xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนชู15ข้อคุมหวัด2009 ตรึงมาตรการเฝ้าระวังต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ปิดฉากประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 ร่วมประกาศสู้ภัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชูข้อตกลงร่วมกัน 15 ข้อ ป้องกันโรคอุบัติใหม่ "มาร์ค" มั่นใจมาตรการที่กำหนดจะลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคม เผยประชุมสุดราบรื่น ทั่วโลกเชื่อมั่นไทยมากขึ้น ด้านWHO แนะทุกประเทศตรึงมาตรการเฝ้าระวังโรคต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อแล้วใน 26 ประเทศ รวม 2,371 รายแล้ว เผยวัคซีนใหม่ใกล้เสร็จ

ที่โรงแรมดุสิตธานี วานนี้ (8พ.ค.) เวลา 08.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 วาระพิเศษ เพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ เอช1 เอ็น1 โดยมี นพ.ชิน ยัง-ซู ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ผู้แทนธนาคารโลก และนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม โดยในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ร่วมกล่าวปราศรัยผ่านเทปบันทึกภาพ และเสียงเปิดในที่ประชุม จากนั้นมีการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมร่วมกับ นายริชาร์ด เบสเซอร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามสถานการณ์และวิธีแก้ไขปัญหาของสหรัฐฯ ตลอดการประชุม โดยมี นพ.ฟรานซิสโก ที.ดูเก้ ที่ 3 รัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศฟิลิปปินส์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชากรในภูมิภาคอาเซียนบวก 3 ซึ่งมีจำนวนกว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจในสัดส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก กำลังเผชิญภัยคุกคามใหม่จากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอเอช1 เอ็น1 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ เป็นภัยทางสุขภาพที่ไร้พรมแดน แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ผ่านการเดินทางระหว่างประเทศ มีผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถรับมือแก้ปัญหาได้เพียงประเทศเดียว หรือปล่อยปละละเลยได้ ดังนั้นประเทศกลุ่มอาเซียนบวก3 จึงต้องมีการประชุมหารือ เพื่อร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นที่ต้องใช้ทรัพยากรในการควบคุมสถานการณ์ โดยการเพิ่มมาตรการด้านยา วัคซีน ซึ่งมั่นใจว่ามีพอเพียง ขณะเดียวกันประเทศไทยเริ่มใช้มาตรการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ และรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 100 ล้านบาท ให้กับกระทรวงสาธารณสุข ในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วประเทศ
การประชุมครั้งนี้ของประเทศอาเซียนบวก 3 เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างนานาชาติ ในการเตรียมรับการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 รวมถึงการควบคุมป้องกัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน รวมทั้งการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ระหว่างอาเซียนกับนานาชาติ เพื่อที่จะให้ประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนบวก 3 เข้าถึงยาที่จำเป็นอย่างเพียงพอ และรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคม ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ประเทศอาเซียนบวก 3 ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับความสำเร็จในการป้องกันโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในอดตีที่ผ่านมาเช่น โรคซาร์ส เป็นต้น

**นากยกฯหวังต่างชาติเชื่อมั่นไทย
นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดงาน ถึงกรณีที่มีการระบุว่าไทยอาจจะได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมากที่สุด จากการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่าสิ่งที่เราจะต้องติดตามคือ แนวโน้มของการแพร่ระบาด เพราะตัวเลข อย่างกรณีของเม็กซิโก อาจมีแนวโน้มคงที่ แต่โดยธรรมชาติของโรคลักษณะนี้ ก็จะเริ่มไปปรากฏที่ประเทศต่างๆ แต่ถ้าสามารถช่วยกันดูแล และมีมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้ขยายตัวก็คิดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจก็จำกัดในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังพูดยากว่าไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่แน่นอนประเทศไหนพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว มีคนเดินทางเข้ามามาก ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่า
สำหรับความร่วมมือหลังจากการประชุมครั้งนี้ ก็จะมีแถลงการณ์เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐบาลจะติดตามหารือเรื่องนี้อีกครั้ง ในการประชุมอาเซียนบวกสาม บวกหกในเดือนหน้า
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่เราสามารถดูแลให้การประชุมครั้งนี้ให้เกิดความเรียบร้อย จะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นในการประชุมอาเซียน บวก 3 บวก 6 ที่ภูเก็ตได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั่วโลกจะได้เห็นว่า เราได้นำสภาวะต่างๆ กลับเข้าสู่ความเป็นปกติ และดูแลความปลอดภัยให้สะดวกที่สุด

