xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.เลิกสัญญาแท็กส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-บอร์ดทอท.ฟันแทกส์ เลิกสัญญารถเข็นกระเป๋า มั่นใจเอกชนทำผิดสัญญา เตรียมประมูลหารายใหม่ Back List แทกส์ห้ามประมูลและเตรียมพิจารณาขายหุ้นที่ทอท.ถือในแทกส์28.5% ด้วย ด้านแทกส์ ยันฟ้องกลับชี้ถูกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม ชี้ไม่ว่าแพ้หรือชนะ ทอท.ต้องร่วมเสียหายด้วย ขณะที่ “เสรีรัตน์”นั่งเอ็มดีตามโผ คาดเริ่มงาน 1 มิ.ย.นี้ ยอมสูญรายได้ 450 ล้านบาทขยายเวลาลดค่า Landing ต่อถึงสิ้นปี ช่วยท่องเที่ยว “ปิยะพันธ์”สั่งสนามบินภูเก็ต ปรับแผนหารายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non Aero) และ Private Jet เพิ่ม พร้อมเดินหน้าแผนพัฒนาขีดความสามารถ ลงทุน 5,791.122 ล้านบาท แม้ภาวะศก.โลกถดถอย การเมืองป่วน ทำยอดผู้โดยสารมี.ค. ลด 14%

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (23 เม.ย.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานซึ่งบริษัท ไทยแอร์พอร์ต กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (แทกส์) ในการให้บริการรถเข็นกระเป๋ากระเป๋า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมเรียกค่าปรับกว่า 2,000 ล้านบาทตามที่คณะอนุกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและแนวทางการแก้ปัญหา ที่มีนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร สำนักงานอัยการสูงสุด และกรรมการทอท.เป็นประธานเสนอ โดยแผนระยะสั้นหลังยกเลิกสัญญาให้ทอท.ปรับการบริหารจัดการการหมุนเวียนรถเข็นกระเป๋าจำนวน3,000 คันที่มีเพื่อไม่ให้กระทบกับการให้บริการ
พร้อมกันนี้ให้พิจารณาเช่ารถเข็นกระเป๋าที่มีคุณภาพดีมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
ส่วนแผนระยะยาวนั้นบอร์ดเห็นชอบแนวทางการหาผู้ดำเนินการในรูปแบบเดิมภายใต้อัตราค่าเช่าที่ไม่สูงกว่าสัญญาเดิม จากที่ คณะอนุกรรมการฯ เสนอมา 3 แนวทาง คือ 1.ประมูลหาผู้รับสัมปทานในลักษณะเดียวกับสัญญาเดิม โดยให้เอกชนผู้จัดหารถเข็นกระเป๋าพร้อมดูแลการจัดเก็บทั้งหมด โดยทอท.จ่ายค่าจ้าง 2. ทอท.จัดหารถเข็นกระเป๋าพร้อมดำเนินการจัดเก็บและซ่อมบำรุงเอง 3.ให้เอกชนจัดหารถเข็นกระเป๋าพร้อมดูแลการจัดเก็บและซ่อมบำรุงทั้งหมดโดยให้สิทธิ์เอกชนหารายได้จากโฆษณาข้างรถเข็นกระเป๋าเป็นผลตอบแทน โดยเห็นว่าแนวทางการให้สิทธิ์ค่าโฆษณาไม่คุ้มกับค่าดำเนินการเพราะปัจจุบันทอท.มีรายได้จากโฆษณาที่รถเข็นกระเป๋าเพียง 2 ล้านบาทต่อเดือนในขณะที่จ้างดำเนินงานรถเข็นกระเป๋าถึง 6 ล้านบาท
ส่วนการซื้อเองเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน และมีขั้นตอนการดำเนินงานมาก
นายปิยะพันธ์กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติ 4 ต่อ 1 เสนอให้ยกเลิกสัญญาแทกส์โดยระบุว่าแทกส์ทำผิดสัญญาที่ระบุให้แทกส์จัดหารถเข็นกระเป๋าให้บริการวันละไม่น้อยกว่า 9,034 คัน แต่ที่ผ่านมามีรถแค่ 3,000 คัน แม้แทกส์จะอ้างเหตุของจำนวนรถไม่ครบจากการถูกขโมยและมีพนักงานของทอท.เกี่ยวข้อง ก็เป็นคนละประเด็นของสาระสำคัญที่สัญญาได้กำหนดไว้
ว่าแทกส์ต้องหารถให้ครบตามจำนวน ไม่ว่ากรณีใดๆ และปัจจุบัน แทกส์ถูกปรับเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ขณะที่สัญญาจ้าง 7 ปี มีมูลค่า 532,860,600 บาท เท่านั้น

