xs
xsm
sm
md
lg

มาเลย์ผิดหวังพม่าไม่ปล่อย "ซู จี" - อียูเตรียมประกาศมาตรการลงโทษเจาะจงมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเคลื่อนไหวชาวพม่า ประมาณ 100 คนในญี่ปุ่น ชุมนุมประท้วงอยู่ด้านนอกสถานทูตพม่า ในกรุงโตเกียว หลังจากที่ศาลพม่ามีคำตัดสินกักบริเวณนางออง ซาน ซู จี ในบ้านพัก อีก 18 เดือน ด้วยความผิดข้อหาละเมิดกฏหมายความมั่นคง
ผู้ประท้วงถือรูปภาพของนางซู จี และตะโกนเรียกร้องให้ทูตพม่าออกมาจากสถานทูตเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้ประท้วงกล่าวว่า คำตัดสินครั้งนี้จะทำให้นางซู จี ยังคงถูกควบคุมตัวในระหว่างที่พม่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า พวกเขาเรียกร้องรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ให้รับรองการเลือกตั้งครั้งนี้
ญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ฉันมิตรกับพม่าและเป็นประเทศผู้บริจาครายใหญ่มายาวนาน แต่ต่อมาได้ลดความช่วยเหลือพม่าเพราะความวิตกต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับพันธมิตรจากชาติตะวันตกในการคว่ำบาตรพม่า
ด้านนายอานิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวว่า การกักตัวนางซู จี เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง และจำเป็นที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนจะประชุมฉุกเฉินกันเพื่อหารือประเด็นนี้
นายอามาน กล่าวว่า การตัดสินกักบริเวณ 18 เดือน ทำให้นางซู จี ไม่มีโอกาสได้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า ทั้งที่ควรเป็นการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และครอบคลุมถึงทุกฝ่าย นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าตัดสินโทษนางซู จีอย่างนี้ เพราะสมาชิกของประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่างหวังว่า พม่าจะปล่อยตัวเธออย่างไร้เงื่อนไข เธอตลอดจนนักโทษทางการเมืองอื่นๆ จะได้เข้ามีส่วนร่วมการเลือกตั้งดังกล่าว
ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ประณามการตัดสินโทษนางซู จี และจะประกาศมาตรการลงโทษพม่าที่เจาะจงมากขึ้น ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล ประณามว่าเป็นละครการเมืองที่น่าละอาย
สวีเดนในฐานะประธานอียู แถลงว่า อียูจะตอบโต้การกระทำของพม่าด้วยการออกมาตรการลงโทษแบบเจาะจงเพิ่มเติมต่อผู้เกี่ยวข้องกับการตัดสินให้นางซู จี มีความผิด นอกจากนี้ ยังจะเข้มงวดมาตรการลงโทษรัฐบาลพม่าที่มีอยู่แล้ว รวมไปถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพม่าด้วย การตั้งข้อหานางซู จี เป็นการละเมิดกฎหมายระดับประเทศและระหว่างประเทศ ขอให้พม่าปล่อยตัวเธอโดยเร็วและไม่มีเงื่อนไข ด้านทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสแถลงว่า ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ขอให้อียูออกมาตรการลงโทษพม่าครั้งใหม่เน้นทรัพยากรที่ทำรายได้โดยตรงให้พม่า ได้แก่ ไม้และทับทิม
ขณะเดียวกันนางไอรีน ข่าน เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า การจับกุม พิจารณาคดีและตัดสินโทษนางซู จี ไม่ต่างอะไรจากละครการเมืองที่น่าละอาย ขอให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวเธอโดยเร็วอย่างไม่เงื่อนไข
กำลังโหลดความคิดเห็น