xs
xsm
sm
md
lg

"นิวัตต์"เผยภารกิจนำเคทีซีฝ่าวิกฤตมุ่งสกัดหนี้เน่า-สรุปเพิ่มทุน30เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "นิวัตต์ จิตตาลาน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี สั่งเตรียมพร้อมรับมือหนี้ เอ็นพีแอลเต็มสูบ ลุยเพิ่มเจ้าหนี้ฝ่ายติดตามหนี้สิน-ประนอมหนี้ เผยสัญญาณการเพิ่มขึ้นชัดเจน คาดอัตราการผิดนัดชำระหนี้พุ่งแตะ 5% จากระดับ 3% กว่าในขณะนี้ ขณะที่การเพิ่มทุนรอสรุปผลหลังประชุมผู้ถือหุ้นสิ้นเดือนนี้ ชี้หากสำเร็จต้องเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และส่งผลดีด้านความเชื่อมั่น

ธุรกิจของเคทีซีปีนี้

ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามที่คาดว่าเศรษฐกิจซึมเหมือนคนเป็นไข้ ทุกสิ่งคงที่ บริษัทเองก็ไม่ได้กระตุ้นทั้งในส่วนของยอดบัตร และยอดการ ใช้จ่าย ซึ่งเป็นความพยายามที่จะไม่เพิ่มพอร์ตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว บรรยากาศมันเป็นมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ไทย จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งบริษัทเองก็เตรียมรับมือโดยเข้มงวดเรื่องการอนุมัติบัตร อนุมัติสินเชื่อ และจะไม่ได้เน้นเพิ่มยอดการใช้บัตร หรือการเพิ่มยอดสินเชื่อ ก็จะเห็นได้ที่เคทีซีนี่แทบจะหายไปจากตลาดเลยเรื่องการโปรโมตแปลกๆ ไม่มี มีงานใหญ่ออกมางานเดียวคือเรื่องบัตรท่องเที่ยว แล้วก็หันไปเน้นตลาดระดับสูงด้วย เพราะเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีปัญหา ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ มียอดบัตรเป็นเรือนแสนแล้ว

ปัญหาที่น่าห่วงตอนนี้คือเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ ที่มีสัญญาณที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล โดยจะเริ่มผุดขึ้นจากกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 17,000 -18,000 บาท เป็นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ทำธุรกิจส่วนตัว โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและส่งออก จึงทำให้คาดว่าในปีนี้อัตราการผิดนัดชำระอาจจะขึ้นไปถึง 5% ของเราตอนนี้อยู่ในระดับ 3% กว่าเกือบ 4% ภายในกลางปีนี้ก็น่าจะเลย 4% ไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ในครั้งนี้ จะกลายมาเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)สูงกว่าช่วงที่ผ่านๆมา เพราะว่าก่อนหน้านี้พอผิดนัดชำระหนี้ก็ยังกดตรงโน้น ยืมตรงนี้มาโปะสลับกันไป แต่ตอนนี้มันทำอย่างนี้ยากแล้ว ตรงนี้ก็จะทำให้กลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องที่เราทำก็คือทำการปรับโครงสร้างหนี้ ประนอมหนี้ และบางส่วนก็ต้องปิดบัตรไป แล้วก็เข้าสู่ระบบประนอมหนี้ ซึ่งจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะว่าไม่ได้เป็นหนี้ในวงเงินบัตรแล้ว ก็จะมีหลายวิธีการยืดหนี้ ยืดระยะเวลาผ่อนออก ให้เขามีกำลังพอที่ผ่อนได้ ลดหย่อนดอกเบี้ยให้ ธรรมดา จ่าย 10% ก็มีการผิดนัด มีสัญญาณไม่ดี ตรงนี้ก็จะพยายามปิดบัตรแล้วดันออกมาเข้าระบบประนอมหนี้เลย ทำให้เร็ว เพื่อไม่ให้ไปสู่เอ็นพีแอล ที่หนักๆก็จะพวกส่งออก ท่องเที่ยว แล้วอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันอัตราการผิดนัดชำระหนี้แล้วกลายมาเป็นเอ็นพีแอล จะอยู่ที่ประมาณ 30% กว่า แต่ในอนาคต น่าจะเกิน 50% ขึ้นอยู่กับว่าการปรับโครงสร้างหนี้ที่เกิด ขึ้นจะต่อลมหายใจเขาได้ถึงไหน แล้วก็จำนวนคนตกงาน ที่เกิดขึ้นอีก แล้วยิ่งถึงเศรษฐกิจซึมไปยาวก็ยิ่งลำบาก

'ตอนนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรมาเบรกไม่ให้อัตรา การผิดนัดชำระหนี้ไหลไปสู่ 4% กว่าได้เลย แต่สิ่งที่ ต้องจับตาดูก็คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ว่าจะเกิดผลหรือไม่ อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็ไม่รอด เพราะลำพังประเทศเล็กๆอย่างเรา ไม่มีกำลังพอที่จะไปทำ'

การผ่อนเกณฑ์ของธปท.ที่เพิ่งจะออกมาจะช่วยบ้างหรือไม่

บริษัทก็กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งตรงนั้นบางสิ่งดำเนินการอยู่แล้ว แต่บางสิ่งก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะ การดำเนินงานของบริษัทกับธนาคารพาณิชย์นั้นต่างกัน บัญชีการกู้เงินของแบงก์นั้น สามารถมีหลายบัญชีได้ แต่ของเราจะมีบัตรกี่ใบก็มีบัญชีเดียว วงเงินเดียวกัน อันนี้ก็ต้องศึกษาดูในรายละเอียดก่อน

จริงๆแล้ว สิ่งที่ต่างๆที่จะสกัดภาวะหนี้เอ็นพีแอล นั้น เราก็ทำมาตลอดทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อย่างคนที่มีอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้เกินกว่า 60% เราไม่เอาแล้วนะ อย่างสินเชื่อบุคคลนี่เห็นชัด 3 เดือนสินเชื่อบุคคลนี่ อนุมัติหลักร้อยไม่ถึงพันเอง จากที่เคยอนุมัติไปหมื่น อย่างนี้เรียกว่าเราเข้มงวดมั้ย แต่ในส่วนที่มีอยู่แล้วก็ต้องติดตามกันไป ตอนนี้ก็มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ติดตามหนี้อีก 60 คนเมื่อเดือนที่แล้ว ตอนนี้รวมๆแล้วก็กว่า 300 คนแล้ว เพิ่มระบบไอทีเข้าไปช่วย เตรียมมาตรการ ประนอมหนี้ออกมามากมาย เพื่อให้ติดตามหนี้ให้ทัน ที่สำคัญคือต้องทำให้เขาเข้ามาคุย จะตัดบัตร ตัดสินเชื่อ อะไรก็ว่ากันไป ไม่ใช่การหายไปเฉยๆ

'ผลประกอบการของบริษัทปีนี้ก็คงจะไม่ดีกว่าปีที่แล้ว แต่ผมก็ไม่ได้มองที่การเติบโต แต่มองที่จะต้องบริหารอย่างไรให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤตตรงนี้ไปได้ เพราะจะเห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆก็ล้มหายตายจาก ไปเยอะ และในอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดจะหนักหนา กว่านี้หรือไม่ จึงต้องเตรียมรับมือให้ดี'

คิดว่าเมื่อไหร่สถานการณ์จะดีขึ้น

การที่จะเรารู้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะยืดยาวไปถึงไหน ก็คงต้องติดตามตัวเศรษฐกิจที่ออกมา ซึ่งเท่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าไม่ได้หยุดนิ่งเลย วานนี้แถลงจีดีพีติดลบ 1% ต่อมาก็ 2% แล้วก็ไหลลงมาเรื่อยๆ ถ้าตัวเลขนี้หยุด ก็จะรู้ว่าตรงนี้คือจุดต่ำสุด คือเห็นก้นแล้ว และเมื่อไหร่ที่เงินเฟ้อกลับเข้ามาก็แสดงว่าจะเริ่มฟื้นแล้ว

