xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองหรือรธน. : เหตุแห่งอนาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะที่ความแตกแยกทางการเมืองยังคงอยู่ และรอวันที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้งได้ทุกเมื่อตราบเท่าที่ต้นเหตุแห่งความแตกแยกยังคงอยู่ แนวคิดในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมให้บุคคล และกลุ่มบุคคลอันเป็นต้นเหตุแห่งความแตกแยกกำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างภายใต้ชื่อ กรรมการปรองดองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ประธานรัฐสภาได้ดำริให้ตั้งขึ้นตามข้อเรียกร้องของ ส.ส.กลุ่มหนึ่ง

ถ้าดูผิวเผินเพียงชื่อ โดยไม่ลงลึกถึงเจตนาที่ซ่อนเร้นในการเสนอตั้งกรรมการชุดนี้ ก็เชื่อได้ว่าผู้คนในสังคมที่ไม่ค่อยสนใจและใฝ่รู้ในเรื่องการเมืองมากนัก ประกอบกับเป็นคนที่อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ก็คงจะเห็นด้วยกับการตั้งกรรมการชุดนี้

แต่ถ้าลงไปในรายละเอียดของเนื้อหาข้อเรียกร้องในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 190 และ 237 แล้วก็ทำให้เกิดข้อกังขาในหลายประการ ซึ่งพออนุมานได้ดังต่อไปนี้

1. นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาแล้วหลายฉบับ แต่ไม่ปรากฏว่าการเมืองไทยดีขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เราลอกเลียนแบบอย่างแห่งการปกครองเขามา อันได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษ อันถือได้ว่าเป็นต้นแบบแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงเกิดข้อกังขาว่า ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้แล้ว ประเทศไทยจะประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นจริงหรือ

2. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ถ้าดูโดยเนื้อแท้แล้วก็คืออนุบัญญัติหรือบัญญัติเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญปี 2540 ในส่วนที่เห็นว่าบกพร่อง และเป็นช่องว่างให้นักการเมืองถือโอกาสหาประโยชน์ทางการเมืองได้

ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้นักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 190 และ 237 อันเป็นการปกป้องความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติโดยรวม ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยหรือ

3. ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมให้นักการเมืองที่ต้องเว้นวรรคทางการเมืองตามมาตรา 237 และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องเว้นวรรคทางการเมืองลงสู่สนามเลือกตั้งได้ก่อนกำหนด จะช่วยให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นได้จริงหรือ

จากข้อกังขา 3 ข้อดังกล่าวข้างต้น ในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนแล้วเห็นว่าไม่น่าจะช่วยให้ความเป็นประชาธิปไตยดีขึ้นด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. กฎหมายรัฐธรรมนูญถึงแม้จะเป็นแม่บทให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยก้าวเดินไปได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าการมีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความมีธรรมาธิปไตยของนักการเมืองควบคู่ไปพร้อมๆ กัน จะทำให้การปกครองมีความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์

2. กฎหมายรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการร่างของคน ถ้าคนที่ทำการร่างกฎหมายไม่มีคุณธรรมกำกับในการร่างกฎหมาย ก็จะให้ความมั่นใจไม่ได้ว่ากฎหมายที่ออกมามีผลบังคับใช้จะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย

3. ถึงแม้ว่าผู้ร่างกฎหมายมีความเป็นธรรม และกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะมีเนื้อหาเพียบไปด้วยความถูกต้อง และเป็นธรรม แต่ถ้าผู้ใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมไม่มีคุณธรรม ก็ใช่ว่าสังคมที่ถูกปกครองด้วยกฎหมายที่ว่านี้จะได้รับความเป็นธรรม

ด้วยเหตุแห่งปัจจัย 3 ประการดังกล่าวแล้วจึงสรุปได้ว่า กฎหมายจะมีความถูกต้องเป็นธรรมให้กับผู้คนในสังคมโดยเสมอภาคกันได้ก็ต่อเมื่อผู้ร่างกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมายมีความเป็นธรรมเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นปัญหาว่า ภายใต้การบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมอะไร และกับใคร จึงจะต้องรีบแก้ไข ทั้งๆ ที่มีการบังคับใช้มาเพียงระยะเวลาปีกว่าๆ เท่านั้น และที่สำคัญประเด็นที่มีการเรียกร้องให้แก้ เช่น มาตรา 190 อันว่าด้วยการให้การทำสนธิสัญญาระหว่างรัฐกับรัฐต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา ซึ่งได้ก่อความเดือดร้อนให้แก่รัฐบาลในยุคของนายสมัคร สุนทรเวช มีมติ ครม.ให้ทำข้อตกลงกับประเทศกัมพูชายินยอมให้ประเทศนี้เสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมีผลให้รัฐมนตรีต่างประเทศมีอันต้องพ้นจากตำแหน่งไป และมาตรา 237 อันว่าด้วยกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กรรมการพรรคทุกคนต้องรับผิดชอบด้วย และในขณะเดียวกันพรรคต้องยุบด้วย ดังที่เกิดขึ้นกรณีของพรรคไทยรักไทย และพรรคชาติไทยมาแล้ว

จากความผิดที่เกิดขึ้นตามมาตรา 190 และ 237 จะเห็นได้ว่าเกิดจากการกระทำผิด และความเสียหายได้เกิดขึ้นแก่สังคมโดยรวม ทั้งยังทำให้การเมืองโดยรวมไม่พัฒนาเพราะมีนักการเมืองกระทำผิด จึงไม่น่าจะมีเหตุผลใดมาหักล้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาตรา 190 และ 237 คือจุดบ่งบอกถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ตรงไหน

ตรงกันข้าม ถ้ามีผู้กระทำผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมโดยรวม และกระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินการลงโทษคนกระทำผิดอย่างตรงไปตรงมา และเป็นธรรมกับผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ ก็น่าจะเป็นเหตุให้พูดได้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการออกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสังคมโดยรวม อันถือได้ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นต้นเหตุให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเจริญก้าวหน้าด้วย

ในทางกลับกัน ถ้ามีผู้กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมโดยรวมแล้ว ต่อมามีความพยายามจะแก้ไขเพื่อให้คนทำผิดพ้นผิด น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตัวถ่วงมิให้ระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือถ้าจะพูดให้ตรงไปตรงมาก็คือ ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนไทยที่รักประชาธิปไตย และต้องการเห็นกฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่พึ่งของคนในสังคมได้อย่างเป็นธรรมโดยเสมอภาคกัน ก็ควรออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เพื่อให้คนที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญได้รับรู้ว่าไม่ต้องการให้แก้ และที่สำคัญให้คนที่ต้องการแก้แต่ไม่ต้องการให้ทำประชามติ โดยอ้างว่าประชาชนไม่รู้กฎหมายที่มีอยู่ถึง 299 มาตรา อันเป็นการพูดที่ขัดกันเอง ด้วยเหตุว่าต้องการแก้แค่ 2 ทำไมจึงต้องทำประชามติทั้งหมด ทำเพียงแค่ 2 ก็น่าจะพอ และดูเหมือนตรงประเด็นดีด้วยซ้ำไป

กำลังโหลดความคิดเห็น