xs
xsm
sm
md
lg

WHOชมอาเซียนสู้หวัดรมต.เซ็น13ข้อวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน/เอเอฟพี/รอยเตอร์ - เปิดฉากประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสาธารณสุขอาเซียน+3 สู้หวัด 2009 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารวางกำลังรักษาความปลอดภัยเข้ม ไร้เงา “เสื้อแดง” ป่วน สรุป 13 ข้อตกลงชงรมต.ลงนามวันนี้ รมว.สาธารณสุขจีนลั่นพร้อมให้ความช่วยเหลือผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียไทยและอาเซียน ขณะที่ควบคุมโรคสหรัฐฯบอกผ่านวีดีโอลิงค์ห่วงเร่งผลิตวัคซีนสายพันธุ์ใหม่2009สายพันธ์เดียว ส่งกระทบวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดตามฤดูกาล ญี่ปุ่นเสนอให้แต่ละประเทศสำรองยาอย่างน้อย 5 ล้านเม็ด องค์การอนามัยโลกชื่นชมทำได้ดี เผยหวัดมรณะลาม 24 ชาติติดเชื้อเลย 2 พันราย

เช้าวานนี้ (7 พ.ค.) ที่ รร.ดุสิตธานี กทม. นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโสของ 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และอีก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น รวมประมาณ 100 คน เป็นการประชุมสมัยพิเศษว่าด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 -8 พ.ค. เพื่อร่วมมือกันสกัดกั้นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไม่ให้แพร่ระบาด

**ทหาร-ตร.ตรึงเข้ม ไร้เงาเสื้อแดงป่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการวางกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอก โดยรอบสถานที่จัดการประชุมโรงแรมดุสิตธานี นอกจากนี้ มีการปิดถนนพระราม 4 บริเวณด้านหน้าสถานที่จัดประชุม โดยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเลี่ยงไปใช้สะพานต่างระดับแทน แต่พยายามไม่ให้กระทบกับการจราจรใกล้เคียงมากนัก โดยมีการสนธิกำลังจากกองกำลังตำรวจนครบาล กองปราบปราม 191ตำรวจสันติบาล จำนวน 6 กองร้อย รวมทั้งทหารจากกองพันสารวัตรที่ 11 อีก 300 นาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชุมนุมบริเวณสถานที่จัดการประชุม นอกจากนี้มีการปิดทางขึ้นลงรถไฟฟ้าบีทีเอสด้านติดกับโรงแรมดุสิตธานีด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่พบการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านแต่อย่างใด
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้มีกองทัพนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศเกาะติดการประชุม มียอดลงทะเบียนกว่า 500 คน

**CDC ห่วงมุ่งผลิตวัคซีน 2009 มากไป
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการรับฟังการรายงานผ่านการถ่ายทอดสดสัญญาณภาพและเสียงผ่านดาวเทียมหรือเทเลคอนเฟอเรนซ์ (Live-teleconference) จากศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือซีดีซี (CDC:US Centers for Disease Control and Prevention) มีความเป็นห่วงถึงการพัฒนาวัคซีนที่จะต้องพัฒนาและผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นไปพร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009ด้วย
นอกจากนี้ มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งในส่วนของบุคลากรและอุปกรณ์
“การที่ซีดีซีส่งสัญญาณเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เช่นนี้ อาจเป็นเพราะเกรงว่าหากมีการเร่งผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพียงสายพันธุ์เดียว จะส่งผลกระทบต่อการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลสายพันธุ์อื่นได้”นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปกติในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มี 2 รูปแบบ ได้แก่ การใช้ไข่และเซลล์ ซึ่งในการใช้ไข่นั้น 1 ฟองจะผลิตได้ 1-4 โด๊ส หรือ 1-4 เข็มที่ใช้ในการป้องกันได้ครอบคลุม 4 สายพันธุ์ แต่หากจะเร่งดำเนินการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะต้องนำไข่ 1 ฟองมาผลิตวัคซีน 4 เข็มที่ใช้ป้องกันได้เพียง 1 สายพันธุ์ ซึ่งไม่ห่วงหากเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพียงสายพันธุ์นี้สายพันธุ์เดียว วัคซีนสำหรับสายพันธุ์นี้จะมีความเพียงพอ แต่หากมีการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆพร้อมกัน 3-4 สายพันธุ์ก็อาจจะผลิตวัคซีนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดตามฤดูกาลที่อาจจะได้รับผลกระทบในแง่ของการผลิตวัคซีนไม่เพียงพอ
“ประเทศที่จะกระทบในส่วนของวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดตามฤดูกาลหากมีการเร่งผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 คือประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับประชากรในประเทศทุกคน ซึ่งประเทศไทยไม่มีปัญหา เพราะการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาด”นพ.สมศักดิ์กล่าว