และจากการที่เรายังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนในอนาคตว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ เราจึงไม่มีแอ็กชัน แพลน สถานการณ์แบบนี้ถ้ามีแอ็กชันแพลน ก็เจ๊ง เพราะถ้ามีกว่าจะปรับกว่าจะเปลี่ยนก็ไม่ทัน เพราะสถานการณ์ตอนนี้ดูกันวันต่อวัน เศรษฐกิจตอนนี้อย่าวางแพลน แต่มีมาตรการคุมไว้เป็นหลัก ไม่ต้องกระตุ้นให้ใช้เงิน ไม่ต้องมีแคมเปญกระตุ้น วางมาตรการระมัดระวัง อย่า เติบโตน่าจะปลอดภัยที่สุด ก็จะเห็นได้ว่าปีนี้ cost เราลดลงไปเป็น 10%

เพราะฉะนั้น หน้าที่ตอนนี้ก็คือพาบริษัทผ่านพ้น วิกฤตนี้ไปให้ได้ และดูแลหนี้เสียให้ดี เพราะสภาวะนี้ ยังไงหนี้ก็ต้องเสียเพิ่มแน่ ทำให้จะต้องประนอมหนี้ให้เร็วที่สุด ติดตามหนี้ให้เร็วที่สุด ลูกหนี้ที่ยังพอมีศักยภาพก็ยืดหนี้ออกไปได้ รอไว้ช่วงเศรษฐกิจที่ดี เขาก็จะมาใช้บริการเราอีก ไม่เสียลูกค้าคนนี้ไป

'ตอนนี้ใครบุกตาย ใครให้ควิก แคช 10% ตาย ผมทำไม่ได้ที่มืออีกข้างแบมือขอเงินจากผู้ถือหุ้น เสร็จแล้วเอามาจ่ายคืนผู้บริโภค 5% อย่างนี้ คงโดนผู้ถือหุ้นด่าเละ เพราะธุรกิจที่ทำอยู่มันเป็นไดเรกต์ที่เห็น กันโดยตรงอยู่แล้ว'

การพิจารณาลดการจ่ายเงินขั้นต่ำหรือลดดอกเบี้ย

ในส่วนของเคทีซีตรงนี้ คงไม่เป็นไร ตอนนี้ใครชำระ 10% ก็ชำระ 10% ไป ใครไม่สามารถชำระได้ เป็น เอ็นพีแอล ก็จะถูกถอนออกมาประนอมหนี้ ก็จะหลุดออกจากกฎตรงนี้ ไม่ต้องเข้าเกณฑ์ 10% แต่การจะลดหรือไม่ลด ก็คงจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล

สำหรับดอกเบี้ย คงจะลดยากเพราะตอนนี้ก็มีมาร์จิ้นแค่ 1% อยู่แล้ว เมื่อมันเป็นอัตราที่ฟิกซ์ไว้ ก็คงจะลดยาก ซึ่งตามหลักการก็คือ ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงก็ควรที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง แล้วตอนที่วางเรตไว้ที่ 20% นั้น ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงแล้วต้องชาร์จดอกเบี้ยประมาณ 25-26% แฮปปี้หมด ซึ่งอัตรา 20% นั้นเป็นอัตราของลูกค้าที่มีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงในขั้นต่ำสุด (แต่ไม่ใช่ส่วนที่ลูกค้าที่ชำระหมด) ทำให้ลูกค้าที่ดีก็ต้องมาแบกรับลูกค้าที่เสี่ยงสูงด้วย เพราะฉะนั้นก็ยังไม่มีนโยบายลดดอกเบี้ยในตอนนี้ ซึ่งคนที่มีความเสี่ยงสูงขณะนี้ก็จะมีประมาณ 27-28% เป็นลูกค้าที่ขอผ่อนส่ง ดังนั้น สิ่งที่ควรจะมีและ ช่วยตรงนี้ได้ ก็คือ การทำสกอริ่ง เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยแตกต่างกัน

