xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นก็อยากได้ “การเมืองใหม่”

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

นิตยสาร Newsweek ฉบับวันที่ 20 เมษายน 2552 คอลัมน์ Point of View ของคุณ Richard J.Samuels ตีพิมพ์บทความเชิงวิเคราะห์ การเมืองญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน ได้อย่างน่าสนใจ โดยใช้ชื่อบทความว่า “Japan’s Lost Leaders” ซึ่งเนื้อหาสำคัญต้องการจะบอกว่า ชาวญี่ปุ่นในยุคที่มีนายทาโร่ อาโสะ เป็นนายกรัฐมนตรี กำลังอยู่ในสภาพเคว้งคว้างสิ้นดี เพราะขาดซึ่งผู้ที่จะนำพาประเทศไปในหนทางก้าวหน้า ทั้งพระจักรพรรดิที่ทรงเป็นศูนย์กลางจิตใจก็ทรงพระประชวรจากความตึงเครียด คณะรัฐบาลไล่ลงมาตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรีไปจนถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน นับตั้งแต่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งในรัฐบาล คะแนนนิยมก็ตกต่อเนื่อง นักการเมืองก็ไร้ซึ่งความสามารถ

ส่วนผู้นำทางธุรกิจที่เคยยิ่งใหญ่ไม่เป็นรองใครของญี่ปุ่น ลำพังจะเอาตัวให้รอดจากวิกฤตเศรษฐกิจยามนี้ก็แทบจะไม่ไหว ทั้งๆ ที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ก็มีจุดแข็งในเรื่องการปลูกฝังภาวะผู้นำให้กับคนในสังคมมายาวนาน ไม่ว่าจะในยุคสงครามโลก ในศตวรรษที่ 19 ที่มีการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก หรือแม้แต่ยุคอดีตผู้นำจุนอิชิโร่ โคอิซุมิ ก็ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนไม่เสื่อมคลาย เป็นผู้นำในใจประชาชนแม้จะลงจากเก้าอี้ไปแล้ว แต่ก็นั่นแหละ ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน

ปัญหาที่ประดังประเดเข้ามาในยุคผู้นำใหม่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่หดตัวกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็น 2 เท่าของที่สหรัฐฯ และยุโรปเผชิญ รวมไปถึงกรณีที่รัฐบาลบริหารเงินในกองทุนบำนาญผิดพลาด ทำเงินหายไปอีก 50 ล้านเหรียญเพราะพิษเศรษฐกิจโลก นี่ยังไม่รวมความล้มเหลวในการสานต่อเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ตั้งไว้ ทั้งในเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านความมั่นคงให้กับประเทศ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า แก้กฎหมายให้มีกองทัพเป็นของตัวเองได้ สานต่อนโยบายปฏิรูปสาธารณสุข สวัสดิภาพเงินบำนาญ หรือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศขึ้นมาอีกครั้ง

ความตั้งใจอันดีเหล่านี้ได้มลายหายไปในอากาศนับแต่ทาโระ อาโสะขึ้นมาบริหารประเทศต่อจาก ชินโซ อาเบะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของญี่ปุ่นในรอบ 3 ปี การเมืองญี่ปุ่น จึงตกอยู่ในสภาพที่น่าสะอิดสะเอียนที่บทวิเคราะห์ใช้คำว่า การเมืองบนเขียงหมู หรือ pork-barrel politics มาอธิบายในความหมายของการแย่งชิงผลประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองด้วยกันเอง โดยไม่ได้หันมามองผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากเวลาที่การเมืองไทยเจอภาวะฝนตกขี้หมูไหลคนจัญไรมารวมกัน สถานการณ์ในแบบคล้ายๆ กันนี้ก็เกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ด้วยเหตุนี้ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก จึงพยายามจะแสวงหาทางเลือกใหม่ และต้องการจะปิดฉากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเก่าๆ ตามแบบฉบับของพรรค Liberal democratic party หรือ LDP ที่ครองอำนาจมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ก็ตรงกับในจังหวะนี้เองที่ นายอิชิโร่ โอซาวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านญี่ปุ่นจากพรรค Democratic party of Japan หรือ DPJ ได้ลุกขึ้นมาเสนอทางเลือกใหม่ให้สังคม ด้วยสิ่งที่เขาเรียกว่า new politics ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากคนญี่ปุ่นเป็นอย่างดี คะแนนนิยมดีวันดีคืน โดยคะแนนนิยมของพรรคก่อนเดือนมีนาคมพุ่งแซงหน้า LDP เป็นสองเท่า