ส่วนกรณีที่แทกส์จะฟ้องทอท.นั้นเป็นเรื่องของแทกส์ แต่ฝ่ายกฎหมายทอท.ได้พิจารณาข้อกฎหมายและมั่นใจว่ามีสิทธิ์ในการยกเลิกสัญญา โดยฝ่ายกฎหมายจะใช้เวลารวบรวมข้อมูลประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อทำหนังสือบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางกับกับแทกส์ นอกจากนี้ การที่แทกส์มีหนี้สินค้างชำระกับทอท.ทำให้แทกส์ไม่มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลรถเข็นกระเป๋า
พร้อมกันนี้จะมีการทบทวนการขายหุ้นที่ทอท.ถือในแทกส์ 28.5% อีกด้วย

***แทกส์ลั่นฟ้องกลับ ทอท.และผู้เกี่ยวข้องเลิกสัญญา
นายลาดหญ้า อูริยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแทกส์ กล่าวว่า จะฟ้องร้อง ทอท. และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทันทีหลังถูกทอท.บอกเลิกสัญญาสัมปทานการจ้างเหมาให้บริการรถเข็นกระเป๋าอย่างเป็นทางการ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะมั่นใจว่าได้ให้บริการอย่างที่ดีที่สุดโดยยึดถือและปฏิบัติตามสัญญามาโดยตลอดและได้พยายามทุกวิถีทางที่จะเจรจากับทอท.เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางด้านคดีความและเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ ทั้งนี้แทกส์มั่นใจว่าจะชนะคดี เพราะรถหายไปเพราะถูกขโมยเป็นกระบวนการและมาจากการกำกับดูแลของทอท.และ ทอท. ต้องมีส่วนร่วมรับผิดและยังอยู่นอกเหนือความรับผิดจากสัญญาว่าจ้างอีกด้วย

“การตัดสินใจยกเลิกสัมปทานของบอร์ดทอท.จะส่งผลเสียหายต่อ ทอท. ทั้งสิ้นไม่ว่าแทกส์จะแพ้คดีหรือชนะก็ตามและที่สำคัญที่สุดประชาชนผู้ใช้บริการจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดย หากแทกส์แพ้คดี ทอท. ซึ่งถือหุ้นอยู่ในแทกส์ถึง 28.5% ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นการชดเชยค่าเสียหายในกรณีใดก็ตาม กระทบต่อรายได้จากการลงทุนของ ทอท. ในแทกส์ดังที่ทราบแล้วว่า ที่ผ่านมาแทกส์ได้ปันผลให้กับทอท.ไปแล้วกว่า 485 ล้านบาท ” นายลาดหญ้า กล่าว
อย่างไรก็ตามการยกเลิกสัญญาแทกส์จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ยังเป็นปัญหาของรัฐบาลในขณะนี้ด้วย โดยสัมปทานรถเข็นกระเป๋า มีสัดส่วนรายได้เพียง 4% ของแทกส์ ซึ่งการยกเลิกไม่ได้กระทบภาพรวมบริษัท

***”เสรีรัตน์”ผงาดนั่งเอ็มดี

นายปิยะพันธ์กล่าวว่า บอร์ดเห็นชอบผลการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ซึ่งนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับเป็นผู้ได้รับคะแนนสูงสุด จากที่คณะกรรมการสรรหาฯเสนอผู้ได้รับคะแนน 2 อันดับแรก โดยดันดับที่ 2 คือ พลอากาศตรี อิทธิศักดิ์ นาคะวิสุทธิ์ รองผู้บัญชาการสถาบันวิชาการ ทหารอากาศชั้นสูง กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ โดยจากนี้จะมีการเจรจาเรื่องค่าตอบแทนและสภาพการจ้าง คาดว่าจะเริ่มการทำงานได้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2552 ทั้งนี้จากการแสดงวิสัยทัศน์นั้น นายเสรีรัตน์ในด้านการบริหารและการวิเคราะห์ปัญหาที่ชัดเจนกว่าเพราะเป็นคนใน ทำให้ได้เปรียบผู้สมัครรายอื่น

