xs
xsm
sm
md
lg

ประธานวุฒิฯ หนุนแก้ ม.291 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสพสุข บุญเดช
ประธานวุฒิฯ หนุนใช้วิธีให้รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.3 ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ขณะที่อดีตเลขานุการกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นแย้งควรให้คนกลาง เช่น “หมอประเวศ-อานันท์” เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขโดยไม่ต้องมีนักการเมือง-พันธมิตรฯ เข้าร่วม

วันนี้ (30 ก.ย.) นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาล และพรรคพลังประชาชน เสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 3 (ส.ส.ร.) ว่า เห็นด้วย เพราะการแก้มาตรา 291 เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะอย่างน้อยก็เป็นการเปิดให้ทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันร่วมแก้ไข ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายยอมรับได้

เมื่อถามว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะดีหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะแก้มาตรา 291 ก่อนเพื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา เพราะมาตราดังกล่าวเป็นการแก้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ทุกฝ่ายมาระดมความคิดเห็น เมื่อได้ร่างการแก้ไขก็เสนอมายังรัฐสภา เพื่อแก้ไขต่อไป

“ตรงนี้จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ หากมีการเชิญทุกฝ่ายมาร่วม รวมทั้งพันธมิตรฯ ด้วยก็น่าจะทำได้ และทำได้ดี เพราะตรงนี้ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นวิธีการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็น่าจะยอมรับกันได้” นายประสพสุข กล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลควรเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เลยหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลอยากเปลี่ยนแปลงการเมืองและให้เกิดความสมานฉันท์ก็ลองดูเพื่อให้บ้านเมืองสงบ เมื่อถามอีกว่า นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นายประสพสุข กล่าวว่า ก็น่าจะทำให้สถานการณ์การเมืองดีขึ้น เพราะ พล.อ.เปรม เป็นรัฐบุรุษ และปูชนียบุคคลและเป็นที่เคารพของประชาชน เพราะเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ก็น่าจะได้รับคำแนะนำและคำปรึกษาที่เป็นประโยชน์

เมื่อถามต่อว่า พล.อ.เปรม ควรจะเป็นคนกลางในการประสานทุกกลุ่มหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า คิดว่าอย่างน้อยที่สุด นายกรัฐมนตรีก็จะได้รับคำแนะนำที่ดีและเป็นประโยชน์ เพราะ พล.อ.เปรม มีประสบการณ์เพราะเป็นนายกฯ มานาน

นายประสพสุข กล่าวถึงข้อเสนอของ 24 อธิการบดีว่า เป็นข้อเสนอที่ดี น่ารับฟัง เป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คาดว่าทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งไม่เพียงแต่อธิการบดี แต่เอกชนก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะการให้ประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้

ประธานวุฒิสภา ยังกล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ว่ารัฐบาลควรเร่งแถลงนโยบาย เพื่อจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ คิดว่านโยบายของรัฐบาลน่าจะเป็นนโยบายเดิม เพราะยังเป็นรัฐบาลชุดเดิม แต่อาจจะปรับเปลี่ยนให้ทันเหตุการณ์ขึ้น เมื่อถามว่าความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชาชนจะทำให้เกิดการยุบสภาก่อนการแถลงนโยบายหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องภายในพรรคพลังประชาชนก็ต้องแก้ไขกันเอง การแถลงนโยบายของรัฐบาลก็ต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาก่อน

