xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวไทยทรุดหนัก จีนสั่งแบนไทย ชี้หนักกว่าปิดสนามบิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลจากม็อบเสื้อแดงป่วนชาติสร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่วงการท่องเที่ยวไทย
นายกฯผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย-จีน ระบุ ท่องเที่ยวทรุดหนักหลังเหตุการณ์จลาจลเสื้อแดง และลอบยิงนายสนธิ จนจีนต้องเพิ่มระดับเตือนภัยออกใบเหลือง ห้ามบริษัททัวร์จัดเที่ยวเข้าไทย พร้อมแจงเหตุการณ์นี้รุนแรงกว่าปิดสนามบิน

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน (T.C.T.A) หลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศ ส่งผลให้มีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ประเทศจีนมีการประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่หลังจากที่มีเหคุการณ์ลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งจีนมองว่าเป็นหนึ่งในผู้นำมวลชน จนล่าสุดจีนได้ตัดสินใจประกาศเพิ่มระดับการเตือนนักท่องเที่ยวให้อยู่ในระดับ “ใบเหลือง” โดยเตือนห้ามบริษัทท่องเที่ยวจัดทัวร์พาคนจีนเข้าไทย โดยระดับการเตือนครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเตือนที่รุนแรงมากกว่าช่วงปิดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำคณะสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสรุปสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2552

โดยสทท.ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยใน 3 มาตรการ รวม 17 ข้อ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศ รวม 11 ข้อ อาทิ ให้รัฐบาลจัดให้มีการประชุมอาเซียน +3 + 6 ขึ้นใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้รัฐบาลขยายระยะเวลาของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ได้อนุมัติไว้แล้วออกไปอีก อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2552

เช่น มาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยว การลดค่า Landing Fee ของสายการบิน มาตรการให้ส่วนราชการเร่งจัดประชุมสัมมนาภายในประเทศ โดยใช้สถานที่ของภาคเอกชน และ ใช้บริการผ่านบริษัทนำเที่ยว มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวม 4 ข้อ อาทิ ให้รัฐบาลพิจารณาให้มีการผ่อนชำระภาษีทุกประเภทให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยไม่คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเป็นระยะเวลา 2 ปี และ มาตรการเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการฟื้นตัว รวม 2 ข้อ

ทั้งนี้ภายหลังการรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเห็นใจต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทุกคน โดยช่วงที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สถานการณ์การชุมนุมก็เป็นช่วงที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่แล้ว พร้อมกับขออภัยในฐานะของรัฐบาลที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในความสงบได้ต่อเนื่องตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตามการนำเสนอขยายมาตรการการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และถ้ามีมาตรการอะไรในข้อเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้นำเสนอในวันนี้ ที่ไม่ได้เป็นข้อเสนอเกี่ยวพันให้หน่วยงานอื่นจะต้องมาประเมินให้ความเห็นผลกระทบต่าง ๆ ก็คงจะสามารถเห็นชอบได้ แต่คงจะไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้ง 17 ข้อที่นำเสนอ

ทั้งนี้ ไม่นับข้อเสนอในส่วนของพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา ที่เป็นมาตรการเฉพาะด้าน โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 2 ครั้งของการประชุม ครม.หรือในสัปดาห์หน้าคงจะได้ประเมินมาตรการในส่วนที่เหลือต่าง ๆ

ชี้งานหลักเยียวยา-สร้างเชื่อมั่น

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่า ส่วนแรก ในแง่ของการเยียวยา และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะเร่งรัดได้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามาตรการหลายอย่างที่ได้อนุมัติไปแล้วยังไม่ส่งผลในทางปฏิบัติเท่าที่ควร โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ ก็จะต้องเร่งรัดเรื่องเรื่องการเบิกจ่าย แต่จะรวมทุกอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ท่องเที่ยว ส่วนที่สอง การเดินหน้าเรื่องการต่างประเทศ รัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ด้วยความระมัดระวัง

ในส่วนการประชาสัมพันธ์ทางการตลาด รัฐบาลจะส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ตามมาตรการต่างๆ ที่เสนอมา แต่ก็ต้องระมัดระวังการออกไปยืนยันในภาวะที่การเมืองอาจจะยังไม่นิ่งทีเดียว เพราะไม่ต้องการไปทำเหมือนเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ต่างชาติขาดความเชื่อถือ

นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ก็เป็นโอกาสที่ดีในการปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานหลายอย่าง รวมถึงอาจจะมองแนวโน้มในอนาคตของการท่องเที่ยวว่าจะอิงกับสิ่งแวดล้อมหรืออื่น ๆ ซึ่งจะได้ดูกันต่อไป โดยรายละเอียดมาตรการต่าง ๆ จะทำออกมาให้เร็วที่สุดภายใน 2 - 3 สัปดาห์นี้ รัฐบาลยินดีพบปะ และรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ข้อเสนอจากภาคเอกชนจะพยายามทำให้ได้มากที่สุด แต่เรื่องมาตรการเกี่ยวกับการเงินจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะการจัดเก็บรายได้รัฐปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน ซึ่งจะส่งผลให้งบประมาณในปีหน้าที่เคยตั้งไว้จะต้องปรับลดงบประมาณลงมาประมาณ 2 แสนล้านเช่นกัน

ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า จะพิจารณายกเลิกให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้พยายามคลี่คลายสถานการณ์เท่าที่จะทำได้ และจะพยายามให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ให้เร็วที่สุด