แต่จนรอดจนรอดก็มาเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นจนได้ เมื่อปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลกว่าเลขานุการส่วนตัวของผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ดันมาพัวพันกับคดีอื้อฉาวรับเงินบริจาคจากบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น อันเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายพรรคการเมือง ก่อนที่ต่อมา เลขาฯ คนนี้จะถูกจับกุม และรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ประดุจสายฟ้าฟาดลงกลางใจชาวญี่ปุ่นที่โหยหาการเมืองใหม่ พวกเขารู้สึกเหมือนถูกนักการเมืองที่เขาไว้ใจ และหวังพึ่งพิงตบหน้าเข้าให้ฉาดใหญ่ หลังจากวันนั้นปรากฏว่าคะแนนนิยมพรรคฝ่ายค้านของนายโอซาวะ กลับเป็นฝ่ายลดลงต่อเนื่อง ทั้งในการสำรวจเดือนมีนาคม เมษายน และเข้าสู่พฤษภาคม นายโอซาวะเกาะเก้าอี้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านได้เต็มที่แค่เพียง 2 เดือนกว่า ก็จำใจต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลที่น่าฟังว่า

“I have to a conclusion I must sacrifice myself to ensure a victory. What’s most important for us is to unite the party under a new leader and prepare for the general election.” (The wall street journal, May 12,2009)

นายโอซาวะตัดสินใจจะฮาราคีรีอนาคตของตัวเองเพื่อรักษาพรรคเอาไว้ ทั้งที่เมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้เขาเพิ่งได้รับการจับตาจากทั่วโลก ในฐานะที่เป็นตัวเต็งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสมัยหน้า และทั้งที่คดีอื้อฉาวดังกล่าว ผู้ที่กระทำผิดไม่ใช่เขา แต่เป็นเลขาฯ ส่วนตัว นายโอซาวะก็ตัดสินใจที่จะลาออกโดยไม่เสียเวลาออกมาแก้ตัวว่า

เขาไม่ได้กระทำแล้วทำไมต้องมาตัดสิทธิทางการเมืองของตัวเองด้วยการลาออก เพราะอย่างน้อยนายโอซาวะก็รู้อยู่แก่ใจว่า การกระทำเลขาฯ ของเขา ย่อมส่งผลประโยชน์โดยตรงให้กับพรรคของเขาอย่างมิอาจจะแก้ตัวได้ อย่างน้อยก็ถือเป็นโชคดีของคนญี่ปุ่นที่แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญของเขาจะไม่ได้บังคับให้นักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่เสมอ แต่คนของเขาก็มีกฎเกณฑ์ในใจที่อาจจะเรียกได้ว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมขั้นต่ำของความเป็นนักการเมือง” เป็นกฎที่เขายอมรับที่จะปฏิบัติโดยไม่เคยเรียกร้องให้ต้องมีการแก้ไขหรือลบล้าง แม้ว่ามันจะส่งผลให้เขาต้องหมดอนาคตทางการเมืองของตัวเองไปในที่สุด

บทวิเคราะห์ของบีบีซีโดยฝีมือเขียนของคุณ Roland Buerk มองทะลุปรากฏการณ์นี้ได้เป็นอย่างดีว่า หนังหน้าของโอซาวะคงจะมียางพอ จนไม่อาจจะทนต่อเสียงเรียกร้องถึง 71 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องการให้เขาลาออก แม้คนจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะเคยเชียร์เขาอย่างออกหน้าออกตา เพราะโอซาวะรู้ว่า การฝืนเก้าอี้ผู้นำพรรคของตนเอง ต่อไปเท่ากับเป็นการทำลายจุดยืนพรรคการเมือง ที่พวกเขาทั้งมวล เพียรพยายามจะสร้างขึ้นให้ตรึงตราใจชาวญี่ปุ่น ตามที่ได้เคยประกาศว่า พรรคฝ่ายค้านอย่าง DPJ จะสร้างการเมืองใหม่ จะเข้าไปครองใจประชาชน ผู้บริโภค และคนใช้แรงงานมากกว่าคอยเอาใจกลุ่มทุน และประกาศจะลดบทบาทข้าราชการประจำที่คอยเข้าไปกำหนดทิศทางประเทศ แต่จะหันมาฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้นแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น