ASTVผู้จัดการรายวัน-ผู้จัดการกองทุนระบุรัฐออกพันธบัตรระดมเงิน 8 แสนล้านกระทบกองทุนตราสารหนี้แบบเปิดทั้งระบบ ล่าสุดอัตราผลตอบแทนลดลงจากเดิมแล้วกว่า 2% ขณะเดียวกันเตรียมปรับพอร์ตลดอายุตราสารหนี้ หลังผลตอบแทนเริ่มปรับตัวรับข่าวไปก่อนระดับหนึ่งแล้ว แต่เชื่อยังมีผลดีบ้างกับผลตอบแทนของกองมันนีมาร์เก็ตหากยิลด์ที่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง
นายอาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ชันขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลออกมาประกาศว่าจะระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรอีกประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งข่าวดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวในตลาดปรับเพิ่มสูงขึ้นทันที 0.40% ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ก่อนจะปรับขึ้นอีก 0.20% เมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) รวมแล้วในช่วง 3 วันทำการอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นไปแล้วถึง 0.60-0.70% ซึ่งการที่ผลตอบแทนปรับขึ้นเช่นนี้ แน่นอนว่าจะทำให้ราคาของตราสารหนี้ถูกลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เอ็นเอวีของกองทุนตราสารหนี้ลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ แผนการออกพันธบัตรมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาทของรัฐบาล ถือว่าส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้อย่างรุนแรง ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เนื่องมาจากตลาดเองกังวลว่าหลังจากนี้จะมีซับพลายออกมาในตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวอายุ 5 ปี และ 10 ปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวจึงปรับขึ้นไปทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ทั้งตลาด โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ที่มีการลงทุนในพันธบัตรระยะยาว ส่วนผลกระทบมากน้อยแค่ไหนนั้น คงไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากแต่ละกองทุนมีอายุเฉลี่ยของตราสาร (ดูเรชั่น) ที่เข้าไปลงทุนต่างกัน
สำหรับกองทุนของบลจ.เอวายเอฟเอง นายอาสากล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากข่าวดังกล่าวเช่นกัน โดยเอ็นเอวีของกองทุนปรับลดลงเช่นกันแต่ไม่มากนัก เนื่องจากดูเรชั่นของกองทุนอยู่ที่ 1 ปีกว่าๆ เท่านั้น แต่การลงทุนในพันธบัตรอายุ 5 ปี ก็มีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนมาตั้งแต่ต้นปี ขณะนี้ผลตอบแทนยังเป็นบวกอยู่ประมาณ 2% ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวปรับลดลงจากก่อนหน้านี้ ที่มีกำไรอยู่ถึง 4%
"ต้องบอกว่ากองทุนตราสารหนี้ได้รับผลกระทบทั้งระบบ เพราะไม่มีใครรู้ก่อนใครว่าตลาดจะผันผวน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้จัดการกองทุนเองก็พยายามปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ โดยลดตราสารที่มีอายุยาวออกไปจากพอร์ตก่อน ซึ่งในบางครั้งก็จำเป็นต้องยอมขาดทุนไปบ้าง เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดเองมีค่อนข้างน้อย และตลาดก็รับข่าวไปพร้อมกัน ทำให้ขายตราสารออกไปได้ค่อนข้างลำบาก"นายอาสากล่าว
นายอาสากล่าวว่า แนวโน้มของเส้น Yield Curve หลังจากนี้ จะยังเห็นการชันขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของแผนการออกพันธบัตรมูลค่า 8 แสนล้านบาทว่าจะออกมาเมื่อไหร่ และอายุของตราสารเป็นอย่างไรบ้าง แล้วหลังจากนั้น Yield Curve น่าจะเริ่มนิ่ง อย่างไรก็ตาม หากมองไปถึงการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีแนวโน้มว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกนั้น จะทำให้เส้น Yield Curve แบบลงเรื่อยๆ เนื่องจากหากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับลงแล้ว ก็มีช่องให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวลงตามไปด้วยเช่นกัน แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเอกชนไม่มีการกู้ และการกู้เงินของรัฐบาลเองก็เป็นการกู้เงินระยะยาว ดังนั้น เมื่อมีข่าวการออกพันธบัตรออกมา ก็ส่งผลให้ Yield Curve ชันขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับคำแนะนำในช่วงนี้ นายอาสากล่าวว่า นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ถือว่ายังกำไรอยู่ ซึ่งใครที่ลงทุนในกองทุนที่บริหารกองทุนแบบ Active อยู่แล้ว แนะนำให้ถือหน่วยลงทุนต่อไป