การเตรียมพร้อมสำหรับสถานะรัฐวิสาหกิจหลังเพิ่มทุน

อันนี้คงต้องพูดถึงที่มาที่ไปของ การเพิ่มทุน ก่อน จากเดิมที่เรามีกู้ยืมเงินมาปล่อยกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งก็นำไปใช้ตามความเหมาะสมของระยะเวลา แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งร้ายแรง มีสถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มเต็มไปหมดทั้งโลก การกู้เงินเริ่มเป็นสิ่งที่ยาก แม้เราจะเครดิต เรตติ้งที่ดี เพราะฉะนั้นทำยังไงถึงจะเดินต่อไปได้ ขั้นแรกก็มีการปรับโครงสร้างเงินกู้จากระยะสั้นให้เป็นระยะยาว ก็ทำได้ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังเป็นหนี้ระยะสั้นอยู่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเรียกคืนเมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้น ก็เลยมานั่งปรึกษากัน ได้ข้อสรุปมาว่า เรากู้ยืมเงินได้ง่าย ขึ้น ถ้ามีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ ต่ำแค่ไหน ก็คือ 3-4 เท่า จากก่อนเพิ่มทุนที่อยู่ 7.5 เท่า หลังเพิ่มทุนสำเร็จก็จะเป็น 3-4 เท่า คราวนี้นักลงทุนที่ถือหุ้นเราอยู่ก็มีทั้งแบบที่มองระยะยาว และมองระยะสั้น อย่างกรุงไทยมองระยะยาว เรื่องการเพิ่มทุนก็ไม่มีปัญหา แต่ สำหรับนักลงทุนระยะสั้นก็จะไม่เห็นด้วย ไม่ซับพอร์ต

ทั้งนี้ ก็ต้องไปดูกันวันที่ 30 เม.ย.ที่จะมีการประชุมผู้ถือหุ้น จะตัดสิน ถ้าผลออกมามีมติให้เพิ่ม ก็เพิ่ม ถ้าไม่เพิ่ม ก็อยู่อย่างนี้ ซึ่งอยู่ได้ แต่ห่วงว่า หากเกิดสถานการณ์อะไรฉุกเฉินขึ้น เกิดมีเสื้อเหลือง เสื้อแดง น้ำเงิน ส้มอะไรต่อมิอะไรออกมาอีก ก็อาจติดขัดได้เหมือนกัน แม้เชื่อว่ากรุงไทยถือหุ้นใหญ่อยู่คง ไม่ปล่อยให้เราเป็นอะไร แต่เราก็ไม่อยากให้เกิดภาพที่ว่า ต้องวิ่งขอกู้เงินฉุกเฉินจากแบงก์ชาติหรืออะไร ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดเรา การขลุกขลักแบบนี้เป็นภาพที่ไม่ดี จึงคิดเริ่องเพิ่มทุนขึ้นมา

และหากเรื่องเพิ่มทุนสำเร็จ ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะต้องมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะธนาคารกรุงไทยจะถือหุ้นเกิน 50% ซึ่งตอนนี้ก็ 49% กว่าแล้ว ซึ่งถามว่ามีจุดดีหรือไม่ ถ้าสถานการณ์ต่างๆมันไปยาว กว่านี้ การเป็นรัฐวิสาหกิจก็จะทำให้เรามั่นคงขึ้น แล้วก็มาหาแนวทางแมเนจว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความคล่องตัว ก็ต้องยอมรับว่ามันมีทั้งดีและจุดอ่อน

ขั้นต่อไปก็คือถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจ จะต้องปรับในส่วนใดบ้าง ปรับบ้างในส่วนที่สตง.จะเข้ามาผู้ตรวจบัญชี การจัดซื้อจัดจ้างก็จะมีกรอบหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน ก็จะทำให้การทำงานมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่ห่วงก็คือ การประนอมหนี้ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบวิธีการจากบอร์ด มีเงื่อนไขเปลี่ยนไปจากหลักเกณฑ์อะไรก็คงมีความยุ่งยาก ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่เหมาะกับธุรกิจรายย่อย แต่รายใหญ่ไม่มีปัญหาก็ต้องไปหาแนวทางการให้การดำเนินธุรกิจในกรอบของรัฐวิสาหกิจให้มีผลกำไรให้ได้ แต่ก็ต้องทำใจว่าจะทำอะไรหวือหวามากไม่ได้ แล้วก็โครงสร้างบอร์ดคงต้องเปลี่ยนตามเกณฑ์แล้วก็คงต้องมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังหรืออะไรเข้ามาตามกฎระเบียบ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และเราก็เชื่อว่าเราจะเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีแห่งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น