**จีนพร้อมช่วยไทยผลิตยาต้าน
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนายเฉิน ชู (Chen Zhu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีของ 2 ประเทศก่อนที่จะมีการเปิดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 โดยเป็นการหารือนอกรอบร่วมกันนานกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อร่วมกันสกัดกั้นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่ให้แพร่ระบาดในภูมิภาค
นายวิทยา กล่าวภายหลังการหารือว่า นายเฉินชูได้สอบถามถึงสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในไทย และการที่ไทยต้องการให้จีนช่วยเหลือสนับสนุนหากเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งในฐานะที่จีนเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้เป็นจำนวนมาก จึงพร้อมที่สนับสนุนยาชนิดนี้ให้กับไทยและภูมิภาคอาเซียนหากมีความต้องการและเกิดการระบาดใหญ่ของโรคนี้ไปทั่วโลก นอกจากนี้ได้มีการหารือถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และประสานความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วย
“รมว.สาธารณสุขของจีนมีความกังวลมาก หากเกิดการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นรอบที่สอง แต่จีนก็ยังมีความพร้อมที่จะสนับสนุนยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน หากยาที่อาเซียนสำรองไว้ไม่เพียงพอ ในขณะที่ประเทศจีนไม่ต้องการความร่วมมือหรือการช่วยเหลือจากประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นพิเศษ เพียงแต่ต้องการมารับฟังปัญหาในภูมิภาคนี้เท่านั้น”
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่การจัดประชุมรัฐมนตรีสาธรณสุขอาเซียนบวก 3 เป็นการประชุมเพื่อหารือถึงมาตรการการเตรียมความพร้อมในการป้องกันไม่ให้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แพร่ระบาดเข้ามาในภูมิภาค เพราะหากจะหารือร่วมกันในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของโรคแล้วคงจะช้าเกินไป

**ถกเครียดสำรองยาต้านไวรัส
เมื่อเวลา 13.30 น. พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิ์วัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมความคุมโรค และนพ.ทูมัส พาลู หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ฝ่ายความร่วมมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก ได้ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศอาเซียนบวก 3
พญ.ศิริพร กล่าวว่า จาการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งจากศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐฯ และองค์การอนามัยโลก ระบุว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยด้านพันธุกรรม ลักษณะการแพร่เชื้อ และด้านคลินิก เพื่อลดผลกระทบต่อคนโดยการให้การรักษาอย่างรวดเร็ว และควบคุมโรคอย่างทันการณ์ รวมทั้งการสื่อสารความเสี่ยงต่อประชาชนยังมีความจำเป็นและต้องทำอย่างต่อเนื่องซึ่งจากการนำเสนอมาตรการของประเทศอาเซียนบวก 3 ในครั้งนี้ ยึดหลักเตรียมความพร้อมการเฝ้าระวัง ป้องกันตามมาตรฐานสากล โดยมีบางประเทศได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารโต้ตอบกระแสข่าวลือกับโรคระบาดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น
นพ.ศุภมิตรกล่าวว่า คลังยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ของกลุ่มประเทศอาเซียนที่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 5 ล้านเม็ด รองรับผู้ป่วยได้ 5 แสนคน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่บริจาคยาให้จำนวน 2.5 ล้านเม็ด โดยร้อยละ 50 ของยาทั้งหมด ได้มีการกระจายให้กับประเทศสมาชิกตามสัดส่วนประชากรของแต่ละประเทศเรียบร้อยแล้ว โดยไทยได้รับยาจำนวน 5 หมื่นเม็ด ซึ่งไทยสามารถผลิตยาได้เอง โดยมีสำรองไว้ทั้งหมด 5 ล้านเม็ด เนื่องจากไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่สามารถผลิตยาต้านไวรัสได้เอง
“ขณะนี้ยังไม่มีการออกมาระบุชัดเจนว่า แต่ละประเทศควรจะสำรองยาจำนวนเท่าใด แต่ในช่วงการระบาดของโรคระยะแรกต้องมีการผลักดันให้เริ่มสำรองยาบ้างแล้ว และค่อยๆ ทยอยเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นเพียงพอกับการระบาดใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการนัดหมายเพื่อหารือในระดับผู้เชี่ยวชาญถึงรายละเอียดและวิธีการในการสำรองยาต้านไวรัสของอาเซียน” นพ.ศุภมิตรกล่าว