20ตัวแทนยื่นรัฐบาล17ข้อ

นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) พร้อมด้วยนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา กล่าวภายหลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯได้รับทราบข้เสนอทั้ง 17 ข้อไว้พิจารณาเป็นการเร่งด่วนแล้ว และรับปากว่าจะทยอยนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.เป็นระยะๆและจะทราบผลภายใน 1-2 เดือนว่าจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้รับปากที่จะจัดหาสินเชื่อเฉพาะสำหรับการท่องเที่ยวเป็นวงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่จะรวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วย

อย่างไรก็ตามนายกฯยังชี้แจงว่าในสถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลยังไม่สามารถออกไปโรดโชว์เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ในเวลานี้ เพราะหากออกไปโรดโชว์แล้วสถานการณ์ยังไม่สงบทั้ง 100% จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อทุกอย่างเข้าที่แล้วจะเร่งออกไปโรดโชว์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแน่นอน

ฉะเสื้อแดงทำพัทยาพัง1.9แสนล.

นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเทศมนตรี เมืองพัทยา กล่าวว่า ภาคเอกชนมองว่าผลของการเกิดเหตุการณ์ชุมนุมจะอยู่กับผู้ประกอบการต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งประมาณการว่าภาคการท่องเที่ยวได้เสียหายไปแล้วกว่า 190,000 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 30% จาก 14 ล้านคนเหลือเพียง 10 ล้านคน อย่างไรก็ดีได้เสนอให้นายกฯทราบว่าเมืองพัทยายังพร้อมที่จะทำหน้าที่จัดการประชุมอาเซียนบวกสามและบวกหก แต่นายกฯชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งขณะนี้ยังพิจารณาสถานที่อื่นอยู่แต่ยังสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ดีจากเหตุการณ์บุกเข้าชุมนุมที่ร.ร.รอยัลคลิฟบีช นั้นเบื้องต้นทราบว่าทางร.ร.ได้เตรียมฟ้องร้องทางแพ่งกับแกนนำกลุ่มเสื้อแดงเพื่อเรียกความเสียหายเป็นเงิน 10 ล้านบาทแล้ว

“มาร์ก” ตีกลับงบช่วยท่องเที่ยว1.5 หมื่นล.

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม. เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ไม่อนุมัติข้อเสนอขอกรอบวงเงินโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ วงเงินจำนวน 15,000 ล้านบาท เพื่อขยายผลการช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวรายใหญ่ รายละไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ในระยะเวลา 4 ปีแรก และข้อเสนอที่ขอ งบกลางปี 52 วงเงิน 1,000 ล้านบาทให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาตรการดำเนินการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยวที่ตกงาน และช่วยเหลือบุคลากรที่ไม่ตกงาน โดยสมทบเงินช่วยเหลือกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมีการลดวันทำงาน โดยให้บุคลากรดังกล่าวเข้ารับการพัฒนาฝีมือแรงงานในลักษณะเดียวกับโครงการต้นกล้าอาชีพ

“นายกฯและรมว.คลัง เห็นว่า บางเรื่องอาจจะไปซ้ำซ้อนกับเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว” แหล่งข่าวระบุรายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่อยู่ในกำกับของพรรคชาติไทยพัฒนา เดิมได้รับงบประมาณเพิ่มเติมปี 2552 แล้ว 5,000 ล้านบาท นอกจากนั้นในช่วงที่นายบรรหาร ศิลปะอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ออกมาติงรัฐบาลถึงการกระจุกตัวของงบประมาณ ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ไปแล้ว

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพียงบางอย่างที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูวิกฤติการท่องเที่ยวต่อคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย มาตรการการเงินให้เร่งรัดการจัดสรรงบประมาณประจำงวด ครั้งที่ 3 วงเงิน 278,347,815.89 บาท ให้กระทรวงการท่องเที่ยวเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 และขอให้ผ่อนปรนวิธีการปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการ

ส่วนมาตรการภาษี มีมติให้ขยายระยะเวลาออกไป 1 รอบปี สำหรับมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าไปถึงสิ้นปี ต่ออายุมาตรการลดค่าจอดเครื่องบิน และมาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ และการลดหย่อนค่าธรรมธรรมเข้าชมอุทยานลงร้อยละ 50 และเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ส่วนราชการขยายเวลาการปรับแผนการฝึกอบรมจัดประชุมสัมมนา และดูงานในประเทศให้มากขึ้น โดยขยายไปถึงวันที่ 30 ก.ย.2553

ทั้งนี้ยังเห็นชอบให้ปรับปรุงรายละเอียดและวงเงินงบประมาณและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ในวงเงินรวม 16,874 ล้านบาท ตามแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่องเที่ยว และแผนงานเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งครมเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 เม.ย.52 ให้สอดคล้องกับ “การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ”

นายวัชระ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบว่า ขณะนี้กว่า 19 ประเทศ ยังเตือนไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยจากสถานการณ์ในขณะนี้ โดยสาเหตุหนึ่งเนื่องบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ ไม่รับที่จะทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว และไม่รับที่จะเคลมประกันหากมีภัยกับนักท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะภัยจากการจลาจล

“ตรงนี้นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงกับแบนไม่ทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงมีการเสนอว่า จะร้องขอให้บริษัทประกันภัยในประเทศไทยประกาศที่จะรับทำประกันให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือรัฐบาลรับที่จะทำประกันภัยให้แทน”
กำลังโหลดความคิดเห็น