ภายในห้องเล็กๆ ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นธูป ชายหนุ่มเจ็ดคนนั่งหันหน้าเข้าหาผนังทำสมาธิท่ามกลางความเงียบกริบที่มีเพียงเสียงนกร้องหลุดรอดเข้ามา
การทำสมาธิเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกในสถาบันบ่มเพาะผู้นำทางการเมืองของญี่ปุ่นแห่งนี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์ว่าบรรดานายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นที่นิยมและนักการเมืองไร้ประสิทธิภาพกลุ่มใหญ่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่สอง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าญี่ปุ่นควรดึงคนที่มีความสามารถมากที่สุดเข้าสู่วงการการเมือง แม้ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นดีด้วยว่าลำพังโรงเรียนอย่างเช่นมัตซูชิตะ อินสติติวท์ ฟอร์ กัฟเวิร์นเมนท์ แอนด์ แมเนจเมนท์ จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้นำที่เข้มแข็งได้
ขณะเดียวกัน มีเสียงเรียกร้องดังขึ้นให้ครอบครัวนักการเมืองทรงอิทธิพลหยุดส่งไม้ต่อให้ลูกหลาน เนื่องจากเป็นประเพณีที่กีดกั้นนักการเมืองน้ำดีแต่ไม่มีสายป่าน
สำหรับชินิชิ โทมิโอกะ แพทย์วัย 32 ปี สถาบันมัตซูชิตะเป็นก้าวย่างสู่อาชีพนักการเมืองและเป้าหมายในการปฏิรูประบบการรักษาพยาบาลของญี่ปุ่น หลังจากที่เขาต้องขัดเคืองกับการทำงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของโตเกียวที่ขาดแคลนบุคลากรมานานถึงห้าปี
“ตอนแรกผมรู้สึกผิด อยากจัดการกับปัญหาในระบบสาธารณสุข แล้วผมก็ลาออกจากอาชีพหมอ” เขาเล่าหลังเสร็จสิ้นการทำสมาธิ
“ในการเผชิญหน้ากับปัญหาในระบบ ขณะที่ประชากรกลุ่มผู้สูงวัยขยายตัวเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากมุมมองที่กว้างไกลขึ้น”
แม้ภาวะถดถอยเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของญี่ปุ่น แต่ความท้าทายระยะยาวที่สำคัญที่สุดอาจเป็นการปฏิรูปนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาจำนวนประชากรลดลง และการเติบโตของกลุ่มผู้สูงวัย
สถาบันมัตซูชิตะที่ก่อตั้งขึ้นในชิเกซากิ ใกล้กับโตเกียว ในปี 1979 โดยโคโนซูเกะ มัตซูชิตะ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ผลิตสินค้ายี่ห้อพานาโซนิก ได้อบรมนักศึกษามามากกว่า 200 คน
เกือบ 70% ของศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้เป็นนักการเมือง ซึ่งในจำนวนนี้มีสองคนที่ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน และอีกคนเป็นอดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านช่วงสั้นๆ
กระนั้น นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องเจออุปสรรคสำคัญบนเส้นทางสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ นั่นคือการต้องแข่งขันกับผู้สมัครจากครอบครัวนักการเมืองทรงอิทธิพลมากมายที่มักมอบหมายให้บุตร ธิดา หรือกระทั่งเขยและสะใภ้ ลงศึกเลือกตั้งเพื่อครอบครองเก้าอี้ในสภาที่เคยเป็นของครอบครัว
ผู้สมัครเหล่านี้มีข้อได้เปรียบมากมาย เช่น มีฐานเสียงที่ตกทอดมาจากพ่อแม่ เป็นที่รู้จัก และมีช่องทางเข้าถึงเงินทุนเพื่อการหาเสียง
นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนผู้นำที่เข้มแข็ง เพราะการเลือกตั้งไม่ได้เป็นสนามแข่งขันที่เป็นธรรม แต่กลับทำให้เกิดกลุ่มนักการเมืองที่น่าสงสัยในความสามารถ
เกือบ 40% ของสมาชิกสภาล่างในสังกัดพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) และเกือบ 20% ของส.ส.พรรคฝ่ายค้านสำคัญ เดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ เจแปน ล้วนเป็นลูกหลานนักการเมืองรุ่นเก่า โคอิชิ นากาโนะ ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโซเฟียในโตเกียว ชี้ว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้นักการเมืองกระจุกตัวอยู่ในวงแคบ มีแนวโน้มไร้ความสามารถทั้งในการเข้าถึงประชาชนและการวางแผนนโยบาย
หนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้ยังได้รับการปกป้องอย่างแน่นหนาคือ การที่จุนิชิโร โคอิซูมิ อดีตนายกฯ จากพรรคแอลดีพีที่ประชาชนชื่นชอบและได้ชื่อว่าเป็นผู้นำหัวปฏิรูปมากที่สุดในรอบหลายสิบปี เตรียมส่งไม้ต่อให้ลูกชายวัย 28 ปีเมื่อถึงวาระปลดเกษียณในปีนี้
ผู้สนับสนุนวัฒนธรรมนี้อ้างว่ามีข้อดีคือ นักการเมืองใช้เวลาน้อยลงในการระดมทุนสำหรับการหาเสียง จะได้ไปทุ่มเทมากขึ้นในด้านนโยบายแทน
ทว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเริ่มไม่พอใจมากขึ้นกับระบบนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ญี่ปุ่นมีนายกฯ ที่มีเทือกเถาเหล่ากอทางการเมืองแต่มีผลงานน่าผิดหวังขึ้นบริหารประเทศคนแล้วคนเล่า
ชินโซ อาเบะ หลานปู่ของอดีตนายกฯ ผู้หนึ่ง ได้บริหารรัฐนาวาแดนปลาดิบในปี 2006 แต่อยู่ได้ไม่ถึงปี ผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อมาคือ ยาซูโอะ ฟูกูดะ บุตรชายของอดีตผู้นำ ลาออกหลังได้เป็นนายกฯ ไม่ทันครบปีเช่นกัน
ส่วนนายกฯ คนปัจจุบัน ทาโร อาโสะ ที่มีปู่เป็นอดีตนายกฯ เช่นเดียวกัน ก็ถูกวิจารณ์ว่าเข้าไม่ถึงประชาชนคนธรรมดา หลังจากแวะเยี่ยมเยียนบาร์ในโรงแรมหรูบ่อยครั้ง แถมยังดึงทายาทตระกูลนักการเมืองมานั่งตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐมนตรี
อาโสะเป็นนายกฯ คนที่ 14 ของญี่ปุ่นในรอบ 20 ปี และตำแหน่งของเขาฝากไว้กับผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้
ที่สถาบันมัตซูชิตะ นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีสายป่านการเมือง แต่ได้รับการอบรมให้เริ่มต้นด้วยตัวเอง เวลามากมายในโครงการระยะสามปีหมดไปกับงานวิจัยในหัวข้อที่สามารถกำหนดขึ้นมาเอง โดยได้รับคำแนะนำเพียงเล็กน้อยจากโรงเรียน
ความที่เปิดรับนักศึกษาใหม่ปีละ 5-6 คนเท่านั้น นักศึกษาของที่นี่จึงมีความเป็นกลุ่มก้อน โดยตลอดระยะเวลาสามปีพวกเขาต้องกินนอนในสถาบัน ตื่นหกโมงเช้าเพื่อกวาดสนามและวิ่งออกกำลังกายบนชายหาดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
สิ่งที่สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าการเมืองญี่ปุ่นถูกครอบงำโดยผู้ชายคือ ตัวเลขที่ระบุว่ามีเพียง 13% ของศิษย์เก่าของสถาบันนี้ที่เป็นผู้หญิง ขณะที่นักศึกษารุ่นปัจจุบันมีผู้หญิงเพียงคนเดียวจากทั้งหมด 16 คน
นักศึกษาจะได้รับทุนและค่าครองชีพจากสถาบัน แลกเปลี่ยนกับการเขียนรายงานและเข้ารับการสอบสัมภาษณ์อย่างทรหดอดทนกับคณะกรรมการโรงเรียนเกี่ยวกับงานวิจัยของตนเอง
