xs
xsm
sm
md
lg

“เฟียต”เดินแผนสร้างกิจการยักษ์คิดฮุบGMยุโรปมาบวกไครสเลอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ – บิ๊กบอสรถยนต์ “เฟียต” แห่งอิตาลี เดินทางไปเจรจาขอความสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนีเมื่อวานนี้(4) ในการเดินหน้าแผนการใหญ่ที่จะฮุบกิจการของเจนเนอรัล มอเตอร์ส(จีเอ็ม) ในยุโรป แล้วเอามาควบรวมกับไครสเลอร์ ที่เฟียตเพิ่งบรรลุข้อตกลงเข้าซื้อหุ้นไปตอนปลายสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อก่อตั้งเป็นยักษ์ใหญ่รถยนต์ระดับโลกรายใหม่

แซร์จิโอ มาร์กีออนเน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเฟียต เข้าพบกับรัฐมนตรีของเยอรมนีหลายรายเมื่อวานนี้ เพื่อโน้มน้าวให้สนับสนุนสิ่งที่เขาเรียกว่า “การแต่งงานที่จัดขึ้นบนสวรรค์ชั้นฟ้า” เพื่อสร้างกิจการรถยนต์รายยักษ์รายใหม่ ที่จะมียอดรายรับปีละ 80,000 ล้านยูโร (106,000 ล้านดอลลาร์) ด้วยการผลิตรถปีละ 6 – 7 ล้านคัน

บริษัทแห่งใหม่นี้ ซึ่งมาร์กีออนเนต้องการให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย จะมีฐานะเป็นบริษัทรถยนต์ใหญ่อันดับสองของโลก เป็นรองก็แต่โตโยต้าแห่งญี่ปุ่น ทว่าจะใหญ่กว่าจีเอ็ม และฟอร์ด โดยที่จะมีขนาดระดับเดียวกับ โฟล์กสวาเกน ของเยอรมนี ที่เวลานี้มีฐานะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดของยุโรป

ภายในบริษัทแห่งใหม่นี้ จะมีแผนกรถยนต์ทั้งเฟียต, โอเปล ว็อกซ์ฮอลล์ และซาบ ของจีเอ็มยุโรป, ตลอดจนไครสเลอร์ ยักษ์ใหญ่รถยนต์สหรัฐฯที่เพิ่งขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลาย โดยที่เฟียตได้ไปทำความตกลงตอนปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า จะเข้าถือหุ้นในไครสเลอร์ขั้นแรก 20% จากนั้นก็จะเพิ่มเป็น 51% หากไครสเลอร์สามารถชำระคืนเงินกู้มหาศาลที่ขอยืมจากทางการสหรัฐฯ

บริษัทใหม่แห่งนี้จะผลิตยานยนต์ทุกๆ ประเภท ตั้งแต่ รถเอสยูวี “จิ๊ป” ในสหรัฐฯที่ซดน้ำมันฮวบฮาบ ไปจนถึง รถระดับกลางของโอเปิลอย่าง แอสตรา ตลอดจน เฟียต 500 รถคันจิ๋วที่ประสบความสำเร็จมากของบริษัทอิตาลีแห่งนี้

โอเปิลแห่งเยอรมนีเป็นกิจการแกนหลักของจีเอ็มในยุโรป และมาร์กีออนเนจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ในกรุงเบอร์ลิน จึงจะสามารถเดินหน้าทำข้อตกลงต่างๆ ต่อไปได้ โดยที่มาร์กีออนเนวาดหวังไว้ว่าเขาจะสร้างบริษัทยักษ์แห่งใหม่นี้ให้เห็นรูปเห็นร่างภายในเวลา 30 วัน

จีเอ็มนั้นพยายามมาพักหนึ่งแล้วเพื่อปล่อยหุ้นส่วนใหญ่ในโอเปิล และรัฐบาลเยอรมันก็ดูเหมือนจะเตรียมตัวเพื่อช่วยให้มีผู้สนใจเข้ามาทำข้อตกลงกับจีเอ็มกันมากขึ้น ด้วยการเสนอเข้าค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ผู้ต้องการซื้อ

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารกิจการจีเอ็มในยุโรป ได้ยื่นข้อเสนอปรับโครงสร้างต่อกรุงเบอร์ลิน ซึ่งมีการขอเงินสนับสนุนจำนวน 3,300 ล้านยูโร จากทางการเยอรมนีตลอดจนทางการประเทศอื่นๆ ที่มีโรงงานของจีเอ็มตั้งอยู่

จีเอ็มจ้างพนักงานในยุโรปรวม 55,600 คน ในจำนวนนี้เป็นการจ้างของโอเปิลในเยอรมนี 26,000 คน และจากการที่การเลือกตั้งเดือนกันยายนกำลังขยับใกล้เข้ามา นายกฯแมร์เคิลก็คงไม่ต้องการเห็นการล้มครืนของโอเปิล ซึ่งถือเป็นเพชรเม็ดงามเม็ดหนึ่งในวงการอุตสาหกรรมย้อนหลังไปไกลถึงศตวรรษที่ 19

ทว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจ คาร์ล ทีโอดอร์ ซู กุตเตนบูร์ก และรัฐมนตรีต่างประเทศ ฟรังค์-วอลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ซึ่งมีกำหนดนัดหารือกับมาร์กีออนเน ก็ต้องการที่จะได้ที่อะไรที่สร้างความมั่นใจจากผู้สนใจซื้อโอเปิลด้วย

“ใครก็ตามที่สนใจในโอเปิลจะต้องเสนอวิสัยทัศน์ระยะยาวออกมาให้ทราบกัน เราจะไม่อดทนกับการผจญภัยทางการเงินใดๆ กับเงินของผู้เสียภาษีอากรหรอก” ซู กุตเตนเบิร์ก กล่าวเตือนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์บิลด์ อัม ซอนน์ทาก เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทางด้านสไตน์ไมเออร์ก็บอกกับผู้สื่อข่าววานนี้ว่า มีผู้ที่สนใจโอเปิลอยู่หลายราย ไม่ใช่มีแต่เฟียตรายเดียว

เวลานี้ฝ่ายที่แสดงท่าทีคัดค้านแข็งขันที่สุดต่อแผนการของเฟียต น่าจะได้แก่สหภาพแรงงานทั้งของเยอรมนีและของอิตาลี ซึ่งกลัวว่าการควบรวมกันเช่นนี้ จะหมายถึงการลดตำแหน่งงานและการปิดโรงงานจำนวนไม่น้อย

ไมเคิล ไทน์ดัลล์ นักวิเคราะห์แห่งโนมูระ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็เห็นด้วยกับความหวาดหวั่นของสหภาพแรงงาน เขาชี้ว่าเมื่อมองในแง่อุตสาหกรรมแล้ว การที่เฟียตควบรวมกับโอเปิล ยังสมเหตุสมผลกว่าไปรวมกับไครสเลอร์เสียอีก

เขาอธิบายว่า เนื่องจากทั้งเฟียตและโอเปิลต่างแข่งขันกันในตลาดที่ค่อนข้างเป็นตลาดเดียวกัน โดยที่รถยนต์ที่จำหน่ายก็เป็นขนาดคล้ายๆ กัน การควบรวมกันจึงสามารถทำให้เกิด “การประหยัดอันเกิดจากขนาด” ได้ ทว่า “การประหยัดอันเกิดจากขนาด” ย่อมหมายถึง “ตำแหน่งงานที่น้อยลง” ด้วยนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น