***ขยายเวลาลดค่า Landing ต่อถึงสิ้นปี ช่วยท่องเที่ยว

นอกจากนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการ บอร์ดมีมติ เพิ่มส่วนลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee ) จาก20 % เป็น 30% มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.52 และขยายเวลาการให้ส่วนลด Landing Fee และไม่เก็บค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee) ที่จอด 24 ชม. ออกไปถึง31 ธ.ค.52 จากเดิมที่จะสิ้นสุดใน30 ก.ย.52 ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้ทอท.สูญเสียรายได้ประมาณ 450 ล้านบาททั้งนี้ยอมรับว่ากระทบต่อธุรกิจในขณะนี้แต่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและจูงใจสายการบินและฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศได้

*****สั่งสนามบินภูเก็ต ปรับแผนหารายได้

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและรับฟังแผนการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต วานนี้ (23เม.ย.) ว่า ได้มอบหมายให้ทอท.เน้นการหารายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non Aero) เพิ่มมากขึ้นจากปี 2552 คาดว่าจะมีรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินในสัดส่วนเพียง 17% ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินถึง 60% และสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่สามารถพึ่งรายได้ที่เกี่ยวกับการบินเป็นหลักแล้ว พร้อมกันนี้ได้ให้ทอท.ปรับโซนนิ่งพื้นที่เชิงพาณิชย์ ของท่าอากาศยานภูเก็ตเพื่อหารายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (2552-2556)รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการเที่ยวบิน Private Jet


ทั้งนี้ ทอท.ได้จ้างบริษัท อินทีเรียอาร์คิเทคเชอร์ 103 จำกัด เข้ามาศึกษาเพื่อปรับโซนนิ่งพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยาน 4 แห่ง คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ โดยประมาณการวงเงินลงทุนสำหรับ ภูเก็ตที่ 473 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ต่อปี เพิ่มจาก 87 ล้านบาทเป็น 118 ล้านบาท เชียงใหม่ ลงทุน 454 ล้านบาท จะสร้างรายได้เพิ่มจาก 22 ล้านบาทเป็น 32 ล้านบาท เชียงราย ลงทุน300ล้านบาท จะสร้างรายได้เพิ่มจาก 5.8 ล้านบาทเป็น 8.2 ล้านบาท หาดใหญ่ ลงทุน 203 ล้านบาท จะสร้างรายได้เพิ่มจาก 6.7 ล้านบาทเป็น 13.8 ล้านบาท

น.ท.วิชา เนินลพ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ตกล่าวว่า ผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานภูเก็ตในรอบ 6 เดือน (ต.ค.51- มี.ค. 52) มีปริมาณเที่ยวบินลดลง 19.6% ปริมาณผู้โดยสารลดลง 15% ปริมาณสินค้าลดลง 15% โดยเฉพาะในเดือนมี.ค. 52 ปริมาณเที่ยวบิน3,333 เที่ยวบินเทียบกับมี.ค.ปี51 มี 4,041เที่ยวบินลดลง 17% ปริมาณผู้โดยสาร 547,000 คน เทียบกับมี.ค.ปี51 มี 638,000 คน ลดลง 14 % ส่วนปริมาณสินค้า ลดลง 10%เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 10 – 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้สายการบินได้ยกเลิกเที่ยวบินเป็นจำนวนมาก



น.ท.วิชากล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (2552-2556) เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคนต่อปีเป็น 12.5 ล้านคนต่อปี ได้ถึงปี 2561 ดำเนินการ4 ปี (2552-2556) ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,791.122 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการสรุปแผนด้านการเงินเพื่อเสนอขออนุมัติจากบอร์ดและคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวโน้มของปริมาณเที่ยวบินผู้โดยสารและสินค้าลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองภายในประเทศ แต่แผนการพัฒนาดังกล่าวยังมีความจำเป็นโดยอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยปีละประมาณ 9%

โดยจากประมาณการเติบโตของผู้โดยสารคาดว่าในปี 2552 จะเพิ่มเป็น 5.86 ล้านคนปี 2553 เพิ่มเป็น 6.80 ล้านคน ซึ่งเต็มขีดความสามารถในปัจจุบันโดยแผนพัฒนาประกอบด้วย 1.กลุ่มงานออกแบบและก่อสร้างขยายขีดความสามารถเขตปฏิบัติการบินวงเงิน 662.48 ล้านบาท2. กลุ่มงานออกแบบและก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร วงเงิน 3,424.72 ล้านบาท 3. กลุ่มงานออกแบบและก่อสร้างอาคารทดแทนวงเงิน 178.88 ล้านบาท 4.กลุ่มงานออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ วงเงิน 550.16 ล้านบาท 5. งานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 32 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น