 46 ล้านบาท บล.ภัทร มีกำไรสุทธิ 33 ล้านบาท และ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มีกำไรสุทธิ จำนวน 19 ล้านบาท จากที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงเกินกว่า 4% ทำให้มีมูลค่าการซื้อขายที่จะสามารถคุ้มทุนเพียง 7 พันล้านบาทต่อวัน ยกเว้น บล.บัวหลวง แม้มีส่วนแบ่งการตลาด 4% ซึ่งใกล้เคียงกับ บล.เคจีไอ แต่คาดว่าจะขาดทุนในไตรมาส1/52 เพราะ มีรายได้กระจุกตัวในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ทำให้มูลค่าการซื้อขายที่จะคุ้มทุนต้องอยู่ในระดับที่สูงกว่าหรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อวัน ส่วนบริษัทขนาดเล็กที่เหลือ มีจุดคุ้มทุนต้องสูงกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จึงเข้าข่ายที่จะมีผลขาดทุนต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน บริษัทมองว่า บล.ขณะนี้จะมีเงินสดในมือค่อนข้างสูง จากการประเมินพบว่าในกรณีเลวร้ายสุดหาก มูลค่าการซื้อขายเบาบางต่อเนื่อง เพียง 1 หมื่นล้านบาทต่อวันจะทำให้บล.จะต้องมีการเร่งปรับตัว โดยการประเมินดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบจากอัตราค่านายหน้าที่จะทยอยลดลงภายหลังการเปิดเสรีที่กำหนดเดิมจะเริ่มคิดอัตราค่านายหน้าแบบขั้นบันไดในปี 2553 จึงคาดว่าบล.ที่ขาดทุนแล้วในปัจจุบันคงต้องเร่งปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการหาพันธมิตรเพื่อให้ธุรกิจยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตามบล.ที่น่ากังวลมากสุด คือ บล.ยูไนเต็ด ซึ่งจะมีผลขาดทุนระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสดที่มีค่อนข้างต่ำ ทำให้เพียงพอรองรับผลขาดทุนได้เพียง 1 ปี เช่นเดียวกับ บล.แอ๊ดคินซัน แม้มีเงินสดสูงถึง 400 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับคาดการณ์ผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะขาดทุนสูงถึง 200 ล้านบาทต่อปี ภายใต้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 1 หมื่นล้านบาทต่อวัน เพราะ บล.แอ๊ดคินซัน ดำเนินธุรกิจเพียงด้านเดียวได้เพียง 2-3 ปีเท่านั้น จึงคาดว่าจะเป็นบริษัทที่ต้องปรับตัว และเป็นเป้าหมายของการควบรวมกิจการก่อนคู่แข่งรายอื่นๆ

นอกจากนี้ด้าน บล.โกลเบล็ก และ บล.ไซรัส เป็น บล.ที่มีความกังวลในระดับที่รองลงมา ดังนั้นในทางตรงกันข้ามบริษัทขนาดใหญ่และกลาง คือ บล.กิมเอ็ง บล.ภัทร บล.บัวหลวง และบล.เคจีไอ คาดว่าผลการดำเนินงานจะยังมีกำไรได้อยู่ภายใต้วอลุ่ม 1 หมื่นล้านบาทต่อวัน จึงคงไม่ใช่เป้าหมายของการควบรวมกิจการ แต่คงจะเป็นฝ่ายที่จะหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งมากกว่า

ทั้งนี้ บล.เอเซียพลัส ได้มีการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์เป็น เท่ากับตลาด เนื่องจาก ปัจจัยลบต่างๆที่เคยกดดันเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเมืองในประเทศ เริ่มคลี่คลาย จากมูลค่าการซื้อขายที่ปรับตัวดีขึ้นสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อวันในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 9.2 พันล้านบาทต่อวันก็ตาม โดยคาดว่าจะทำให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยทั้งปี 2552 มีความเป็นไปได้ที่จะใกล้เคียงกับที่บริษัทคาดไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน ภายใต้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดในช่วงที่เหลือของปีนี้จะต้องไม่ต่ำกว่า 1.75 ล้านบาทต่อวัน

ดัชนีหุ้นปรับฐานหลังดีดตัวยาว
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (22เม.ย.) พบว่า ปิดที่ 460.62 จุด ลดลง 5.76 จุด หรือ -1.24% มูลค่าการซื้อขาย 18,276.98 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ 470.46 จุด และต่ำสุดที่ระดับ 459.31 จุด ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้น 136 หลักทรัพย์ ลดลง 190 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 106 หลักทรัพย์
นายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟาร์อีสท์ จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯวานนี้(22เม.ย.) ปรับตัวอยู่ในแดนลบตลอดวัน ซึ่งเป็นผลมากจากจากนักลงทุนต่างชาติประเมินว่าตลาดหุ้นไทยมีค่าP/Eที่ค่อนข้างสูงประมาณ 11 เท่า เทียบกับตลาดในภูมิภาคเดียวกัน ส่งผลให้เริ่มมีเม็ดเงินจากต่างชาติไหลออก
ขณะที่ปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังอึมครึมก็กลายเป็นอีกปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ นอกเหนือจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ
สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้(23เม.ย.) คาดว่าแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยนักลงทุนควรจับตาการประกาศตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ตลาดหุ้นเอเชีย และความเคลื่อนไหวของการเมืองไทย ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ โดยมีแนวรับอยู่ที่ 440-450 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 470 จุด
นายอดิศักดิ์ ผู้พิพัฒน์หิรัญกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วานนี้ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนในลักษณะปรับฐานหรือมีแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุนออกมาตลอดวัน หลังมีแรงซื้อหุ้นติดต่อหลายวัน ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับตลาดเอเชีย ส่วนความไม่แน่นอนของการเมืองนั้นไม่มีผลต่อดัชนีมากนัก เพราะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายหลักทรัพย์วันนี้ เชื่อว่ายังคงซบเซา นักลงทุนควรรอดูการทยอยแจ้งผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนไทย ราคาน้ำโลก และปัจจัยในต่างประเทศ อย่างไรก็ดีจากเหตุผลดังกล่าวหากเป็นไปได้ควรชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ ทั้งนี้ประเมินแนวรับที่ 460 จุด และแนวต้านที่ 470 จุด
นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กล่าวว่า ภาพรวมการซื้อขายหุ้นไทยวานนี้ ยังคงเงียบเหงา ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนส่วนใหญ่ต่อสภาพเศรษฐกิจที่หดตัว ด้านแรงซื้อเข้ามาอย่างคับคั่งของหุ้น BANPU นั้นมาจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคาถ่านหินจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกจากปัจจุบันที่ประมาณ 60 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่วนการเมืองไทยเชื่อว่าไม่มีนำหนักมากนักเนื่องจากภาพรวมยังค่อนข้างนิ่ง
“ตลาดหุ้นไทยวันนี้น่าจะยังซึมๆ เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรจับตาการปรับขึ้นลงของราคาน้ำโลก ดัช นีดาวโจนส์ และตลาดเอเชีย ส่วนกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้ทยอยเก็บหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และปูน” นายพงศ์พันธุ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น