หรือถืออย่างน้อย 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ ไม่ใช่ว่าตื่นตระหนกแล้วขายออกมา ซึ่งหากทำเช่นนั้นจะทำให้นักลงทุนขาดทุน ที่สำคัญ การคำนวนเอ็นเอวีของกองทุนตราสารหนี้จะเป็นการ Mark to Market ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าจะขาดทุนตลอดไป เพียงแต่ต้องถือหน่วยลงทุนนานหน่อยเท่านั้น ส่วนนักลงทุนที่จะลงทุนในช่วงนี้ แนะนำว่าให้รอจังหวะก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องแผนการระดมทุนของรัฐบาล หรือจนกว่าตลาดจะหยุดผันผวน ทั้งนี้ เชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้า น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนบ้างแล้ว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 8 แสนล้านบาทนั้น เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้แตกต่างกันไป โดยหากเป็นกองทุนเปิดแน่นอนว่าจะได้รับผลกระทบในเรื่องราคาของพันธบัตรที่ถืออยู่มีมูลค่าลดลง แต่หากเป็นกองปิดคงจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้น
"เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องได้รับผลกระทบอยู่แล้วหากผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวสูงขึ้น แล้วไปกระทบกับเอ็นเอวีกองตราสารหนี้ แต่ในส่วนกองปิดแล้วนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามดอกเบี้ยตามที่ตราสารครบอายุอยู่แล้ว ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ทราบดี"นางวรวรรณกล่าว
ส่วนการออกกองทุนเพื่อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลชุดนี้หรือไม่หากผลตอบแทนมีอัตราเพิ่มขึ้นจริงนั้น จะต้องพิจารณาอีกครั้งเพราะต้องทำการพิจารณาอีกว่าผลตอบแทนเพิ่มขึ้นนั้นสามารถจูงใจนักลงทุนได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันตราสารหนี้ในต่างประเทศผลตอบแทนยังอยู่ในระดับสูงอยู่ แต่ถ้าสามารถทำได้ก็เชื่อว่าจะเป็นเรื่องดีในการระดมเงินในประเทศ โดยที่ไม่รั่วไหลออกไปต่างประเทศ
ขณะที่ นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า การกู้เงินในประเทศของรัฐบาลที่คาดว่าจะมีการออกพันธบัตรจำนวน 8 แสนล้านบาทนั้นส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ด้วยกัน 2 รูปแบบคือ 1.เมื่อยิลด์มีการปรับตัวขึ้นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นจะได้รับผลดี คืออาจจะได้เห็นกองประเภทมันนี่มาร์เก็ตมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้ 2.คือการขาดทุนของกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวจากการปรับตัวลดลงของราคาพันธบัตรที่ถือครองอยู่ทำให้เอ็นเอวีมีการปรับตัวลดลงตามภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อกองตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดเท่านั้น แต่จะไม่กระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนปิด เนื่องจากนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามที่สัญญาไว้อยู่แล้วเมื่อถือครองตราสารจนครบอายุโครงการ
"บางทีนักลงทุนก็วิตกเกินไปอย่างกองเกาหลี เมื่อมีการโค๊ตราคาตลาดแล้วทำให้เอ็นเอวีมันตกก็มีคำถามแต่ในความจริงแล้วนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนตามที่ระบุไว้อยู่แล้ว เพียงแต่การคิดเอ็นเอวีตามราคาตลาดนั้นบางครั้งมันก็มีการแกว่งตัวได้ ซึ่งนักลงทุนไม่จำเป็นต้องสนใจกับการปรับลดลงของเอ็นเอวีก็ได้"นายวินกล่าว
กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงนี้อยากให้นักลงทุนลดอายุตราสารลงอย่างให้เกิน 1 ปี เพราะอัตราผลตอบแทนมันปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแล้ว หรืออาจจะลงทุนในกองมันนี่มาร์เก็ตเพื่อพักเงินลงทุนไปก่อนก็ได้เช่นกัน เนื่องจากขณะนี้สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีความชัดเจนแล้ว ส่วนเงินเฟ้อเองก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยหากสถาการณ์ยังเป็นแบบนี้เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เศรษฐกิจน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น ทำให้แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวอยู่ในช่วงขาขึ้นได้
ส่วนการออกกองทุนพันธบัตรในประเทศเพื่อทดแทนการลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศนั้น เชื่อว่าขณะนี้ยังไม่น่าสนใจมากนัก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่ได้รับยังคงต่างกันอยู่มากพอสมควร
