xs
xsm
sm
md
lg

พธม.เหนือย้ำแก้ รธน.ต้องยึดปี 50 เป็นตัวตั้ง แนะพันธมิตรฯคงหลักตรวจสอบนักการเมืองชั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์บุญจง ชูชัยแสงรัตน์
ลำปาง – แกนนำพันธมิตรฯภาคเหนือ ยอมรับรัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่ต้องใช้ รธน.50 เป็นตัวตั้ง ค้านแหลกหันกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ชี้เป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะมีจุดอ่อนเพียบ ย้ำหากจะแก้ รธน. ต้องทำเฉพาะบางมาตรา คงไว้ทั้งเรื่องระบอบการปกครอง – อำนาจการตรวจสอบของภาคประชาชน เพื่อขับไล่นักการเมืองชั่ว พร้อมเผยไม่ขัดหาก พันธมิตรฯตั้งพรรคการเมือง แต่ต้องแยกบทบาทให้ชัด ยึดมั่นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของพันธมิตรฯในการตรวจสอบภาคการเมืองให้เต็มที่

พธม.เหนือรับ รธน.แก้ได้
แต่ต้องยึดปี 50 -คงมาตราตรวจนักการเมืองชั่ว


นายแพทย์บุญจง ชูชัยแสงรัตน์ รองประธานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)ภาคเหนือ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า โดยหลักการเห็นด้วยเพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีข้อดีข้อเสีย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี2550 แต่ต้องดูรายมาตรา และต้องไม่เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวหลัก

“เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 มีจุดอ่อน มีช่องว่างมาก”

นายแพทย์บุญจง บอกว่า ต้องแก้จากจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นหลัก เช่น ที่มาของ ส.ว. หรือบทลงโทษ เช่นการยุบพรรคการเมือง ซึ่งจุดนี้ต้องยอมรับว่าขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่มีนักการเมืองเข้าไปร่วมร่างด้วย จึงทำให้มุมมองอยู่ในกรอบที่จำกัด ดังนั้นจึงสามารถแก้ไขได้ในเรื่องที่เหมาะสม โดยยึดหลักการเดิมว่าต้องมองผลประโยชน์ภาคประชาชนเป็นหลัก ขจัดการซื้อสิทธิขายเสียง และการสร้างผลประโยชน์ให้แก่นักการเมือง

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญของเราพัฒนามาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นตัวหลักในการแก้ไข ไม่ใช่ไปเอารัฐธรรมนูญที่เป็นอดีตและมีช่องว่างเยอะมาก มาใช้อีก ก็เท่ากับถอยหลังลงไปอีก ประเทศชาติก็ไม่ต้องไปไหน “เดินหน้าถอยหลัง เดินหน้าถอยหลัง” อยู่แบบนี้

ส่วนรัฐธรรมนูญปี 50 ถ้าได้รับการแก้ไขช่องว่างช่องโหว ก็ต้องคงมาตราหลักที่มีความสำคัญไว้ คือเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมถึงการให้สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งการเสนอ แก้ไขกฎหมาย และสิทธิในการตรวจสอบนักการเมือง ต้องคงไว้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ให้สิทธิเหล่านี้ไว้มาก และมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ต้องแยกเป็นสองส่วน คือเรื่องการเมืองก็ว่ากันไป เรื่องการลงโทษทางอาญาก็ว่ากันไป อย่าเอามาปะปนกัน เช่น นักการเมืองที่ทำผิดเรื่องการเลือกตั้ง มีความผิดทั้งกฎหมายอาญา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ต้องว่ากันไป แต่เรื่องการลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่ไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องการเมือง ก็ต้องมาหาข้อสรุปกันว่าควรเป็นอย่างไรถึงจะเหมาะสม

