xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันทิ้งหุ้นกดดัชนีดิ่ง26จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ตลาดหุ้นทนแรงเทขายไม่ไหว ฉุดปิดตัวรูดกว่า 26 จุด หรือ 4.73% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปิดตัวยืนในแดนลบ จากปัจจัยตัวเลขค้าปลีกสหรัฐฯหดตัว และการถอนหุ้นAOT KBANK ออกจากการคำนวณของ MSCI โดยต่างชาติขายสุทธิ 1,051 ล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันที่ขายถึง 2,149.70 ล้านบาท โบรกฯแนะนำทยอยขาย ชะลอลงทุนเพื่อรอดูทิศทาง ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯเล็งปรับเป้ามาร์เกตแคปแผน5 ปี ชี้หากไม่ถึง12 ล้านล้านบาทที่หวัง ขอแค่เท่ากับจีดีพีก็ถือว่าเป็นโอเคแล้ว
ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯวานนี้ (14พ.ค.) ถือเป็นการปรับตัวลดลงที่แรงมาก หลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งปิดที่ 526.55 ล้านบาท คิดเป็นการลดลง -4.73% หรือ -26.16 จุด ระหว่างวันปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ระดับ 526.55 จุด และดัชนีสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาแตะสูงสุดของวันได้ที่ระดับ 546.90 จุด มูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 29,930.18 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นการปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นอื่นๆในต่างประเทศที่มีการปรับตัวลดลงไปยืนในแดนลบเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกันเมื่อการตรวจสอบข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า นักลงทุนต่างประเทศมีการขายสุทธิ -1,051.79 ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากยอดตัวเลขค้าปลีกของสหรัฐฯที่ลดตัวลง และกรณีที่AOT – KBANK ถึง MSCI ถอนหุ้นออกจากการคำนวณดัชนีฯ เพราะนับว่าเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบในแง่จิตวิทยาการลงทุน และความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง
เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่มีการขายสุทธิ -2,149.70 ล้านบาท โดยจากการสอบถามผู้จัดการกองทุน บริษัทจัดการลงทุนแห่งหนึ่ง ยอมรับว่ามีการหุ้นทีกองทุนรวมหุ้นของบริษัทออกไปจริง ทั้งนี้เพื่อทำกำไรจากราคาหุ้นบางตัวที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มพลังงาน เพราะแทบทุกกองทุนรวมหุ้น ส่วนใหญ่จะเน้นและให้น้ำหนักความสำคัญในหุ้นกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ
นอกจากนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า เมื่อราคาหุ้นได้ปรับขึ้นแรงในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยลบเข้ามากระทบ ตลาดหุ้นก็พร้อมที่จะปรับตัวลงเช่นกัน และยังมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงไปต่ออีกครั้งในวันนี้ (15พ.ค.) หรืออาจต่อเนื่องไปจนถึงสัปดาห์หน้า
ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวานนี้ เพิ่มขึ้น 54 หลักทรัพย์ ลดลง 346 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 62 หลักทรัพย์

**แนะชะลอลงทุน-รอดูทิศทาง**
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH เปิดเผยว่า วานนี้ (14.พ.ค.) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ตามตลาดหุ้นต่างประเทศที่เคลื่อนไหวในแดบลบและความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนเมษายนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนมีนาคมในอัตรา 0.4%
รวมทั้ง จากข่าวลือว่า MSCI-Thailand ที่ได้ถอนหุ้นของธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ออกจากการคำนวณดัชนี เนื่องจากบริษัทดังกล่าวฟรีโฟรทต่ำกว่าเกณฑ์ ตลอดจนได้มีการปรับลดน้ำหนักของหุ้น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC), บมจ.ธนากรุงไทย (KTB) จึงทำให้มีแรงเทขายจากนักลงทุนสถาบันออกมา ส่วนความเคลื่อนไหวการเมืองในประเทศนั้นไม่ส่งผลต่อดัชนีมากนักเพราะไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่ายังคงผันผวน โดยนักลงทุนควรจับตาดัชนีดาวโจนส์สหรัฐฯและราคาน้ำมันโลก ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนที่มีหุ้นในพอร์ตให้เริ่มทยอยขาย เพื่อรอดูความชัดเจนของตลาด อีกครั้ง ทั้งนี้ประเมินให้แนวรับอยู่ที่ 525 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 537-540 จุด
ด้านนายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ จำกัด กล่าวว่า จากยอดค้าปลีกในสหรัฐเดือนเมษายนที่วูบต่อเนื่อง 2 เดือน และทิศทางตลาดหุ้นในเอเชียและสหรัฐเลวร้ายตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการที่ MSCI-Thailand ปรับลดน้ำหนักการลงทุนของตลาดหุ้นไทยจาก 2% เหลือ 1.8% ส่งผลให้บรรยากาศซื้อขายหลักทรัพย์วานนี้มีแรงเทขายออกมาตลอดวัน