"ตอนนี้มันยังมีส่วนต่างอยู่มากซึ่งพันธบัตรรัฐบาล 1 ปีมันอยู่ที่ 1.1-1.2% ซึ่งถ้าจะออกได้ส่วนต่างมันต้องลดลงกว่านี้ เหมือนช่วงที่ยิลด์ ECP มันค่อยๆปรับตัวลดลงมันก็จะกลับมาลงทุนในประเทศได้"นายวินกล่าว
นายอาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ชันขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลออกมาประกาศว่าจะระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรอีกประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งข่าวดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวในตลาดปรับเพิ่มสูงขึ้นทันที 0.40% ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ก่อนจะปรับขึ้นอีก 0.20% เมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) รวมแล้วในช่วง 3 วันทำการอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นไปแล้วถึง 0.60-0.70% ซึ่งการที่ผลตอบแทนปรับขึ้นเช่นนี้ แน่นอนว่าจะทำให้ราคาของตราสารหนี้ถูกลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เอ็นเอวีของกองทุนตราสารหนี้ลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ แผนการออกพันธบัตรมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาทของรัฐบาล ถือว่าส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้อย่างรุนแรง ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เนื่องมาจากตลาดเองกังวลว่าหลังจากนี้จะมีซับพลายออกมาในตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวอายุ 5 ปี และ 10 ปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวจึงปรับขึ้นไปทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ทั้งตลาด โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ที่มีการลงทุนในพันธบัตรระยะยาว ส่วนผลกระทบมากน้อยแค่ไหนนั้น คงไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากแต่ละกองทุนมีอายุเฉลี่ยของตราสาร (ดูเรชั่น) ที่เข้าไปลงทุนต่างกัน
สำหรับกองทุนของบลจ.เอวายเอฟเอง นายอาสากล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากข่าวดังกล่าวเช่นกัน โดยเอ็นเอวีของกองทุนปรับลดลงเช่นกันแต่ไม่มากนัก เนื่องจากดูเรชั่นของกองทุนอยู่ที่ 1 ปีกว่าๆ เท่านั้น แต่การลงทุนในพันธบัตรอายุ 5 ปี ก็มีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนมาตั้งแต่ต้นปี ขณะนี้ผลตอบแทนยังเป็นบวกอยู่ประมาณ 2% ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวปรับลดลงจากก่อนหน้านี้ ที่มีกำไรอยู่ถึง 4%
"ต้องบอกว่ากองทุนตราสารหนี้ได้รับผลกระทบทั้งระบบ เพราะไม่มีใครรู้ก่อนใครว่าตลาดจะผันผวน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้จัดการกองทุนเองก็พยายามปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ โดยลดตราสารที่มีอายุยาวออกไปจากพอร์ตก่อน ซึ่งในบางครั้งก็จำเป็นต้องยอมขาดทุนไปบ้าง เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดเองมีค่อนข้างน้อย และตลาดก็รับข่าวไปพร้อมกัน ทำให้ขายตราสารออกไปได้ค่อนข้างลำบาก"นายอาสากล่าว
นายอาสากล่าวว่า แนวโน้มของเส้น Yield Curve หลังจากนี้ จะยังเห็นการชันขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของแผนการออกพันธบัตรมูลค่า 8 แสนล้านบาทว่าจะออกมาเมื่อไหร่ และอายุของตราสารเป็นอย่างไรบ้าง แล้วหลังจากนั้น Yield Curve น่าจะเริ่มนิ่ง อย่างไรก็ตาม หากมองไปถึงการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีแนวโน้มว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกนั้น จะทำให้เส้น Yield Curve แบบลงเรื่อยๆ เนื่องจากหากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับลงแล้ว ก็มีช่องให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวลงตามไปด้วยเช่นกัน แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเอกชนไม่มีการกู้ และการกู้เงินของรัฐบาลเองก็เป็นการกู้เงินระยะยาว ดังนั้น เมื่อมีข่าวการออกพันธบัตรออกมา ก็ส่งผลให้ Yield Curve ชันขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับคำแนะนำในช่วงนี้ นายอาสากล่าวว่า นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ถือว่ายังกำไรอยู่ ซึ่งใครที่ลงทุนในกองทุนที่บริหารกองทุนแบบ Active อยู่แล้ว แนะนำให้ถือหน่วยลงทุนต่อไป หรือถืออย่างน้อย 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ ไม่ใช่ว่าตื่นตระหนกแล้วขายออกมา ซึ่งหากทำเช่นนั้นจะทำให้นักลงทุนขาดทุน ที่สำคัญ การคำนวนเอ็นเอวีของกองทุนตราสารหนี้จะเป็นการ Mark to Market ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าจะขาดทุนตลอดไป เพียงแต่ต้องถือหน่วยลงทุนนานหน่อยเท่านั้น ส่วนนักลงทุนที่จะลงทุนในช่วงนี้ แนะนำว่าให้รอจังหวะก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องแผนการระดมทุนของรัฐบาล หรือจนกว่าตลาดจะหยุดผันผวน ทั้งนี้ เชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้า น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนบ้างแล้ว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 8 แสนล้านบาทนั้น เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้แตกต่างกันไป โดยหากเป็นกองทุนเปิดแน่นอนว่าจะได้รับผลกระทบในเรื่องราคาของพันธบัตรที่ถืออยู่มีมูลค่าลดลง แต่หากเป็นกองปิดคงจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้น
"เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องได้รับผลกระทบอยู่แล้วหากผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวสูงขึ้น แล้วไปกระทบกับเอ็นเอวีกองตราสารหนี้ แต่ในส่วนกองปิดแล้วนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามดอกเบี้ยตามที่ตราสารครบอายุอยู่แล้ว ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ทราบดี"นางวรวรรณกล่าว
ส่วนการออกกองทุนเพื่อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลชุดนี้หรือไม่หากผลตอบแทนมีอัตราเพิ่มขึ้นจริงนั้น จะต้องพิจารณาอีกครั้งเพราะต้องทำการพิจารณาอีกว่าผลตอบแทนเพิ่มขึ้นนั้นสามารถจูงใจนักลงทุนได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันตราสารหนี้ในต่างประเทศผลตอบแทนยังอยู่ในระดับสูงอยู่ แต่ถ้าสามารถทำได้ก็เชื่อว่าจะเป็นเรื่องดีในการระดมเงินในประเทศ โดยที่ไม่รั่วไหลออกไปต่างประเทศ
ขณะที่ นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า การกู้เงินในประเทศของรัฐบาลที่คาดว่าจะมีการออกพันธบัตรจำนวน 8 แสนล้านบาทนั้นส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ด้วยกัน 2 รูปแบบคือ 1.เมื่อยิลด์มีการปรับตัวขึ้นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นจะได้รับผลดี คืออาจจะได้เห็นกองประเภทมันนี่มาร์เก็ตมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้ 2.คือการขาดทุนของกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวจากการปรับตัวลดลงของราคาพันธบัตรที่ถือครองอยู่ทำให้เอ็นเอวีมีการปรับตัวลดลงตามภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อกองตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดเท่านั้น แต่จะไม่กระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนปิด เนื่องจากนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามที่สัญญาไว้อยู่แล้วเมื่อถือครองตราสารจนครบอายุโครงการ
"บางทีนักลงทุนก็วิตกเกินไปอย่างกองเกาหลี เมื่อมีการโค๊ตราคาตลาดแล้วทำให้เอ็นเอวีมันตกก็มีคำถามแต่ในความจริงแล้วนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนตามที่ระบุไว้อยู่แล้ว เพียงแต่การคิดเอ็นเอวีตามราคาตลาดนั้นบางครั้งมันก็มีการแกว่งตัวได้ ซึ่งนักลงทุนไม่จำเป็นต้องสนใจกับการปรับลดลงของเอ็นเอวีก็ได้"นายวินกล่าว
กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงนี้อยากให้นักลงทุนลดอายุตราสารลงอย่างให้เกิน 1 ปี เพราะอัตราผลตอบแทนมันปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแล้ว หรืออาจจะลงทุนในกองมันนี่มาร์เก็ตเพื่อพักเงินลงทุนไปก่อนก็ได้เช่นกัน เนื่องจากขณะนี้สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีความชัดเจนแล้ว ส่วนเงินเฟ้อเองก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยหากสถาการณ์ยังเป็นแบบนี้เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เศรษฐกิจน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น ทำให้แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวอยู่ในช่วงขาขึ้นได้
ส่วนการออกกองทุนพันธบัตรในประเทศเพื่อทดแทนการลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศนั้น เชื่อว่าขณะนี้ยังไม่น่าสนใจมากนัก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่ได้รับยังคงต่างกันอยู่มากพอสมควร
"ตอนนี้มันยังมีส่วนต่างอยู่มากซึ่งพันธบัตรรัฐบาล 1 ปีมันอยู่ที่ 1.1-1.2% ซึ่งถ้าจะออกได้ส่วนต่างมันต้องลดลงกว่านี้ เหมือนช่วงที่ยิลด์ ECP มันค่อยๆปรับตัวลดลงมันก็จะกลับมาลงทุนในประเทศได้"นายวินกล่าว