**สธ.หนุน 5 มาตรการป้องกันโรค
นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการทบทวนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศอาเซียนบวก 3 และร่วมกันพิจารณาข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของอาเซียนบวก 3 ที่ร่วมกันหารือ ซึ่งมีเป้าหมายในการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ประเทศต่างๆ ดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งการแสวงหามาตรการป้องกันควบคุมการระบาด โดยกระทรวงสาธารณสุขไทย สนับสนุน 5 มาตรการ ในเวทีการประชุม ได้แก่ การเปิดสายด่วนแลกเปลี่ยนข้อมูลการระบาด การตั้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหากมีการระบาดตามแนวพรมแดน ความร่วมมือการตรวจชันสูตรเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การตรวจคัดกรองผู้เดินทางออกจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด เพื่อลดผลกระทบด้านการเดินทาง และการค้า และความร่วมมือวิจัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เพื่อการพัฒนาระบบการสาธารณสุข รับมือหากเกิดการระบาดใหญ่ขึ้น
“การระบาดของโรคนี้ กลายเป็นประเด็นซ้ำเติมภาวะวิกฤติด้านการเงินของโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลาเดียวกัน วิกฤติการณ์เหล่านี้จะทำให้ประเทศเราเสียหาย และประชาชนสูญเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยและทำให้เกิดความยากจนมากขึ้น การที่ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา และผู้นำประเทศต่างๆ ให้การสนับสนุน ทำให้เพิ่มความเชื่อมั่นว่า จะผ่านวิกฤติเหล่านี้ไปได้ และต้องขอบคุณทุกประเทศที่ให้ความสำคัญและเชื่อมั่นประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้" นายวิทยากล่าว

** เมืองปลาดิบซูฮก อสม.ไทย
นายวิทยากล่าวอีกว่า จากการหารือนอกรอบร่วมกับ นพ.ทาคาโอะ วาตานาเบ้ (Dr.Takao Watanabe) รัฐมนตรีช่วยอาวุโสกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนพิธีเปิดฯ ทราบว่า ประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ของประเทศไทย ที่มีเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นทัพหน้าของกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง และค้นหาผู้ติดเชื้อได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาด นับเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ เพราะมีการนำภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับสาธารณสุขของประเทศในการช่วยรัฐป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งญี่ปุ่นสนใจศึกษาตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ตลอดจนการทำงานของ อสม. โดยไทยพร้อมให้การสนับสนุน และได้มอบหมายกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นฝ่ายประสานงานอย่างเต็มที่เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้
นายวิทยา กล่าวต่อว่าขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมและมีขีดความสามารถที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตยา และเวชภัณฑ์ เพื่อให้เป็นหลักในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศที่มีขีดความสามารถสูง ควรจะเสียสละถ่ายทอดให้กับประเทศที่มีความสามารถน้อยกว่า ส่วนการสำรองยาโอเซลทามิเวียระดับภูมิภาคอาเซียน ยังไม่ได้หารือกับประเทศญี่ปุ่นว่าจะดำเนินการสนับสนุนยาให้กับอาเซียนเพิ่มเติมหรือไม่
"การจัดประชุมในครั้งนี้บรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี รัฐมนตรีทุกประเทศมีความสุข ประทับใจและมั่นใจ รวมทั้งประหลาดใจที่ในประเทศไทยใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมเพียง 6 วัน ก็สามารถจัดงานได้อย่างเรียบร้อย เป็นบทสะท้อนว่า ประเทศไทย มีความพร้อมในการจัดการประชุมระดับนานาชาติ เป็นการฟื้นความเชื่อมั่นอย่างรวดเร็ว และบ่งบอกว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมผู้นำอาเซียนที่จ.ภูเก็ต" นายวิทยากล่าว