“คุณถูกบีบให้คิดหาวิธีในการให้การสนับสนุนชุมชน วิธีเปลี่ยนแปลงสังคม” ฮิโรโนริ ซาโตะ ศิษย์เก่าที่เคยผ่านการสอบสัมภาษณ์ปีละสองครั้งเล่า
“วิธีการดังกล่าวทำให้คุณได้เปิดเผยความคิดออกมา” ซาโตะที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภามหานครโตเกียว สำทับ
เริ่มแรกโรงเรียนส่งเสริมการมีวินัยในตนเองผ่านศิลปะการฟันดาบและการทำสมาธิ ที่นักศึกษาบอกว่าช่วยให้สมองปลอดโปร่งก่อนที่จะต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ
กระนั้น นักวิเคราะห์บางคนยังสงสัยว่าการฝึกในลักษณะนี้จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้นำในญี่ปุ่นได้จริงหรือ แม้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการค้นหาผู้นำที่มีประสิทธิภาพและสามารถจัดการกับการถดถอยรุนแรงของประเทศ
“ตอนที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง เราไม่มีปัญหาว่าใครจะมาเป็นผู้นำ แต่นับจากวิกฤตการเงินเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ญี่ปุ่นเหมือนเรือที่หลงทางกลางทะเล ประชาชนต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง” คูนิชิโร โอกาดะ ศาสตราจารย์รับเชิญของมหาวิทยาลัยวาเซดะในโตเกียว กล่าว
การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงอาจเกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
“ความคิดที่ว่าการเมืองควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนนักการเมืองที่เข้มแข็ง เราไม่มีทางพบทางออก นอกจากคนญี่ปุ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตัวเองมากขึ้น”
การทำสมาธิเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกในสถาบันบ่มเพาะผู้นำทางการเมืองของญี่ปุ่นแห่งนี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์ว่าบรรดานายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นที่นิยมและนักการเมืองไร้ประสิทธิภาพกลุ่มใหญ่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่สอง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าญี่ปุ่นควรดึงคนที่มีความสามารถมากที่สุดเข้าสู่วงการการเมือง แม้ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นดีด้วยว่าลำพังโรงเรียนอย่างเช่นมัตซูชิตะ อินสติติวท์ ฟอร์ กัฟเวิร์นเมนท์ แอนด์ แมเนจเมนท์ จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้นำที่เข้มแข็งได้
ขณะเดียวกัน มีเสียงเรียกร้องดังขึ้นให้ครอบครัวนักการเมืองทรงอิทธิพลหยุดส่งไม้ต่อให้ลูกหลาน เนื่องจากเป็นประเพณีที่กีดกั้นนักการเมืองน้ำดีแต่ไม่มีสายป่าน
สำหรับชินิชิ โทมิโอกะ แพทย์วัย 32 ปี สถาบันมัตซูชิตะเป็นก้าวย่างสู่อาชีพนักการเมืองและเป้าหมายในการปฏิรูประบบการรักษาพยาบาลของญี่ปุ่น หลังจากที่เขาต้องขัดเคืองกับการทำงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของโตเกียวที่ขาดแคลนบุคลากรมานานถึงห้าปี
“ตอนแรกผมรู้สึกผิด อยากจัดการกับปัญหาในระบบสาธารณสุข แล้วผมก็ลาออกจากอาชีพหมอ” เขาเล่าหลังเสร็จสิ้นการทำสมาธิ
