xs
xsm
sm
md
lg

จับตาแก้รธน.ม็อบแดงถ่อยผวาบานปลายฉุดศก.ดิ่งเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.อ.ท.ผวาการเมืองไทยยังไม่จบง่ายแม้จะเปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ก็มีฝ่ายไม่เห็นด้วยเหตุเพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากนี้ม็อบเสื้อแดงยังจ่อชุมนุมใหญ่อีกหากทุกอย่างนำไปสู่ความรุนแรงท่องเที่ยวไทยไม่ฟื้นแน่ ศก.ภาพรวมจะยิ่งติดลบ ยอมรับไตรมาส 2 ส่งออกยังติดลบอยู่แต่น้อยกว่าไตรมาสแรก

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนยังคงกังวลปัจจัยทางการเมืองอยู่ เนื่องจากยังคงมองไม่เห็นทิศทางที่ดีขึ้นนักแม้ว่า รัฐบาลจะมีการเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีผู้คัดค้านไม่น้อยเพราะเห็นว่าแก้ไขแล้วประชาชนจะต้องได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งจุดนี้รัฐบาลจะต้องชี้แจงให้ชัดเจน ขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงยังเตรียมที่จะนัดชุมนุมใหญ่อีกวันที่ 25 เม.ย.นี้ซึ่งหากเหตุการณ์นี้นำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งจะเป็นการซ้ำเติมการท่องเที่ยวของไทยให้หนักกว่าเดิมและอาจจะฟื้นตัวยากกว่าที่คาดไว้อีก
“ เอกชนเองก็วิตกมากว่าการเมืองไม่จบง่าย แม้ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ก็ดูยังไปคนละทางอยู่ ส่วนการชุมนุมต้องมีเหตุผลหากเกิดความวุ่นวายอีกท่องเที่ยวจะไปก่อน คราวนี้เศรษฐกิจจะติดลบมากขึ้น ขณะที่ส่งออกเองต้องยอมรับว่าคำสั่งซื้อเริ่มเข้ามาแล้ว เพราะสต๊อกสินค้าหลายอย่างเริ่มหมดลง ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่คงไปเห็นผลชัดเจนช่วงไตรมาส 3-4 มากกว่า ดังนั้นไตรมาส 2 ส่งออกยังติดลบอยู่แต่คาดว่าจะน้อยกว่าไตรมาสแรก รวมแล้วปีนี้ส่งออกน่าจะติดลบ 10-15% “ นายสันติกล่าว
สำหรับกรณีรัฐบาลปรับลดงบประมาณปี 2553 ลง 200,000 ล้านบาท นายสันติกล่าวว่า เป็นการจัดทำงบประมาณให้เหมาะสมกับรายได้ของรัฐบาลที่ลดลง ซึ่งคงจะไม่กระทบต่อการดูแลภาคเศรษฐกิจโดยรวมมากนักเนื่องจากงบที่ถูกตัดไปไม่เกี่ยวกับการใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง และเห็นว่าช่วงกลางปีงบประมาณ หากสถานการณ์และการจัดเก็บรายได้ดีขึ้น รัฐบาลควรพิจารณาปรับเพิ่มงบประมาณในส่วนที่มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะงักลงไป
นายอดิศักดิ โรหิตะศุน รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,189 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ก่อนเกิดเหตุรุนแรงทางการเมือง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 69.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่อยู่ระดับ 63.0 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มเข้ามาในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามดัชนีก็ยังคงระดับต่ำกว่า 100 ซึ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นยังอยู่ระดับต่ำอยู่
ส่วนดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 75.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่อยู่ในระดับ 73.0 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนการกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ระดับหนึ่งโดยเฉพาะเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ตลอดจนการสต็อกสินค้าของลูกค้าที่เริ่มลดลง น่าจะช่วยให้คำสั่งซื้อทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในประเทศที่ตึงเครียด
ส่วนข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันให้ภาครัฐเร่งสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการค้าการลงทุน ผ่อนคลายกฏระเบียบในการกู้เงินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนมีนาคมมีจำนวน 41,328 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว37.8% ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 126,875 คัน 12.40% ส่วน 3 เดือนแรกปีนี้ รถยนต์มียอดขาย 107,774 คัน ลดลงจากระยะเดียวกันปีที่แล้ว 33.4 %ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 356,292 คัน ล 16.8 % สาเหตุที่ยอดขายลดลงเนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินของโลก ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไทยยังไม่ดีขึ้น

สภาพัฒน์เล็งทบทวนจีดีพีใหม่

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า ทางสภาพัฒน์ จะปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 52 ใหม่ในเดือนพ.ค. หลังจากพบว่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวในไตรมาสแรก หดตัวอย่างต่อเนื่องและมากกว่าที่สศช.คาดการณ์ไว้ ทั้งการส่งออก ภาวะเศรษฐกิจโลก และการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ทำให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากกว่า 2% แน่นอน จากที่คาดว่าหดตัวสูงสุดที่ 1% ขณะที่ในไตรมาสแรกหดตัวมากกว่า 4-5% ส่วนจะหดตัวเท่าใดต้องรอผลการประเมินที่ชัดเจนและจะแถลงอย่างเป็นทางการต่อไป
ส่วนผลกระทบจากการชุมนุมจะมีผลกระทบในระยะยาว ทั้งด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ที่จะทำให้การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพโดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยในรัฐสภา
“ การส่งออกในไตรมาสแรกหดตัวลงถึง 25% จากที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 10-15% ขณะที่เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินล่าสุดและที่มีการรายงานในที่ประชุมกลุ่มประเทศจี 20 คาดว่าสหรัฐฯ หดตัวถึง 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 0.5% ส่วนญี่ปุ่นหดตัวถึง 2-3% และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะต่ำสุดเมื่อใด ขณะที่ตัวเลขลงทุนของเอกชนหดตัวถึง 7.9% จากที่คาดว่าหดตัวเพียง 2-3% ส่วนการบริโภคเอกชนหดตัว 4-5%”
นายอำพน กล่าวว่า ส่วนการบริหารเศรษฐกิจจากนี้ไป ยังคงเน้นการลงทุนของรัฐบาลตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท ในช่วง 3 ปี (53-55) แต่อาจปรับปรุงโครงการให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้มั่นคงในระยะยาว ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการแข่งขัน สังคม การศึกษา สาธารณสุขและการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร เป็นต้น
“จากสมมุติฐานหากเศรษฐกิจไทยหดตัวมากถึง 5% เท่ากับว่ารายได้ประชาชาติหรือจีดีพีจะอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 50 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตมากถึง 4.8% แต่มีเงินเฟ้อสูงถึง 5-6% โดยมีจีดีพีที่ 8.4 ล้านล้านบาท หากคิดว่าปีนี้แย่ที่สุดแล้วต้องมองย้อนกลับไปในปี 50 ว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วลำบากหรือไม่ เพราะการพยายามทำให้ประเทศมั่งคั่ง โดยทำให้จีดีพีมีมูลค่าสูง แต่อาจไม่ทำให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวได้ ซึ่งการที่รัฐบาลยอมรับความจริงและใช้ทางสายกลางในการแก้ไขปัญหาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงถือว่าถูกต้องแล้ว "
กำลังโหลดความคิดเห็น