**ญี่ปุ่นเสนอสำรอง 5 ล้านเม็ด
นพ.ศุภมิตร กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนบวก 3 ประเทศญี่ปุ่นได้เสนอให้แต่ละประเทศ สำรองยาต้านไวรัสไว้รองรับประชาชน 5 แสนราย หรือ 5 ล้านเม็ด เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ1 เอช1เอ็น1มีการติดต่อจากคนสู่คนหากเกิดการระบาดขึ้น อาจจะไม่ทันการณ์หากต้องรอการผลิตยาหรือใช้จากคลังยา
นอกจากนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ด้วย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะประเทศสมาชิกอาเซียนมีข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในขณะนี้ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอย่างสหรัฐฯ ความคืบหน้าล่าสุด นักวิทยาศาสตร์เพิ่มเริ่มการศึกษาเท่านั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะผลิตวัคซีนสำเร็จเมื่อใด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระดับอาวุโส ระบุว่า ต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 4-6 เดือนจึงจะสำเร็จ
ด้านนพ.ทูมัส กล่าวว่า การกำหนดมาตรการควบคุมโรค แม้ว่าต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางสาธารณสุขมาเป็นลำดับแรก แต่ต้องพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเดินทาง การท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ขณะนี้คงเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบหรือความเสียหาย เพราะการเกิดโรคไข้หวัดนก และซาร์ส ก็เพิ่งสามารถประเมินความเสียหายได้เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งจะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโกเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ประเทศในแถบอาเซียนทำอยู่ถือว่ามีการเตรียมความพร้อมอย่างดี ส่วนเรื่องความช่วยเหลือทางการเงินนั้น ธนาคารโลกพร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องทรัพยากร และหาแหล่งเงินทุน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นรูปแบบใดและจำนวนเงินเท่าไหร่

** องค์การอนามัยโลกชื่นชม
นพ.เคจิ ฟูกูดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การเตรียมการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ไม่เป็นการตื่นตระหนกเกินไป เพราะหากปล่อยปละละเลยต่อปัญหาจะเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะถ้าเกิดการระบาดจะไม่สามารถรับมือได้ทัน อีกทั้งถ้าเกิดความรุนแรงเท่ากับว่าจะสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเฝ้าระวังโรคนี้เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีโรคอีกมากที่เป็นโรคประจำภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความสามารถของแต่ละประเทศในการเฝ้าระวังโรค ซึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียนควรมีการตื่นตัวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะตนเองไม่เชื่อว่า มาตรการที่จัดการอยู่แม้จะดีเพียงใดแล้ว จะดีพอสำหรับการป้องกันการระบาดของโรค โดยเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวซีกโลกทางใต้มีอุณหภูมิที่สลับกับประเทศที่มีการระบาดอยู่ในขณะนี้ จึงควรดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตามขอชื่นชมการเฝ้าระวังควบคุมโรคของประเทศในภูมิภาคนี้ที่มีความจริงจัง และได้ประสบการณ์จากในอดีตที่เคยรับมือโรคไข้หวัดนก โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส”นพ.เคจิ กล่าว
นพ.เคจิ กล่าวว่า สำหรับการช่วยที่องค์การอนามัยโลกดำเนินการคือการประสานงานกับแหล่งเงินทุนในการช่วยเหลือประเทศที่มีทรัพยากรและเงินทุนจำกัดในการดำเนินการป้องกันโรคและสต็อกยา โดยองค์การอนามัยโลกฯยังได้ตั้งทีมวิชาการช่วยเหลือด้านข้อมูลและห้องปฏิบัติการในเครือข่ายกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งส่งยาโอเซลทามิเวียร์ไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถผลิตและสั่งซื้อเองไม่ได้จำนวน 72 ประเทศ
“ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังคงระดับความรุนแรงของโรคเป็นระดับ 5 เพราะยังเป็นการระบาดในประเทศซีกโลกเหนือของพื้นที่เดียวกัน แม้ว่าจะพบการระบาดประปรายในทวีปเอเชีย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะเลื่อนระดับความรุนแรงของโรคเป็นระดับ 6 อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์การเสียชีวิตของผู้ป่วยและการแพร่ระบาดจะลดลง แต่ก็ไม่ควรที่จะลดระดับความเข้มข้นของมาตรการที่ดำเนินการเฝ้าระวังโรค เพราะโรคอาจกลับมาระบาดอีกรุนแรงอีกครั้งหนึ่งก็ได้”นายเคจิ กล่าว

