xs
xsm
sm
md
lg

อภิสิทธ์"ห่วงใย-ทั้งโลกโหมประณามพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการรายวัน-- นายกรัฐมนตรีของไทยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (15 พ.ค.) แสดงความเป็นห่วงต่อสุขภาพของนางอองซานซูจี ตลอดจนกระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยของพม่าที่ยืดเยื้อมานาน ขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกโหมประณามการกระทำของระบอบเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศนี้มานานเกือบ 50 ปี

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในดินแดนฮ่องกงระบุว่า "เป็นที่ชัดเจนสภาพเกี่ยวกับสุขภาพ (ของนางซูจี) เป็นที่น่าห่วงและควรจะเป็นที่ห่วงใยสำหรับทุกคน"

นายอภิสิทธิมิได้กล่าวถึงความถูกต้องเหมาะสมกรณีที่ทางการทหารจับกุมผู้นำฝ่ายค้าน ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่ได้กล่าวถึงภาพที่ใหญ่กว่าคือ สิ่งที่พม่าเรียกว่า "หนทางไปสู่ประชาธิปไตย" (road map) ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรหรือไม่

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการประจำกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มที่มีสมาชิก 10 ประเทศรวมทั้งทั้งพม่าด้วย

ส่วนนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าวในกรุงเทพฯ วันเดียวกัน "หวังว่านางจะได้รับการปล่อยตัว" และ ไทย "ห่วงในอย่างยิ่ง" ว่ารัฐบาลพม่าจะยืดเวลาการคุมขังนางซูจีออกไป

ทั้งไทยและประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้ถูกกลุ่มสิทธิมมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากพากันเงียบกริบต่อกรณีทางการพม่าจับกุมผู้นำของพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของประเทศและ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2534

อินโดนีเซียกับสิงคโปร์เป็นชาติสมาชิกเพียงสองประเทศที่ออกเรียกร้องโดยตรงให้พม่าปล่อยนางซูจี ทั้งประณามการกล่าวหาและการจับกุมโดยระบุว่า "ไม่เหมาะไม่ควร"

ทางการพม่าได้กล่าวหานางซูจีว่า "ละเมิดระเบียบการกักบริเวณ" หลังจากนายจอห์น วิลเลียม เยตทอว์ (John William Yetthaw) ชายชาวอเมริกันวัย 53 ปีว่ายน้ำข้ามบึงน้ำอินเล (Inle) ในกรุงย่างกุ้งไปยังบ้านพักที่ผู้นำฝ่ายค้านถูกบริเวณมาประมาณ 13 ปีตลอดช่วงเวลา 19 ปีมานี้

นายเยตทอว์พำนักอยู่ในเรือนหญิงรับใช้เป็นเวลา 2 คืน โดยไม่ทราบเจตนา

"การกล่าวหาต่อนางไม่เหมาะไม่ควร ทำไมต้องควบคุมตัวอองซานซูจีในเมื่อชายชาวอเมริกันเป็นฝ่ายว่ายน้ำเข้าไปยังบ้านพัก" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันศุกร์ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งระบุว่า "ผิดหวัง" ต่อข้อกล่าวหา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำฝ่ายค้านในทันที

ทนายความของนางซูจีกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เรื่องนี้ต้องโทษชายชาวอเมริกันคนดังกล่าว และยืนยันว่านางซูจีได้ขอร้องให้ออกจากบ้านพักไปตั้งแต่วันแรก

ในวันศุกร์เช่นเดียวกันเอกอัครราชทูตกลุ่มอาเซียนในกรุงย่างกุ้งได้ประชุมกันในเพื่อเตรียมออกคำแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรออกมา และที่ผ่านมากลุ่มอาเซียนมักจะไม่แสดงท่าทีอะไรวิพากษ์วิจารณ์บรรดาผู้นำทหารในประเทศสมาชิก

แต่รัฐบาลทหารพม่าถูกรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกวิจารณ์อย่างรุนแรง โดยสหรัฐฯ ได้นำโลกตะวันตกเรียกร้องให้ต้องปล่อยตัวนางซูจีโดยเร็ว ขณะที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษย์ชนเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC (UN Security Council) แทรกแซงเพื่อช่วยเหลือผู้นำฝ่ายค้านวัย 63 ปี

ยังไม่มีการแถลงใดๆ อย่างเป็นทางการจากระบอบทหารในพม่า ขณะที่กักบริเวณนางซูจีเป็นเวลา 1 ปีจะครบกำหนดลงในวันที่ 27 พ.ค.ศกนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน และ พม่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า ภายใต้รัฐธรรมนูญที่จัดร่างขึ้นโดยกลุ่มปกครองทหาร

องค์การนิรโทษกรรมสากลในกรุงลอนดอนและกลุ่มฮิวแมนไรท์ฯ ในนิวยอร์กต่างออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ นายบันคีมูน กดดันให้ทางการพม่าปล่อยนางซูจี โดยกล่าวว่า ระบอบทหารได้ฉวยโอกาสใช้ "ความบ้าบิ่น" ของชาวอเมริกันผู้หนึ่ง เป็นข้ออ้างเพื่อจะคุมขังนางซูจีไว้จนกว่าการเลือกตั้งจะผ่านไป

สำหรับองค์การนิรโทษกรรมสากลได้เรียกร้องให้ UNSC "เข้าแทรกแซงเป็นการด่วน" เพื่อให้พม่าปล่อยนางซูจี รวมทั้งเรียกร้องให้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่มีอิทธิทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออินเดียที่ยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ต้องเร่งกดดันระบอบทหาร

นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในกรุงวอชิวงตันดีซี แสดงความ "ไม่สบายใจอย่างสุดซึ้ง" ต่อข้อกล่าวหาที่ "ไม่มีมูล" ของรัฐบาลทหารพม่าต่อนางซูจี ซึ่งมีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนจะครบกำหนดการกักบริเวณในปัจจุบัน

อังกฤษ ฝรั่งเศส และประเทศตะวันตกอีกหลายแห่ง ที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรพม่าได้ออกประณามรัฐบาลทหารและกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นผลดีใดๆ ต่อการเลือกตั้งในปี 2553

บรรดารัฐบุรุษคนสำคัญรวมทั้งอดีตพระสังฆราชเดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) แห่งแอฟริกาใต้ อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ ต่างเรียกร้องให้พม่าปล่อยนางซูจี

นายฮิโรฟุมิ นากาโซเน่ (Hirofumi Nakasone) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้บริจาคช่วยพม่าในอันดับต้นๆ ได้กล่าวแสดงความ "เป็นกังวลอย่างยิ่ง" ต่อสถานการณ์ในพม่าขณะนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น