xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นไทยไตรมาส 1 มูลค่าวูบ43%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตเศรษฐกิจโลกฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน ไตรมาส 1/52 มูลค่าการซื้อขายตลาดหุ้นไทยวูบเหลือ 8.66 พันล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่สูงถึง 1.59 หมื่นล้านบาท หรือลดลงกว่า 43% โดยนักลงทุนต่างชาติยังขายต่อเนื่อง 5.5 พันล้านบาท แม้จะมีสัญญาณกลับเข้ามาลงทุนในเดือนมี.ค. 52 ด้านโบรกเกอร์ปลอบใจภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวน้อยกว่าสหรัฐฯ หลังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันหนุนราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน พร้อมแนะนักลงทุนหยุดพักการซื้อขาย หวั่นม็อบไข่แม้วนักชุมนุมใหญ่ 8 เม.ย.นี้ กระทบดัชนีตลาดหุ้นไทย และจับตาผลการประชุมกนง.

จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และยังไม่สัญญาณที่ชัดเจนถึงการฟื้นตัว ได้สร้างความเสียหายต่อตลาดทุน-ตลาดเงินในประเทศเป็นอย่างมาก โดยช่วงไตรมาส1/2552 การลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 8,659.71 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 15,869.94 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 43.43%

หากพิจารณาแยกตามประเภทของนักลงทุนนั้น นักลงทุนต่างประเทศยังคงขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง คือ มียอดขายสุทธิ 5,546.43 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 6,514.14 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 12,060.57 ล้านบาท โดยในวันที่ 6 ม.ค. 52 มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ 21,345.04 ล้านบาท และต่ำสุดในวันที่ 26 ม.ค. 52 ที่ 2,339.79 ล้านบาท

จากภาพรวมการลงทุนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนต่างประเทศยังคงเทขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แม้ว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจะเริ่มมีสัญญาณของนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง เช่นเดียวกับบรรดานักลงทุนสถาบัน โดยส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการปรับลดพอร์ตลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมตราสารทุนต่างๆ

**ไทยยังแกร่ง-หนี้เสียยังต่ำ**

นายเตชธร ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 1/52 นั้นถือว่ายังปรับลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ประกอบกับสถาบันการเงินในประเทศยังค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกัน ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานนที่มีมูลค่าตลาดรวมสูงสุดและมีน้ำหนักต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุน ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น

**หุ้นไทยเคลื่อนตัวตามภูมิภาค**

สำหรับความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3เม.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดการซื้อขายที่ระดับ 446.04 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 3.08 จุด หรือคิดเป็น 0.70% มูลค่าการซื้อขายรวม 14,063.63 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุด 446.35 จุด ต่ำสุด 441.16 จุด นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,538.17 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 414.52 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 1,952.70 ล้านบาท

นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ซึ่งเป็นผลมาจากดัชนีดาวโจนของสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันโลกที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นมาจนแตะ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับยังได้แรงหนุนจากการที่หุ้นในกลุ่มธนาคารเตรียมจะจ่ายปันผลในสัปดาห์นี้ เช่น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ฯลฯ

**เชื่อมั่น8เม.ย.ม็อบไข่แม้วไม่มีผล**

ขณะที่ปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ (ปชป.) ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่นั้นไม่มีผลต่อความการตัดสินลงทุนของนักลงทุนมากนัก เนื่องจากยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรง

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ภาวการณ์ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์น่าจะยังคงเงียบเหงา เนื่องจากเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่นักลงทุนควรจับตาการชุมนุมของกลุ่มนปช. ที่จะนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 8 เมษายนนี้ และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ โดยมีแนวรับที่ 450-455 จุด และแนวต้านที่ 425-430 จุด

นายอดิศักดิ์ ผู้พิพัฒน์หิรัญกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่แล้วดัชนีเคลื่อนไหวค่อนในกรอบแคบๆ โดยมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงานหลังทิศทางราคาน้ำมันโลกเริ่มฟื้นตัว แต่ยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่กลุ่มนปช. ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ส่วนแนวโน้มการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะยังเบาบางหรือซึมตัว โดยนักลงทุนควรรอดูการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนปช. และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงทิศตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเอเชีย ดังนั้นนักลงทุนควรรอจังหวะการลงทุน โดยเข้าซื้อเมื่อดัชนีเข้าใกล้แนวรับที่ 436 จุด ทั้งนี้ประเมินแนวรับอยู่ที่ 436 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 452 จุด

ด้านนางสาวมยุรี โชวิกานต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กล่าวถึง ภาพรวมตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่แล้วว่าปรับขึ้นเล็กน้อย โดยมีแรงซื้อเข้ามาเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคาร หลังราคาน้ำโลกและตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเมินว่าปัจจัยยการเมืองในประเทศไม่มีผลต่อดัชนีมากนัก เพราะรัฐบาลพยายามใช้การเจรจาแทนที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการเรื่องดังกล่าว

“สัปดาห์นี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่นักลงทุนคงต้องรอดูการปรับดอกเบี้ยของ กนง. ปัจจัยในต่างประเทศ ตลอดจนปัญหาการเมืองในประเทศ โดยกรอบแนวรับอยู่ที่ 440 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 456-460 จุด” นางสาวมยุรีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น