ขณะที่นายสมโชค จันทร์ทอง เลขาธิการพันธมิตรฯภาคเหนือ ได้กล่าวว่า ส่วนตัวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยหลักการไม่อยากให้แก้ไข เพราะเห็นว่า รธน. ปี50 ดีอยู่แล้ว เป็นรัฐธรรมนูญที่ควบคุมนักการเมืองไม่ให้กระทำผิด ไม่ให้คอร์รัปชัน ไม่ให้กระทำการใดๆอันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง และต้องการให้นักการเมืองเดินเข้าสู่สภาด้วยความสะอาด ทั้งนี้ก็ไม่ได้ปิดกั้นหากจะมีการแก้ไขในบางมาตราที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประชาชน ยกเว้นหากเป็นการแก้ไขมาตราที่เอื้อประโยชน์ให้แก่นักการเมืองตนก็ ไม่เห็นด้วยและพร้อมที่จะออกไปเคลื่อนไหวทันที

“นักการเมืองทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎกติกาและกฎหมาย เมื่อกฎหมายห้ามก็ไม่ควรทำ เราทุกคนต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมายไม่ใช่ให้ปรับกฎหมายเข้าหาคน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และจะเกิดความวุ่นวายขึ้น”
สมโชค จันทร์ทอง
ตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายห้ามโทรศัพท์ในขณะขับขี่รถ ทั้งๆที่เราสามารถโทรศัพท์ได้แต่ทำไมต้องออกกฎหมายห้าม ก็เพราะเขาเห็นว่าการโทรศัพท์ขณะขับรถสามารถเกิดอุบัติเหตุ และจะทำให้คนอื่นที่ไม่โทรศัพท์เดือดร้อนด้วย ก็ถือว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับกฎหมายที่ออกมาบังคับว่าหากผู้บริหารพรรคคนใดคนหนึ่งกระทำผิด ผู้บริหารทุกคนรวมถึงพรรคก็ต้องรับผิดชอบ

ในเรื่องนี้กฎหมายได้เล็งเห็นแล้วว่าผู้บริหารพรรคเป็นบุคคลที่จัดการงานของพรรคทั้งหมด ดังนั้น เมื่อผู้บริหารคนใดคนหนึ่งแม้จะอ้างว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ตนก็ไม่ได้คอยระมัดระวังไม่ให้ผู้บริหารคนอื่นกระทำผิดได้ก็ย่อมต้องรับผิดด้วยเช่นกัน ก็ถือว่ากฎหมายได้เล็งเห็นแล้วว่าหากระดับผู้บริหารขาดซึ่งความใส่ใจในการดูแลพรรค ดูแลระบบทั้งหมดของพรรคแล้ว บุคคลภายนอกย่อมจะได้รับความเสียหายได้ ดังนั้นทุกคนที่เป็นระดับผู้บริหารต้องตระหนักในเรื่องนี้ ซึ่งหากทุกคนเอาใจใส่และช่วยกันดูแลและปฏิบัติตามกรอบกฎหมายที่วางไว้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร

2 แกนหลัก พธม.เหนือชี้ทางเดินพันธมิตรฯ
แยกหมวกภาคการเมือง-ประชาสังคมหากตั้งพรรค


ในประเด็นการตั้งพรรคพันธมิตรฯ นายแพทย์บุญจง ได้ให้ความเห็นว่า มีทั้งข้อดีข้อเสีย พันธมิตรฯเกิดขึ้นมาจากอุดมการณ์ของภาคประชาชนที่ต้องการตรวจสอบความไม่โปร่งใสของนักการเมือง หรือระบบการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคอร์รัปชัน การใช้ช่องว่างของกฎหมายในการหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้อง พันธมิตรฯจึงรวมตัวกันเพื่อต่อสู้และตรวจสอบโดยภาคประชาชน ดังนั้น พันธมิตรฯจะตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ตั้งพรรคการเมือง ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ขออย่าให้พันธมิตรฯละทิ้งอุดมการณ์ในการตรวจสอบภาคประชาชน