**สรุป 13 ข้อชง รมต.อาเซียน+3 ลงนาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสสาธารณสุข ประเทศอาเซียน+3 เป็นการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปตามกรอบการประชุม เบื้องต้นมีทั้งหมด 13 ข้อ โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันในร่างข้อตกลงดังกล่าว เช่น การคัดกรองโรคจากพื้นที่ต้นทาง ซึ่งมีการระบาดของโรค เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค การเปลี่ยนวิธีการเรียกพื้นที่ระบาดจากใช้ชื่อประเทศ เป็นชื่อเมือง หรือพื้นที่ที่มีการระบาด โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า ต้องมีระยะของการระบาดเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวงกว้างพอ ไม่ใช่ติดเชื้อเพียงคนสองคน แต่เรียกว่า เป็นพื้นที่ระบาด การเร่งมาตรการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนเฝ้าระวัง ปรับปรุงการเฝ้าระวังให้มีความสามารถในการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งระบบการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งการซักซ้อมการใช้แผนและการนำยาในคลังยากลางที่ประเทศสิงคโปร์มาใช้ให้รวดเร็วหากเกิดการระบาด
นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิ์วัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อ ตกลงดังกล่าวไม่ได้เป็นการบังคับ หรือพันธะสัญญาต่อกัน แต่เป็นความสมัครใจ ไม่มีข้อตกลงผูกมัดว่าใครจะต้องให้ความช่วยเหลือใคร เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการให้ความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งความเป็นไปได้ในการดำเนินงานแต่ละมาตรการรัฐบาลไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศร่วมด้วย โดยจะเสนอร่างข้อตกลงดังกล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขในวันที่ 8 พ.ค.ให้รับรองให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ร่างขึ้น

** โปแลนด์รายล่าสุดพบผู้ติดเชื้อ
สำนักข่าวโปลสกา อาเจนเซีย ปราโซวา หรือพีเอพี ของโปแลนด์ รายงานเมื่อวันพุธ (6) ว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นรายแรกของประเทศแล้ว
โดนัลด์ ทุสค์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ออกมาแถลงข่าวที่กรุงวอร์ซอว์โดยระบุว่า ผู้ติดเชื้อเป็นหญิงวัย 58 ปี ซึ่งถูกนำตัวมาอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้วและไม่ได้มีอาการรุนแรงแต่อย่างใด
โปแลนด์ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปตะวันออก และเป็นประเทศที่ 24 ของโลกที่ยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ต่อจาก เม็กซิโก อเมริกา แคนาดา สเปน สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ อิตาลี อิสราเอล เอลซัลวาดอร์ เกาหลีใต้ โคลอมเบีย สวิตเซอร์แลนด์ คอสตาริกา ออสเตรีย เดนมาร์ก กัวเตมาลา ฮ่องกง ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส และสวีเดน ขณะ WHO ระบุตอนเย็นวานนี้ว่า ผู้ติดเชื้อทั่วโลกซึ่งยืนยันแน่นอนแล้วได้เพิ่มเป็น 2,099 ราย และมีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัยจากระดับ 5 เป็นระดับที่ 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดแต่อย่างใด

**อาจพบผู้ติดเชื้อครบ 50 มลรัฐเร็วๆนี้
ริชาร์ด เบสเซอร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ หรือซีดีซี ออกมาเปิดเผยว่า ในขณะนี้พบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในสหรัฐฯ แล้ว 642 รายใน 44 มลรัฐ และยังพบผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้ออีก1,487 ราย
เบสเซอร์ระบุว่าการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อจาก 403 รายเมื่อวันพุธ (6) มาเป็น 642 รายเมื่อวานนี้ (7) ถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง และมีความเป็นไปได้ที่จะพบผู้ติดเชื้อครบทั้ง 50 มลรัฐในเร็วๆ นี้ รวมทั้ง ยังมีแนวโน้มว่า อาจพบผู้ติดเชื้อในเปอร์โตริโกและหมู่เกาะเวอร์จินซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของสหรัฐฯ ในแถบทะเลแคริบเบียนเช่นกัน

** เมืองหลวงเม็กซิโกกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว
สถานการณ์ทั่วไปในกรุงเม็กซิโก ซิตี เมืองหลวงของเม็กซิโก เมื่อวานนี้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว เมื่อธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ และโรงเรียน กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง หลังจากต้องปิดทำการไปนาน 5 วันตามคำสั่งของรัฐบาลเม็กซิโก รายงานข่าวระบุว่า ถนนสายต่างๆ ทั่วกรุงเม็กซิโก ซิตี ซึ่งเคยว่างเปล่าตลอด 5 วันที่ผ่านมากลับมาเต็มไปด้วยรถนานาชนิดอีกครั้ง ขณะที่ชาวเม็กซิกันจำนวนกว่า 20 ล้านคน ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ ต่างออกมาทำงานและปฏิบัติภารกิจประจำวันกันตามปกติเป็นวันแรก.
กำลังโหลดความคิดเห็น