“ในการเผชิญหน้ากับปัญหาในระบบ ขณะที่ประชากรกลุ่มผู้สูงวัยขยายตัวเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากมุมมองที่กว้างไกลขึ้น”
แม้ภาวะถดถอยเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของญี่ปุ่น แต่ความท้าทายระยะยาวที่สำคัญที่สุดอาจเป็นการปฏิรูปนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาจำนวนประชากรลดลง และการเติบโตของกลุ่มผู้สูงวัย
สถาบันมัตซูชิตะที่ก่อตั้งขึ้นในชิเกซากิ ใกล้กับโตเกียว ในปี 1979 โดยโคโนซูเกะ มัตซูชิตะ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ผลิตสินค้ายี่ห้อพานาโซนิก ได้อบรมนักศึกษามามากกว่า 200 คน
เกือบ 70% ของศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้เป็นนักการเมือง ซึ่งในจำนวนนี้มีสองคนที่ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน และอีกคนเป็นอดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านช่วงสั้นๆ
กระนั้น นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องเจออุปสรรคสำคัญบนเส้นทางสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ นั่นคือการต้องแข่งขันกับผู้สมัครจากครอบครัวนักการเมืองทรงอิทธิพลมากมายที่มักมอบหมายให้บุตร ธิดา หรือกระทั่งเขยและสะใภ้ ลงศึกเลือกตั้งเพื่อครอบครองเก้าอี้ในสภาที่เคยเป็นของครอบครัว
ผู้สมัครเหล่านี้มีข้อได้เปรียบมากมาย เช่น มีฐานเสียงที่ตกทอดมาจากพ่อแม่ เป็นที่รู้จัก และมีช่องทางเข้าถึงเงินทุนเพื่อการหาเสียง
นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนผู้นำที่เข้มแข็ง เพราะการเลือกตั้งไม่ได้เป็นสนามแข่งขันที่เป็นธรรม แต่กลับทำให้เกิดกลุ่มนักการเมืองที่น่าสงสัยในความสามารถ
เกือบ 40% ของสมาชิกสภาล่างในสังกัดพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) และเกือบ 20% ของส.ส.พรรคฝ่ายค้านสำคัญ เดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ เจแปน ล้วนเป็นลูกหลานนักการเมืองรุ่นเก่า โคอิชิ นากาโนะ ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโซเฟียในโตเกียว ชี้ว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้นักการเมืองกระจุกตัวอยู่ในวงแคบ มีแนวโน้มไร้ความสามารถทั้งในการเข้าถึงประชาชนและการวางแผนนโยบาย
หนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้ยังได้รับการปกป้องอย่างแน่นหนาคือ การที่จุนิชิโร โคอิซูมิ อดีตนายกฯ จากพรรคแอลดีพีที่ประชาชนชื่นชอบและได้ชื่อว่าเป็นผู้นำหัวปฏิรูปมากที่สุดในรอบหลายสิบปี เตรียมส่งไม้ต่อให้ลูกชายวัย 28 ปีเมื่อถึงวาระปลดเกษียณในปีนี้
ผู้สนับสนุนวัฒนธรรมนี้อ้างว่ามีข้อดีคือ นักการเมืองใช้เวลาน้อยลงในการระดมทุนสำหรับการหาเสียง จะได้ไปทุ่มเทมากขึ้นในด้านนโยบายแทน
ทว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเริ่มไม่พอใจมากขึ้นกับระบบนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ญี่ปุ่นมีนายกฯ ที่มีเทือกเถาเหล่ากอทางการเมืองแต่มีผลงานน่าผิดหวังขึ้นบริหารประเทศคนแล้วคนเล่า
ชินโซ อาเบะ หลานปู่ของอดีตนายกฯ ผู้หนึ่ง ได้บริหารรัฐนาวาแดนปลาดิบในปี 2006 แต่อยู่ได้ไม่ถึงปี ผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อมาคือ ยาซูโอะ ฟูกูดะ บุตรชายของอดีตผู้นำ ลาออกหลังได้เป็นนายกฯ ไม่ทันครบปีเช่นกัน
