xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ความเชื่อมั่นน่าห่วง-หนุนเลิกพ.ร.ก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความวิตกกังวลด้านจิตใจแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยอีกด้วย
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง"ความเชื่อมั่นประเทศไทย" ขึ้น โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 1,046 คน เมื่อวันที่ 23-24 เม.ย.ที่ผ่านมา สรุปผลได้ดังนี้
1. ความเชื่อมั่นประเทศไทยประจำเดือน เม.ย.52 มีคะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 4.09 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาความเชื่อมั่นในแต่ละด้าน พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี และความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อของคนไทยมากที่สุด โดยเป็นความเชื่อมั่นเพียงด้านเดียวจากทั้งหมด 12 ด้าน ที่มีคะแนนเกินครึ่ง ขณะที่ความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาความยากจน การว่างงาน และการประกอบอาชีพมี คะแนนน้อยที่สุด ดังนี้
ความเชื่อมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี และความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อของคนไทย ได้ 5.68 คะแนน
ความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ได้ 4.65 คะแนน ความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ 4.43 คะแนน ความเชื่อมั่นในความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันได้ 4.40 คะแนน ความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงไปยังประชาชน ได้ 4.35 คะแนน ความเชื่อมั่นในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆของประเทศ ได้ 4.10 คะแนน ความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาไทยได้ 3.79 คะแนน ความเชื่อมั่นในความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ได้ 3.69 คะแนน
ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายของไทย ได้ 3.64 คะแนน ความเชื่อมั่นในสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ ได้ 3.52 คะแนน ความเชื่อมั่นในความรักความสามัคคีของคนในชาติ ได้ 3.47 คะแนน และ ความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาความยากจน การว่างงาน และการประกอบอาชีพ ได้ 3.32 คะแนน
2. เรื่องที่เห็นว่าควรดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทย (5 อันดับแรก) ได้แก่ แก้ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ให้มีความรักความสามัคคีกัน ร้อยละ 35.3 แก้ปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงาน และการประกอบอาชีพ ร้อยละ 33.1 ปฏิรูปการเมือง ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ ร้อยละ 8.8
เคารพในกระบวนการยุติธรรม และตัดสินโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน ร้อยละ 5.3 แก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ร้อยละ 4.4
** เห็นด้วยเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ด้าน สวนดุสิตโพล สำรวจความเห็น "ประชานคิดอย่างไรกับการเมืองไทยวันนี้" จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 3,079 คน ระหว่างวันที่ 24-26 เม.ย.52 สรุปผลได้ดังนี้
1. ประชาชนคิดอย่างไร ต่อการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเห็นด้วย75.15% เพราะ เหตุการณ์สงบลงแล้ว จะทำให้การท่องเที่ยวไทยดีขึ้น ภาพลักษณ์ของประเทศไทยใน สายตาต่างชาติดีขึ้น ส่วนที่ไม่เห็นด้วย มี 24.85% เพราะเหตุการณ์ยังไม่สงบ ยังคงมีการประท้วงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไม่ควรประมาท ฯลฯ

2. ประชาชนคิดอย่างไร กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้เห็นด้วย 68.72% เพราะความขัดแย้งทางการเมืองจะได้ลดลง , รัฐธรรมนูญปี 50 บางมาตราทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง เช่น การยุบพรรค , จะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย มี 31.28% เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 เพิ่งประกาศใช้ ,ผ่านการลงมติจากประชาชนมาแล้ว , เข้มงวดกับนักการเมืองดีแล้ว ฯลฯ
3.ประชาชนคิดอย่างไร กับแนวคิดที่จะมีการนิรโทษกรรม โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นด้วย 64.89% โดยแยกการเห็นด้วยเป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1 เห็นด้วยเฉพาะคดีทางการเมือง แต่ไม่ควรยกคดีอาญา 39.30% เพราะเป็นการเอาชนะทางการเมือง-การต่อสู้ทางการเมือง- เกมการเมือง , ควรให้โอกาสแก่นักการเมือง แต่คดีอาญาคงยกเว้นไม่ได้เพราะจะทำให้การดำเนินการทางกฎหมายอ่อนแอลง ฯลฯ
กรณีที่ 2 เห็นด้วยควรนิรโทษกรรมทั้งหมด 25.59% เพราะต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขเสียที , เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแทบทุกคดีเป็นเรื่องของการเมืองเข้าไปแทรกแซงทั้งหมด , ควรจะให้อภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นนิสัยของคนไทยอยู่แล้ว ฯลฯ
ส่วนที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมมี 35.11% เพราะ คงจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ยิ่งจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายมากขึ้น เพราะนักการเมืองคงไม่เข็ดหลาบ ฯลฯ
4. บทเรียนวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา ประชาชนคิดว่าควรนำไปใช้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์
พบว่า อันดับ1 นักการเมืองควรศึกษาทบทวนถึงผลดี ผลเสีย ที่เกิดกับประเทศชาติ และประชาชนเพื่อเป็นตัวอย่างในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด 36.90%
อันดับ 2 รัฐบาลควรใช้เป็นบทเรียนในการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี30.01%
อันดับ 3 ฝ่ายค้าน ควรตระหนักในผลกระทบต่างๆ เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน 20.85%
อันดับ4 ประชาชนควรจะใช้เป็นบทเรียนในการเลือกตั้งเพราะรู้จักนักการเมืองดีขึ้นและได้เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น 12.24%
กำลังโหลดความคิดเห็น