ด้าน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญมาตร 291 ว่า ตนเห็นด้วย เพราะถือเป็นวิธีเดียวกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นทางออกที่ดี เนื่องจากเจตนารมณ์เดิมของผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กำหนดไว้ในมาตร 291 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ ทั้งนี้ เห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ควรจะมีการตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นจะถูกหรือผิดยังไม่สามารถบอกได้แต่ต้องเป็นสิ่งที่สังคมต้องยอมรับได้ว่า ส.ส.ร.3 เป็นสิ่งที่ดี หากปฏิรูปการเมืองโดยนักการเมืองเองประชาชนคงไม่ยอมรับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ขณะนี้ควรจะใช้รูปแบบใด นายสมคิด กล่าวว่า มีผู้เสนอมาหลายสูตรไม่ว่าจะเป็นสูตรตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มีที่มาสองที่ คือ มาจาก 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดว่า 76 คนมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ทั้งที่ความจริงเป็นการรับสมัครจากผู้จบปริญญาตรีมาสมัคร และเลือกเหลือ 10 คน จากนั้นส่งชื่อให้รัฐสภาเลือกเหลือเพียง 1 คน ถือเป็นระบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งสูตรนี้เป็นที่ยอมรับพอสมควร แต่ถ้าจะนำสูตรนี้มาใช้จะยอมรับได้หรือไม่ เพราะหลายฝ่ายอาจมองว่ารัฐบาลหรือรัฐสภาจะเลือกเฉพาะคนของตัวเองเข้ามาก็ได้ คิดว่าองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญปี 2540 น่าจะใช้ได้ เว้นแต่ว่าประชาชนจะไม่ยอมรับสูตรนี้

ถามว่า กับข้อเสนอของ 24 อธิการบดีให้มีการปฏิรูปการเมืองนั้น นายสมคิด กล่าวว่า ข้อเสนอของอธิการบดีไม่ได้คิดแบบเดียวกับแนวทางนี้ เพราะเขาเสนอให้เลือกมาเพียงคนเดียว คือให้ประธานรัฐสภาเลือกประธานขึ้นมาและให้ประชาชนยอมรับ จากนั้นให้ประธานตั้งคณะกรรมการขึ้นเองซึ่งสูตรนี้เชื่อว่าคนจะยอมรับพอสมควรแต่ต้องพูดให้ชัดว่ายอมรับได้หรือไม่ที่รัฐบาลมาเลือกเหลือเพียง 1 คน โดยต้องไว้ใจประธานรัฐสภา ซึ่งก็ต้องไว้ใจคณะกรรมการด้วย แต่จะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศ

เมื่อถามว่า การแก้มาตรา 291 เป็นประตูในการแก้วิกฤตการเมืองในขณะนี้ได้หรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญมีสองเรื่องคือแก้รูปแบบและแก้เนื้อหา การแก้มาตรา 291 เป็นเพียงแก้รูปแบเท่านั้น ท้ายสุดต้องไปจบที่เนื้อหาว่าต้องการแก้เพื่ออะไร ซึ่งตนคิดว่าควรเริ่มต้นที่รูปแบบก่อนหากรูปแบบมีปัญหาคงไม่สามารถยอมรับได้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการแก้มาตรา 291 มีหลายสูตรที่เสนอเข้ามา แต่ที่มีนักวิชาการเสนอว่าควรจะมีจำนวนคนไม่มากและไม่มีส่วนได้เสียโดยที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา เพราะหากผ่านความเห็นชอบจากสภาซึ่งเป็นนักการเมืองจะถูกมองว่าเป็นคนของรัฐบาล ดังนั้นควรมีบุคคลกลางเข้ามา

“ผมเห็นด้วยกับ 24 อธิการบดีที่เสนอคนกลาง คือ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นประธานฯ โดยไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายใด และเห็นว่าไม่ควรให้แกนนำพันธมิตรฯ และฝ่ายรัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการร่วมแก้รัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาไม่จบสิ้น เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการทำตามข้อเสนอของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองใหม่ 50:50 การสรรหาจากวิชาชีพ ซึ่งวิธีนี้ไม่ถือเป็นข้อเสนอใหม่ แต่ถ้าคนกลางที่ไม่ใช่มาจาก ส.ส.และส.ว.คาดว่าจะเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าข้อเสนอของรัฐบาลและพันธมิตรฯไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ควรเป็นคนกลางดีที่สุด ส่วนกรอบเวลาในการทำงานต้องปล่อยให้คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองกำหนด เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรมี ส.ส.ร.3 เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ” นายสมคิด กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น