** WHOขอให้ตรึงมาตรการเฝ้าระวัง
ขณะเดียวกันในการประชุม รมว.สาธารณสุข อาเซียนบวก 3 นางมากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวผ่านการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมร่วมว่า ช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ภูมิภาคอาเซียน ต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อโรคโดยเฉพาะไข้หวัดนก ซึ่งการเกิดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เอช1 เอ็น1 ในอีกซีกโลกหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะระบาดในภูมิภาคนี้เช่นกัน ได้ส่งสัญญาณว่า มาตรการการเตือนภัยเริ่มทำงานเป็นระบบมากขึ้น การเฝ้าระวัง การเตือนภัยมีการวางแผนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เคยมีครั้งไหนที่นานาประเทศจะสามารถรับมือกับการระบาดของโรคได้ดีเท่าครั้งนี้ ร่วมทั้งศักยภาพขีดความสามารถของประเทศต่างๆ ในการผลิตวัคซีนมามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้นานาชาติอย่าลดหย่อนมาตรการในการเฝ้าระวัง และระดมความสามารถในการป้องกันโรคทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เช่น การระดมทุนเพื่อป้องกันโรค
" มาตรการที่ประเทศเม็กซิโก ทำเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโรค ถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีที่เกิดขึ้น แต่เห็นได้ว่า ยังไม่เพียงพอจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย ขณะนี้ทุกประเทศต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ที่ต้องรับมือกับการระบาดของเชื้อที่ไม่สามารถบอกได้ว่ารุนแรงเพียงใด เพื่อทำให้เชื้อที่มีแนวโน้มจะระบาดใหญ่ไปทั่วโลก แพร่ระบาดช้าที่สุดหมายความว่า หากต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ก็จำเป็นต้องทำ และจะเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งหากชะลอการเดินทางไว้ หากไม่จำเป็น" นางมากาเร็ต ชาน กล่าว
ด้าน นพ.ริชาร์ด เบซเซ่อร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) กล่าวถึงสถานการณ์และการแลกเปลี่ยนข้อมูล มีความเป็นไปได้เอช 1 เอ็น 1 จะแพร่กระจายลุกลามไปทั่วโลก คาดว่าจะมีผู้เจ็บป่วยมากขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าตัวเชื้อโรคจะไม่รุนแรง แต่จะเห็นคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งอเมริกากำลังทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ให้แพร่กระจายลุกลาม มีการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมปัจจัยเสี่ยง สาเหตุของการแพร่ระบาด ส่วนในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำงานร่วม จีน เกาหลีในการพัฒนาวัคซีน
สำหรับสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศ ผลการตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารขาเข้าจากทุกประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (7 พ.ค.) จำนวนกว่า 28,876 ราย ไม่พบรายใดมีไข้ ยอดสะสมตรวจทั้งหมดตั้งแต่ 27 เม.ย. –7 พ.ค. 52 รวมทั้งสิ้น 343,104 ราย ผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยของสำนักระบาดวิทยาตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.-7 พ.ค.52 ยังไม่พบรายใดเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงาน ในตอนเช้าวันที่ 8 พ.ค.52 ตามเวลาประเทศไทย พบผู้ป่วยใน 24 ประเทศ จำนวน 2,371 ราย เสียชีวิต 44 ราย ดังนี้ สหรัฐอเมริกาป่วย 896 ราย เสียชีวิต 2 ราย เม็กซิโกป่วย 1,112 ราย เสียชีวิต 42 ราย ประเทศต่างๆ ที่เหลือได้แก่ ออสเตรีย 1 ราย แคนาดา 201 ราย จีน (ฮ่องกง) 1 ราย โคลอมเบีย 1 ราย คอสตาริก้า 1 ราย เดนมาร์ค 1 ราย เอลซัลวาดอร์ 2 ราย ฝรั่งเศส 5 ราย เยอรมนี 10 ราย กัวเตมาลา 1 ราย ไอร์แลนด์ 1 ราย อิสราเอล 6 ราย อิตาลี 5 ราย เนเธอร์แลนด์ 2 ราย นิวซีแลนด์ 5 ราย โปแลนด์ 1 ราย โปรตุเกส 1 ราย เกาหลีใต้ 3 ราย สเปน 81 ราย สวีเดน 1 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย และสหราชอาณาจักร 32 ราย

** จัดประชุมราบรื่นกู้หน้าไทยได้
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวบนเวทีว่า ความสำเร็จจากการจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 จะสามารถกู้หน้าประเทศไทยได้ระดับหนึ่ง หลังจากที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนบวก 3 บวก 6 ที่ จ.ชลบุรี ต้องล้มไป เนื่องจากปัญหาการชุมนุม ทำให้มีผลกระทบในเรื่องของความเชื่อมั่น แต่สำหรับในการจัดการประชุมครั้งนี้ เป็นไปเรียบร้อยเป็นอย่างดี จึงสามารถเรียกความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยให้คืนกลับมาได้ ซึ่งถือเป็นบันไดสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ เนื่องจากตลอดทั้งปีนี้ ประเทศไทยยังต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในกรอบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมด้านความมั่นคงในภูมิภาค การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และการประชุมสุดยอดผู้นำอีกครั้งในเดือนต.ค.นี้
นายสุรินทร์ กล่าวด้วยว่า อาเซียนได้รับการชื่นชมในการจัดการประชุม เพื่อระดมความร่วมมือการป้องกันการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดี ที่ประเทศในแถบอาเซียน จะแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่ามีความตระหนักถึงโรคภัยต่างๆ ที่มาเยือนโลกมนุษย์