“ตลาดหุ้นไทยวันนี้ เรายังเชื่อว่ายังเคลื่อนไหวในแดนลบ แต่นักลงทุนยังคงต้องรอดูทิศทางเม็ดเงินนักลงทุนต่างประเทศหลัง MSCI ปรับลดความน่าเชื่อถือของหุ้นไทยด้วย รวมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ควรชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ โดยให้กรอบแนวรับที่ 520 จุด และแนวต้านที่ 535-540 จุด”
ด้าน นายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวลง ตามตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งดาวโจนส์และตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียต่างปรับตัวลงกันทั่วหน้า รับปัจจัยลบจากเรื่องยอดค้าปลีกของสหรัฐฯที่ปรับตัวลง อย่างตลาดฮั่งเส็งร่วงลง 3%
ประกอบกับกรณีที่ MSCI ถอนหุ้น KBANK และ AOT ออกจากการคำนวณดัชนีฯ เป็นปัจจัยลบที่เข้ามากระทบตลาดฯเช่นกัน นอกจากนี้ ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาแรงในช่วงก่อนหน้านี้ ก็ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เมื่อมีปัจจัยลบเข้ามากระทบก็พร้อมที่จะเกิดแรงเทขายหุ้นขึ้นมา ดังนั้นแนวโน้มการลงทุนในวันนี้ มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสที่จะปรับตัวลงได้อีก แต่คงต้องขึ้นอยู่กับทิศทางของตลาดต่างประเทศด้วย
สำหรับสัญญาณทางเทคนิคจากการสอบถาม พบว่า วันนี้ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวลงได้อีก พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 516-520 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 536 จุด อย่างไรก็ตามหากวันนี้ดัชนีฯสามารถขึ้นเหนือแนวต้านได้ก็จะทำให้ตลาดหุ้นยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก

**ตลท.เล็งปรับเป้ามาร์เก็ตแคป5ปี**
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (14 พ.ค.)มีการปรับตัวลดลง ถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 2อาทิตย์ที่ผ่านมาจากการที่ดัชนีฯมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากนักวิเคราะห์ประเมินว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วและมีโอกาสที่จะมีการปรับตัวลดลง รวมทั้งดัชนีดาวโจนส์ก็มีการปรับตัวลดลง ดังนั้นนักลงทุนควรที่จะมีความระมัดระวังในการลงทุนจากการที่ดัชนีจะมีการปรับตัวลดลงในครั้งนี้
ทั้งนี้นักลงทุนควรที่จะมีการวางแผนการลงทุนให้รอบคอบและใช้ประโยชน์จากการที่ดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และควรที่จะมีการวางแผนการลงทุนที่กระจายการลงทุนใน หุ้น หุ้นกู้ ตราสารหนี้ อนุพันธ์ การลงทุนทองคำ โดยจากการที่มีการสอบถามบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ต่างประเทศเรื่องการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศนั้น มองว่าเป็นการไหลกับเข้ามาจากก่อนหน้าที่มีการไหลออกไป
สำหรับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่13 พฤษภาคมนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.8% แต่หากรวมผลตอบแทน จากเงินปันผลที่มีการจ่ายในงวดนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 25.8% ซึ่งถือว่าปรับตัวสูงกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค เช่น ตลาดหุ้นมาเลเซีย ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.7% ตลาดหุ้นฟิลลิปปินส์ ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% จาก 3.2 ล้านล้านบาท เป็น 4.39 ล้านล้านบาท
นางภัทรียา กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการทบทวนเป้าหมายมาร์เกตแคป 5 ปี (2551-2556)ที่ตั้งไว้จะเพิ่มเป็น 12 ล้านล้านบาท จากปี2550 ที่อยู่ที่ 6 ล้านล้านบาท แต่จากในปี 2551ที่เกิดวิกฤตทางการเงินสหรัฐอเมริกา ทำให้มาร์เกตแคปตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลง 50%มาเหลือ 3.2 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะปรับลดลงเหลือเท่าไร เพราะ ขอรอประเมินสถานการณ์อีกสักระยะ ซึ่งหาก 5 ปี มาร์เกตแคปตลาดฯไม่ถึง 12 ล้านล้านบาท แต่เท่ากับจีดีพี ก็ถือว่าเป็นระดับการเติบโตที่ดีแล้ว
“เป้ามาร์เกตแคปของตลาดหลักทรัพย์ตามแผพัฒนาฯ 5ปีนั้น จะอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท แต่จากเกิดวิกฤตทางการเงินเกิดขึ้นทำให้มาร์เกตแคปปรับตัวลดลง 50% เหลือ 3.2 ล้านบาทจากปี2550 จึงทำให้ต้องมีการทบทวนเป้าหมาย แต่หากไม่ถึงตามเป้า แต่สามารถทำได้เท่ากับจีดีพี ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ”นางภัทรียา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น