“พันธมิตรฯต้องแยกหมวกให้ออก พันธมิตรฯกลุ่มไหนที่จะไปทำด้านการเมือง ก็ไปทำภาคการเมือง อีกส่วนหนึ่งก็ต้องทำหน้าที่ของภาคประชาชนในการตรวจสอบนักการเมืองและพรรคการเมืองต่อไป เมื่อพรรคพันธมิตรฯทำผิด พันธมิตรฯก็ต้องตรวจสอบด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาพันธมิตรฯออกมาเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็ถูกมองว่าเล่นนอกสนาม เมื่อพันธมิตรฯแยกไปทำงานด้านการเมืองก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้คนมองว่าพันธมิตรฯเข้าต่อสู้ในระบบรัฐสภาและต่อสู้ทางการเมืองได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย”

นายแพทย์ บุญจง กล่าวย้ำด้วยว่า หากพันธมิตรฯ จะตั้งพรรคการเมือง ส่วนตัวไม่คัดค้าน แต่ทั้งนี้ต้องแยกและออกแบบรูปแบบให้ชัดเจน คือ 1. จะต้องไม่ละทิ้งการตรวจสอบพรรคการเมือง นักการเมือง โดยภาคประชาชน แต่พันธมิตรฯก็อย่าหวังมากว่าหากตั้งพรรคการเมืองแล้วจะได้รับการตอบสนองจากประชาชนอย่างท่วมท้น เพราะอย่าลืมว่าสังคม ณ ปัจจุบัน การเมืองยังอยู่ในระบบเก่าๆ เดิมๆ แม้จะมีการเลือกตั้งภายในปีนี้ก็ตาม ก็คงหนีไม่พ้น การเลือกตั้งแบบใช้เงินและอิทธิพล ซึ่งเป็นเรื่องยากในการที่จะได้รับการเลือกตั้งอย่างมากมายอย่างที่ตั้งความหวังไว้ หากได้รับเลือกเข้ามาจำนวนน้อยไม่กี่เสียงก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันมีกติกาของการเมืองอยู่

ดังนั้นตนไม่ขัดข้องหากพันธมิตรฯจะตั้งพรรคการเมือง แต่อย่าทิ้งอุดมการณ์เดิมของพันธมิตรฯที่เคยให้ไว้กับภาคประชาชน ใครถนัดด้านไหนก็ไปทำด้านนั้น แต่จุดยืนเดิมของพันธมิตรฯจะต้องยึดไว้และแยกกันให้ออก หากพรรคพันธมิตรฯทำผิด พันธมิตรฯก็ต้องออกมาเปิดโปง

ส่วนข้อเสียของการตั้งพรรคการเมืองก็มีเหมือนกัน เพราะหากตั้งพรรคขึ้นมาตอนนี้ต้องยอมรับว่า พรรคการเมืองนั้นก็จะต้องเข้าไปอยู่ในวังวนของการเมืองแบบเก่าๆ เพราะการเมืองต้องใช้เงิน เมื่อต้องใช้เงินพรรคการเมืองจะตั้งขึ้นโดยเงินบริจาคจากประชาชนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องได้รับการสนับสนุนจากนายทุน เมื่อมีนายทุน ก็หนีไม่พ้นพรรคการเมืองนายทุน การดำเนินงานต่างๆจะต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ผู้สนับสนุนเหล่านั้นยินดีเข้ามาสนับสนุนโดยปราศจากเงื่อนไข ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่ยาก และเมื่อมีเงินทุนแล้วจะทำอย่างไรให้การทำงานเป็นระบบอย่างที่ตั้งใจไว้ไม่ใช่มีเงินแล้วจะตั้งพรรคการเมืองได้เลย เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน

ด้านนายสมโชค ให้ความเห็นไว้ว่า ส่วนตัวก็ไม่ขัดข้องแต่หากตั้งแล้วไม่สามารถได้สมาชิกมากพอที่จะตั้งเป็นรัฐบาลเสียงส่วนมากได้ก็คงจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เป็นการเมืองใหม่ได้ยาก เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันการตั้งพรรคการเมื่องต้องพร้อมทั้งคน และเงิน แต่ขณะนี้พันธมิตรฯยังไม่พร้อม ดังนั้น พันธมิตรฯควรจะสร้างฐานที่เข้มแข็ง คือการให้ความรู้ภาคประชาชนให้มากขึ้นกว่านี้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ขัดข้องหากพันธมิตรฯจะตั้งพรรคการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น