**ประกาศ 15 มาตรการสู้ภัยหวัดนรก
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน พร้อมด้วย นพ.ฟรานซิสโก ที. ดูเก้ ที่ 3 รัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน บวก 3 และรัฐมนตรีสาธารณสุข จาก12ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ได้ร่วมแถลงผลการประชุม เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้
นพ.ฟรานซิสโก ที. ดูเก้ ที่ 3 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จ ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นโรคระบาดที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชากรในภูมิภาค ที่มีรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ซึ่งทุกประเทศต้องมีการตื่นตัว และมีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ ซึ่งจะเสริมความเข้มแข็งในการควบคุมการระบาด ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศต่างมุ่งเน้นในเรื่องการให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การใช้หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ การล้างมือ การจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ซึ่งจะช่วยลดการบาดของโรคนี้ได้อย่างดี
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อจากการเดินทางระหว่างประเทศ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หากพบผู้เดินทางที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจต้องให้ชะลอการเดินทาง และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตามหลักมาตรฐานสากล โดยที่ประชุมมีมติทั้งสิ้น 15 ข้อ แบ่งเป็นมาตรการระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ที่จะควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อาทิ จัดเตรียมแผนระดับชาติเพื่อควบคุมเฝ้าระวังการติดต่อระหว่างคนสู่คน และในสัตว์ การปฏิบัติตามมาตรการของกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบการเฝ้าระวังที่รวดเร็วและตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดซ้อมแผนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร วมทั้งการสื่อสาร เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก และผลกระทบทางสังคม การจัดระบบตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางออกนอกประเทศในพื้นที่ที่พบการติดเชื้อ รวมทั้งตามแนวพรมแดนระหว่างประเทศ โดยใช้คำว่า “พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ” แทนคำว่า“ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ” เพื่อลดผลกระทบการท่องเที่ยวและการค้า เป็นต้น

**หวัดมรณะลามแล้ว26 ชาติ

**บราซิล-อาร์เจนตินาพบผู้ติดเชื้อ
โชเซ โกเมซ เทมโปเรา รัฐมนตรีสาธารณสุขของบราซิล แถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อไข้ไวรัสหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นครั้งแรกของประเทศ จำนวน 4 ราย และพบผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้ออีก 24 คนโดยชาวบราซิล 4 รายที่ติดเชื้อนั้น ปรากฏว่ามี 3 คน ที่เดินทางกลับมาจากเม็กซิโก ขณะที่อีกรายเดินทางมาจากสหรัฐฯ
ส่วนที่ประเทศ อาร์เจนตินา กราเซียลา โอกานา รัฐมนตรีสาธารณสุข ออกมาแถลงยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นรายแรกของประเทศแล้วเช่นกัน โดยผู้ติดเชื้อเป็นชายชาวอาร์เจนตินา ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการไปท่องเที่ยวเม็กซิโก ซึ่งชายคนดังกล่าวยังมีสุขภาพแข็งแรงดี และไม่จำเป็นต้องเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลแต่อย่างใด
การพบผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ในบราซิล และอาร์เจนตินา ทำให้ทั้งสองประเทศ กลายเป็นประเทศที่ 25 และ 26 ของโลกที่พบผู้ติดเชื้อต่อจาก เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ อิตาลี อิสราเอล เอลซัลวาดอร์ เกาหลีใต้ โคลอมเบีย สวิตเซอร์แลนด์ คอสตาริกา ออสเตรีย เดนมาร์ก กัวเตมาลา ฮ่องกง ไอร์แลนด์เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส โปแลนด์ และสวีเดน
ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลกที่ได้รับการยืนยันแล้วมีทั้งสิ้น 2,371 ราย และมีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัยจากระดับ 5 เป็นระดับที่ 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดแต่อย่างใด
**คาดติดเชื้อ2พันล้านคนหากลามทั่วโลก
เคอิจิ ฟุกุดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า หากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไปทั่วโลก จะทำให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 2,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก และการแพร่ระบาดอาจกินเวลายาวนานถึง 2 ปี
ฟุกุดะ เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ ทางองค์การอนามัยโลก ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าจะเกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลกหรือไม่ และยังไม่สามารถยืนยันได้เช่นกันว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเพียงใด หากมีการระบาดรอบใหม่
ขณะเดียวกัน หลุยส์ โกเมซ ซัมโบ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นแอฟริกา ได้ออกมาเปิดเผยที่ กรุงแอดดิส อบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย เมื่อวันพฤหัส (7) โดยระบุว่าโลกจะต้องประสบกับหายนะครั้งใหญ่ ถ้าหากเชื้อไวรัสนี้ลุกลามเข้ามาแพร่ระบาดในทวีปแอฟริกา ซึ่งถือเป็นทวีปที่ยากจนที่สุดในโลก
ซัมโบ ระบุว่า ประเทศต่างๆในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่อยู่ด้านใต้ของทะเลทรายซาฮาราลงไป จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากกว่าภูมิภาคอื่นใดในโลก เนื่องจากยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานของระบบในการควบคุม และป้องกันโรคระบาด และขาดทรัพยากรที่จำเป็นอยู่อีกมาก ดังจะเห็นได้จากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อเอชไอวี มาลาเรีย อีโบลา และเชื้อโรคร้ายแรงอีกหลายชนิดในภูมิภาคดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ได้ตรวจพบชาวแอฟริกาทั้งหมด 12 คน ที่ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยในจำนวนนี้พบว่ามี 5 ราย ที่มีอาการต้องสงสัยมากที่สุด ได้แก่ ชาวเบนิน 1 ราย และชาวเซเชลส์ 4 ราย ซึ่งทั้งหมดถูกนำตัวมาตรวจหาเชื้อแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการรอผลตรวจอย่างเป็นทางการ

