xs
xsm
sm
md
lg

“สดศรี” ชี้คุณสมบัติ “สนธิ” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม
“สดศรี” เชื่อคุณสมบัติ “สนธิ” ไม่เข้าข่ายบุคคลล้มละลายขัดต่อ รธน. ห้ามลงสมัคร ส.ส.และนั่งหัวหน้าพรรคการเมืองได้ ส่วนการเคลื่อนไหวในภาคประชาชน ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง ระบุภายหลังตีความเสร็จ “สนธิ” เป็นหัวหน้าพรรคไม่ได้ ระบุแค่ศาลพิพากษาจำคุก ไม่ต้องถึงที่สุดก็หมดสิทธิ แถมเป็นคดีหมิ่นประมาทที่ไม่ถือเป็นความผิดลหุโทษ ขณะเดียวกันตีความขยาย หัวหน้าพรรคการเมือง ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุหากเป็นเจ้าของสื่อก็ห้ามนั่งเก้าอี้

วันนี้ (27 พ.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ทีมกฎหมายเบื้องต้นของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยในฐานะตัวแทนของกลุ่มพันธมิตรฯได้มาขอแบบฟอร์มการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและจากการสอบถามเบื้องต้นทราบว่า อาจจะยื่นขอจดจัดตั้งในชื่อพรรค “พันธมิตร” หรือ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งสามารถทำได้ เพราะที่ก่อนหน้านี้ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ตอบรับการยื่นขอจดจัดตั้งเพราะข้อบังคับพรรคที่ยื่นมาขัดกับรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.พรรคการเมือง

ส่วนการยื่นขอจดจัดตั้งในชื่อดังกล่าวถือเป็นการใช้ชื่อพรรคซ้ำซ้อนหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า เมื่อ กกต.ยกคำร้องการขอจัดตั้งพรรคของรายเดิมไปแล้ว บุคคลอื่นก็สามารถยื่นขอจดตั้งพรรคโดยใช้ชื่อดังกล่าวได้ เว้นแต่ผู้ที่ขอจดจัดตั้งรายเดิมจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งคาดว่าผู้ที่ขอจดจัดตั้งรายเดิมน่าจะใช้เวลาแก้ไขมากกว่า 1 เดือน เนื่องจากมีข้อบังคับพรรคหลายข้อที่ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตามหากกลุ่มพันธมิตรฯ ยื่นขอจดตั้งพรรคการเมืองมา กกต.ก็จะตรวจสอบตามขั้นตอนเหมือนเดิมโดยดูว่า "ชื่อพรรค" ข้อบังคับพรรคขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หากไม่ขัดก็สามารถรับจดจัดตั้งได้

เมื่อถามว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯเป็นบุคคลล้มละลายจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้หรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นหัวหน้าพรรค คงต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 11 ส่วนที่กฎหมายกำหนดว่าห้ามบุคคลล้มละลายทุจริตนั้น นายสนธิจะเข้าข่ายดังกล่าวหรือไม่ น่าจะเป็นเรื่องของศาลที่จะพิจารณา กกต.คงไม่เข้าไปพิจารณาประเด็นนี้โดยในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีการเพิ่มคำว่าทุจริตเข้าไปด้วย โดยเป็นเรื่องการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปให้ผู้อื่นเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องชำระหนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องการล้มละลายนั้นมีกฎเกณฑ์หลายอย่าง และมีการต้องโทษแตกต่างกันไป

สำหรับกรณีแกนนำพันธมิตรติดคดีอาญา คิดว่าคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ กรรมการบริหารพรรคน่าจะเคลียร์ตัวเองได้ อีกทั้งน่าจะทราบเรื่องกฎหมายดีพอ และมีนักกฎหมายเข้ามาดูแล ส่วนเรื่องที่นายสนธิ มีสื่ออยู่ในมือนั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามไม่ให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ โดยมองในเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ซึ่งพรรคการเมืองที่มีสื่ออยู่ในมือจะได้เปรียบเพราะถือว่ามีกระบอกเสียงเป็นของตัวเอง ในประเด็นของนายสนธินั้น กลุ่มพันธมิตรฯ ยังถือเป็นกลุ่มประชาชนที่ดำเนินการทางการเมืองอยู่ ไม่ใช่พรรคการเมืองแต่ถ้ามีการยื่นขอจดจัดตั้งแล้วคงต้องมาพิจารณากัน

นางสดศรี ยังกล่าวอีกว่า หากพรรคพันธมิตรจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองแล้ว การดำเนินการทางการเมืองต้องระมัดระวัง การจะเคลื่อนไหวนอกสภาอีกก็อาจเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 94 เพราะไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนตัวคิดว่าการตั้งพรรคการเมืองเป็นเรื่องง่าย แต่จะทำให้ดำรงอยู่เป็นเรื่องลำบาก ที่ผ่านมา กกต.ได้ตัดสินยุบพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายไปหลายพรรค

ทั้งนี้ นางสดศรี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการจัดตั้งพรรคพันธมิตรฯว่า เวลานี้มีแต่การคาดการณ์กันว่าคนที่เคยต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายจะมาขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่เท่าที่ทราบจะยังไม่มีการยื่นขอจดจัดตั้งพรรคตอนนี้ โดยขอที่จะไปศึกษากฎหมายก่อน ส่วนในประเด็นการเป็นบุคคลล้มละลายของนายสนธิ ลิ้มทองกุล นั้น ความหมายตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 11 ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 102 ที่ห้ามบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เป็นกรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรคการเมือง หมายถึงบุคคลที่รับโทษอยู่ในระหว่างช่วงเวลา3 ปีที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายจะมาเป็นดำรงตำแหน่งเหล่านี้ไม่ได้ แต่หากพ้นจาก 3ปีไปแล้วก็ถือว่าปลอดจากการล้มละลายแล้ว สามารถดำรงตำแหน่งได้ ส่วนการบุคคลล้มละลายทุจริตนั้นศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาเลย ถ้าไม่มีระบุไว้จะไปตีความขยายไม่ได้

เมื่อถามว่าแกนนำพันธมิตรมีปัญหาเรื่องคดีอาญา นางสดศรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 102 (4)ใช้คำว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ส่วน( 5) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ทั้งสองวรรคนี้มีความสำคัญว่า กรรมการบริหารพรรค หรือหัวหน้าพรรคต้องไม่ถูกคำพิพากษาให้จำคุก ซึ่งในที่นี้คงไม่ใช่ต้องถึงที่สุด ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเหมือนกันว่าระหว่างที่เป็นหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคต้องไม่ถูกคำพิพากษาให้จำคุก หรืออยู่ระหว่างคุมขังโดยหมายศาล แต่ทั้งนี้การเป็นหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคไม่ใช่เป็นไปตลอด แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากพบว่ามีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง

เมื่อถามต่อว่านายสนธิ ต้องคำพิพากษาจำคุกฐานหมิ่นประมาท คดีหมิ่นประมาท ถือว่าเป็นความผิดลหุโทษหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ความผิดลหุโทษ จะเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า คดีหมิ่นประมาทไม่ใช่ความผิดลหุโทษ


ส่วนในประเด็นเป็นเจ้าของสื่อนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 48 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ไม่ว่าในนามตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้หมายความเฉพาะรัฐมนตรี แต่พรรคการเมือง และหัวหน้าพรรคก็ถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นถ้ามีการมาขอยื่นจดจัดตั้งพรรคการเมือง ก็เป็นหน้าที่ของกกต.ที่จะต้องตรวจสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น