xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:บัญญัติ 10 ประการ ในการพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ปัจจุบันมีการพูดกันมากถึงกลยุทธ์ที่จะพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจลอจิสติกส์ แต่ความพยายามกลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก ยิ่งไปกว่านั้น ความสำคัญของไทยในด้านลอจิสติกส์กลับมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ ด้วยซ้ำ ทั้งอันดับโลกของปริมาณการขนส่งทางอากาศของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรืออันดับโลกของปริมาณการขนส่งทางเรือของท่าเรือแหลมฉบัง

เรามาลองศึกษาถึงประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาตนเองเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ของโลกดูบ้าง ว่าเขาทำอย่างไร จึงประสบผลสำเร็จอย่างท่วมท้น ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นบัญญัติ 10 ประการ ดังนี้

ประการแรก รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจนและมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่

รัฐบาลของประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการชักจูงการลงทุนในธุรกิจลอจิสติกส์ จะต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจน มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ และมีความกล้าตัดสินใจดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ สำหรับกรณีของประเทศที่ไม่ประสบผลสำเร็จนั้น มักจะมีแค่วิสัยทัศน์อย่างเดียวเท่านั้น

ตัวอย่างของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนว่าการพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจพาณิชย์นาวีระหว่างประเทศ (International Maritime Center – IMC) ซึ่งครอบคลุมธุรกิจมากมายเกี่ยวกับพาณิชย์นาวี เป็นต้นว่า ประกันภัยด้านพาณิชย์นาวี บริการกฎหมายด้านพาณิชย์นาวี เป็นนายหน้ากิจการตัดเรือ ฯลฯ

สำหรับกรณีของประเทศมาเลเซีย ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้เคยประกาศเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียว่าไม่มีเหตุผลอันใดที่มาเลเซียจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลไม่ได้ และได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจลอจิสติกส์เป็นอย่างมาก โดยเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคม 2545 ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดต่อเพื่อขอเข้าเยี่ยมชมศูนย์ลอจิสติกส์ของบริษัท FedEx ที่นครเมมฟิส โดยได้เข้าเยี่ยมชมอย่างสนใจเป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 22 นาฬิกา ถึง 1 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อต้องการศึกษาถึงรูปแบบการทำงานของบริษัทดังกล่าว

ประการที่สอง ต้อง ให้ความสนใจ และเอาใจใส่ต่อความต้องการของภาคธุรกิจ

ประเทศเหล่านี้ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดบนพื้นฐานที่ว่า “ลูกค้า คือ พระเจ้า” ไม่ใช่ “กฎระเบียบ คือ พระเจ้า” ดังนั้น หัวใจของกลยุทธ์ คือ จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด

ตัวอย่างหนึ่ง เมื่อคณะของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัท Port of Singapore Authority (PSA) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าเรือของสิงคโปร์ เมื่อปี 2548 ผู้บริหารของท่าเรือแห่งนี้ได้กล่าวบรรยายสรุปถึงเคล็ดลับการบริหารท่าเรือแห่งนี้ให้ประสบผลสำเร็จจนมีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในโลก คือ จะต้องพยายามเอาใจลูกค้ามากที่สุด โดยอุปมาอุปไมยเปรียบเสมือนกับการให้บริการของร้านตัดผม กล่าวคือ ลูกค้าบางคนชอบตัดผมก่อนสระผม ขณะที่บางคนชอบสระผมก่อนตัดผม บริษัทก็จะต้องพยายามให้บริการตามที่ลูกค้าแต่ละคนต้องการ

   “บัญญัติ 10 ประการ ในการพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์
                               สามประการแรกประกอบด้วย
                   รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจน และมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่
           ต้องให้ความสนใจ และเอาใจใส่ต่อความต้องการของภาคธุรกิจ
กระบวนการบริหารราชการต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใส”


สำหรับกรณีท่าเรือตันหยงปาลิปัส (PTP) ของมาเลเซีย ซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ติดสิงคโปร์ ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการชักชวนสายการเดินเรือชั้นนำของโลกให้ย้ายฐานการขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือ PSA ของสิงคโปร์มายังท่าเรือแห่งใหม่นี้ ภายหลังการก่อตั้งไม่ถึง 5 ปี ได้แซงหน้าท่าเรือแหลมฉบังของไทยขึ้นเป็นท่าเรือที่มีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงแค่ท่าเรือ PSA ของสิงคโปร์และท่าเรือเคลังของมาเลเซียเท่านั้น

สำหรับเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ นาย Mohamed Sidik Shaik Othman ผู้บริหารของท่าเรือ PTP ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่ามาจากความสำเร็จในด้านการตลาด ซึ่งเริ่มต้นจากการไปสัมภาษณ์สายการเดินเรือเพื่อสอบถามว่าต้องการให้บริการอย่างไร จากนั้นก็พยายามปรับปรุงคุณภาพบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าต่อไป

ประการที่สาม กระบวนการบริหารราชการต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใส

รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้เข้าใจถึงความสำคัญของปัจจัยในด้านประสิทธิภาพของระบบราชการ เช่น นโยบาย กฎระเบียบ พิธีการศุลกากร ฯลฯ ที่ต้องดำเนินการให้รวดเร็ว การบังคับใช้กฎหมายก็ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส รวมถึงต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในจุดที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่ระบบลอจิสติกส์ (System's Pain Points)

จะเห็นได้ว่าการปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม จะส่งผลดีอย่างมากมาย ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจลอจิสติกส์เท่านั้น ยังรวมถึงธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลง รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณสินค้าและวัตถุดิบคงคลังที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเก็บรักษาไว้จำนวนมาก เนื่องจากสินค้าเข้าและสินค้าออกสามารถขนส่งได้ตรงตามเวลาที่กำหนด และส่งผลดีทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยภาพรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้ศึกษาได้เคยพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งที่มีบริษัทลูกอยู่ทั้งในไทยและสิงคโปร์ ซึ่งได้ให้ทัศนะว่าระบบราชการของสิงคโปร์มีประสิทธิภาพสูงมาก โดยการประกอบธุรกิจในสิงคโปร์ แทบไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปตรวจสอบ ค้น หรือยึดเอกสารใดๆ เนื่องจากมีทัศนะเชิงบวก และมั่นใจว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันหน่วยราชการสิงคโปร์มีความอดทนจำกัดต่อกฎระเบียบที่ยุ่งยากโดยจะพยายามเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว

จุดเด่นสำคัญของข้าราชการสิงคโปร์ คือ จะเข้าไปติดต่อภาคธุรกิจ โดยเข้าไปสอบถามว่าทางราชการจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง จึงเปรียบเสมือนกับเป็นหุ้นส่วน (Partner) แทนที่จะเป็นผู้บังคับใช้กฎระเบียบ (Regulator)

แต่กรณีของไทยกลับตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่บางหน่วยงานนิยมเข้าไปตรวจค้น ตรวจสอบและยึดเอกสารมากมายหลายครั้งจนสร้างภาพลักษณ์เชิงลบ ทั้งนี้ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้เคยให้ทัศนะว่ากฎหมายของไทยหลายฉบับได้กำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับกรณีที่เอกชนปฏิบัติไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ดูให้แน่ชัดว่าความจริงแล้วบางเรื่องไม่ใช่อาชญากรรมแต่อย่างใด โดยสามารถบังคับใช้กฎหมายโดยวิธีการทางปกครอง เช่น การถอนใบอนุญาต การห้ามประกอบการ ฯลฯ ดังนั้น จึงมีเสียงบ่นว่ากฎหมายถือว่าพ่อค้าและนักอุตสาหกรรมเป็นอาชญากร

สำหรับการจดทะเบียนเรือในสิงคโปร์ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่สิงคโปร์ถือหุ้นข้างมากเท่านั้น บริษัทต่างชาติสามารถมาจดทะเบียนเรือในสิงคโปร์ได้ แต่ต้องมีขนาดตั้งแต่ 1,600 ตันกรอสขึ้นไป พร้อมกับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่รายได้จากการประกอบธุรกิจ และขั้นตอนการจดทะเบียนเป็นแบบเรียบง่าย จากกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยข้างต้น ทำให้ในปัจจุบันแม้สิงคโปร์จะเป็นเพียงเกาะขนาดเล็ก แต่เป็นประเทศที่มีการจดทะเบียนเรือมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือของประเทศไทยบางรายก็นิยมไปจดทะเบียนเรือที่สิงคโปร์ เนื่องจากมีความสะดวกมากกว่า

สำหรับกรณีของมาเลเซีย ซึ่งในระยะหลังประสบผลสำเร็จค่อนข้างมาก ก็มุ่งเน้นปรับปรุงกระบวนการบริหารราชการในส่วนที่เกี่ยวกับลอจิสติกส์ เป็นต้นว่า ดร.Ling Liong Sik ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย ได้เคยแจ้งแก่สายการเดินเรือต่างๆ ซึ่งต้องการชักจูงให้มาใช้บริการท่าเรือของมาเลเซียแทนที่จะใช้บริการท่าเรือสิงคโปร์ โดยสอบถามว่าหากกฎระเบียบของหน่วยราชการใดก่อให้เกิดปัญหาอันน่ารำคาญใจแล้ว ขอให้แจ้งให้ทราบ จะสั่งการให้อธิบดีหรือหัวหน้าของหน่วยราชการนั้นๆ เดินทางไปพบปะหารือกับผู้บริหารของสายการเดินเรือแห่งนั้นๆ ถึงสำนักงาน เพื่อแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไป

ขณะที่ฮ่องกงที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก โดยท่าอากาศยานเช็กแล็บก๊อกของฮ่องกงมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าทางอากาศมากที่สุดในทวีปเอเชียและเป็นอันดับ 2 ของโลก ท่าเรือฮ่องกงมีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รัฐบาลฮ่องกงจึงได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ มาประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของภาคธุรกิจ และสามารถตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการประชุมครั้งนั้น ไม่ต้องมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกลับไปศึกษาก่อนนำเสนอที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนับว่าแตกต่างจากประเทศไทยที่กระบวนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจะล่าช้าอย่างมาก

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น