** พบเด็กญี่ปุ่นในชิคาโก ติดเชื้อ
กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น แถลงที่กรุงโตเกียว เมื่อวานนี้ (8) โดยระบุว่าพบเด็กชายชาวญี่ปุ่นวัย 6 ขวบ ที่อาศัยอยู่ในนครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ของสหรัฐฯ ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดยถือเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
ฮิโรฟูมิ นากาโซเนะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในกรุงโตเกียว ว่า เด็กชายคนดังกล่าวได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 แล้ว แต่เด็กชายคนดังกล่าวหายป่วยแล้ว ทั้งนี้ยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่า เขาติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ ญี่ปุ่นยังไม่มีการยืนยันพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสนี้ในประเทศแต่อย่างใด
**ยอดผู้ติดเชื้อมะกันพุ่ง 896 ราย
ริชาร์ด เบสเซอร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติ ของสหรัฐฯ หรือซีดีซี ออกมาเปิดเผยว่าในขณะนี้พบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในสหรัฐฯ แล้ว896 ราย ใน 44 มลรัฐทั่วประเทศ ส่วนจำนวนผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อในขณะนี้ได้เพิ่มเป็น 1,823 รายแล้ว
ก่อนหน้านี้เมื่อ วันพฤหัส (7) ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว อยู่ที่ 642 รายใน 41 มลรัฐ ซึ่งเบสเซอร์ ประเมินว่า ยังคงมีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก จะสงบลงแล้วก็ตาม

** เผยวัคซีนหวัดพันธุ์ใหม่ใกล้เสร็จแล้ว
ทีมนักวิจัยสหรัฐฯ ที่กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 คาดว่าวัคซีนตัวใหม่ จะพร้อมทดลองกับหนู ภายในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
ศาสตราจารย์ ซูเรส มิททาล แห่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพอร์ดิว ในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า วัคซีนตัวใหม่นี้ พร้อมจะผลิตออกมาใช้อย่างเป็นทางการได้ภายในอีกไม่กี่เดือนนี้ แต่จะต้องทดลองกับหนูก่อน หลังจากที่นักวิจัยสหรัฐและคณะเจ้าหน้าที่จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันพัฒนาวัคซีน โดยใช้วิธีการเดียวกับการสกัดกั้นการระบาดของเชื้อไวรัส เอช 5 เอ็น1 หรือเชื้อไข้หวัดนก มาเป็นวัคซีนสำหรับควบคุมเชื้อ เอช1 เอ็น1 ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ ด้วยการใช้ไวรัสไข้หวัดทั่วไปเป็นตัวนำยีนไวรัส เอช1 เอ็น1 ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ และเซลล์คุ้มกันเพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส
กำลังโหลดความคิดเห็น