ส่วนนายกฯ คนปัจจุบัน ทาโร อาโสะ ที่มีปู่เป็นอดีตนายกฯ เช่นเดียวกัน ก็ถูกวิจารณ์ว่าเข้าไม่ถึงประชาชนคนธรรมดา หลังจากแวะเยี่ยมเยียนบาร์ในโรงแรมหรูบ่อยครั้ง แถมยังดึงทายาทตระกูลนักการเมืองมานั่งตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐมนตรี
อาโสะเป็นนายกฯ คนที่ 14 ของญี่ปุ่นในรอบ 20 ปี และตำแหน่งของเขาฝากไว้กับผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้
ที่สถาบันมัตซูชิตะ นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีสายป่านการเมือง แต่ได้รับการอบรมให้เริ่มต้นด้วยตัวเอง เวลามากมายในโครงการระยะสามปีหมดไปกับงานวิจัยในหัวข้อที่สามารถกำหนดขึ้นมาเอง โดยได้รับคำแนะนำเพียงเล็กน้อยจากโรงเรียน
ความที่เปิดรับนักศึกษาใหม่ปีละ 5-6 คนเท่านั้น นักศึกษาของที่นี่จึงมีความเป็นกลุ่มก้อน โดยตลอดระยะเวลาสามปีพวกเขาต้องกินนอนในสถาบัน ตื่นหกโมงเช้าเพื่อกวาดสนามและวิ่งออกกำลังกายบนชายหาดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
สิ่งที่สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าการเมืองญี่ปุ่นถูกครอบงำโดยผู้ชายคือ ตัวเลขที่ระบุว่ามีเพียง 13% ของศิษย์เก่าของสถาบันนี้ที่เป็นผู้หญิง ขณะที่นักศึกษารุ่นปัจจุบันมีผู้หญิงเพียงคนเดียวจากทั้งหมด 16 คน
นักศึกษาจะได้รับทุนและค่าครองชีพจากสถาบัน แลกเปลี่ยนกับการเขียนรายงานและเข้ารับการสอบสัมภาษณ์อย่างทรหดอดทนกับคณะกรรมการโรงเรียนเกี่ยวกับงานวิจัยของตนเอง
“คุณถูกบีบให้คิดหาวิธีในการให้การสนับสนุนชุมชน วิธีเปลี่ยนแปลงสังคม” ฮิโรโนริ ซาโตะ ศิษย์เก่าที่เคยผ่านการสอบสัมภาษณ์ปีละสองครั้งเล่า
“วิธีการดังกล่าวทำให้คุณได้เปิดเผยความคิดออกมา” ซาโตะที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภามหานครโตเกียว สำทับ
เริ่มแรกโรงเรียนส่งเสริมการมีวินัยในตนเองผ่านศิลปะการฟันดาบและการทำสมาธิ ที่นักศึกษาบอกว่าช่วยให้สมองปลอดโปร่งก่อนที่จะต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ
กระนั้น นักวิเคราะห์บางคนยังสงสัยว่าการฝึกในลักษณะนี้จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้นำในญี่ปุ่นได้จริงหรือ แม้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการค้นหาผู้นำที่มีประสิทธิภาพและสามารถจัดการกับการถดถอยรุนแรงของประเทศ
“ตอนที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง เราไม่มีปัญหาว่าใครจะมาเป็นผู้นำ แต่นับจากวิกฤตการเงินเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ญี่ปุ่นเหมือนเรือที่หลงทางกลางทะเล ประชาชนต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง” คูนิชิโร โอกาดะ ศาสตราจารย์รับเชิญของมหาวิทยาลัยวาเซดะในโตเกียว กล่าว
การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงอาจเกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
“ความคิดที่ว่าการเมืองควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนนักการเมืองที่เข้มแข็ง เราไม่มีทางพบทางออก นอกจากคนญี่ปุ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตัวเองมากขึ้น”